บัญชีปลอม-สแปมบอท ปัญหาของทวิตเตอร์ที่ไม่แก้ไม่ได้


โดย PPTV Online

เผยแพร่




บัญชีปลอม สแปมบอท คืออะไร? ทำไมจึงเป็นปัญหาใหญ่ของทวิตเตอร์ที่ อีลอน มัสก์ รับไม่ได้

เรียกได้ว่าส่อสัญญาณดีลล่ม หลัง อีลอน มัสก์ เจ้าพ่อเทคโนโลยี ผู้บริหารของเทสลา ออกมาบอกว่า จะชะลอการซื้อกิจการของโซเชียลมีเดียชื่อดังอย่าง “ทวิตเตอร์ (Twitter)” ออกไปก่อน โดยให้เหตุผลว่า ต้องการข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับบัญชีปลอม (Fake Account) และสแปมบอท (Spambot) ซึ่งคุกคามผู้ใช้งานทวิตเตอร์

โดยเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ทวิตเตอร์ประมาณการว่า บัญชีของผู้ใช้งานรายวันที่สร้างรายได้ได้ หรือที่เรียกว่า mDAU ในช่วงไตรมาสแรก เป็นบัญชีบอทหรือสแปมน้อยกว่า 5%ฃ

“อีลอน มัสก์” เล็งปลดแบนบัญชีทวิตเตอร์ของ “โดนัลด์ ทรัมป์”

Elon Musk เขย่าโลกทวิตเตอร์!! ถามผู้ติดตามต้องการปุ่ม Edit หรือไม่

อีลอน มัสก์ ลั่นกวาดล้างเกรียนคีย์บอร์ด ออกจากแพลทฟอร์มทวิตเตอร์

แต่มัสก์ประมาณการว่า ความจริงแล้ว บัญชีบนทวิตเตอร์มีบัญชีปลอมหรือสแปมมากถึง 20% เลยทีเดียว และเขากังวลว่า ตัวเลขจริงอาจสูงกว่านี้ด้วยซ้ำ

เปิดขบวนการ “บัญชีม้า” ช่องทางฟอกเงิน หลอกคนโอน แก๊งคอลเซ็นเตอร์

“ซีอีโอของทวิตเตอร์ปฏิเสธที่จะแสดงหลักฐานเรื่องบัญชีปลอมน้อยกว่า 5% ข้อตกลงซื้อขายจึงไม่สามารถก้าวไปต่อได้จนกว่าเขาจะเปิดหลักฐาน” มัสก์กล่าว

จึงนำมาสู่คำถามสำคัญว่า บัญชีผู้ใช้ทวิตเตอร์ปลอม และบัญชีสแปม คืออะไร สร้างความเสียหายได้อย่างไรบ้าง ทำไมจึงเป็นเรื่องใหญ่ขนาดที่จะล่มดีล อีลอน มัสก์-ทวิตเตอร์

บัญชีปลอม-บัญชีสแปมคืออะไร?

บัญชีผู้ใช้ปลอมนั้น มีได้หลายความหมาย แต่ส่วนมากจะใช้นิยามบัญชีออนไลน์ที่ไม่ได้เป็นของผู้ใช้จริง คือข้อมูลที่ปรากฏเป็นข้อมูลปลอม ทั้งแบบที่ปั้นแต่งข้อมูลขึ้นมาเอง และแบบที่ใช้ข้อมูลจริงของบุคคลอื่นมาสวมรอย

บัญชีลักษณะนี้ บ้างถูกสร้างขึ้นเพื่อโจมตีคนที่ไม่ชอบแล้วไม่ให้เขารู้ตัวว่าคนที่มาต่อว่าเป็นใคร บ้างถูกสร้างขึ้นเพื่อหลอกลวงผู้อื่น (จำพวกหลอกว่าเป็นคนดังหรือหน่วยงานแล้วหลอกเอาเงิน หรือหลอกว่าเป็นหนุ่มหล่อสาวสวยแล้วหลอกเอาเงิน) และบางส่วนถูกสร้างขึ้นเพื่อเผยแพร่ข่าวปลอมและข้อมูลเท็จ (จำพวกปฏิบัติการ IO ในไทย หรือกองทัพน้ำในจีน)

อีกลักษณะหนึ่งคือการสร้างบัญชีปลอมแล้วส่งข้อความ “สแปม (Spam)” หรือข้อความที่ส่งมาโดยไม่ได้รับอนุญาต เนื้อหาน่าสงสัย ก่อความรำคาญ หรือกระทั่งส่งเป็นลิงก์ที่หากกดเข้าไปแล้วจะถูกดึงข้อมูลส่วนตัวไปก็มี บัญชีลักษณะนี้ก็จะถูกเรียกว่า บัญชีสแปม

บัญชีปลอมเหล่านี้ บางส่วนก็เป็นคนจริง ๆ ที่นำมาใช้งานตามวัตถุประสงค์ไม่ดีข้างต้น แต่ก็มีบ่อยครั้งที่บัญชีปลอมจะถูกใช้โดยบอท (Bot) หรือโปรแกรมอัตโนมัติที่จะทำงานตามที่ตั้งคำสั่งไว้ ซึ่งหากใช้บอทในการส่งข้อความสแปม ก็จะเรียกกันว่า สแปมบอท

จากลักษณะของบัญชีปลอม-บัญชีสแปมข้างต้น ก็พอจะบอกได้แล้วว่า มันมีความอันตรายอย่างไรต่อผู้ใช้โซเชียลมีเดีย ทั้งในระดับที่เพียงก่อความรำคาญ ไปจนถึงก่อให้เกิดการสูญเสียทรัพย์สิน

ทวิตเตอร์มีนโยบายอย่างไรกับบัญชีเหล่านี้?

การใช้บอทได้รับอนุญาตบนทวิตเตอร์ แต่ต้องเป็น “บอทที่ดี” เท่านั้น เช่น @tinycarebot ซึ่งเป็นบัญชีบอทที่จะคอยทวีตเตือนความจำการดูแลตนเอง

ส่วนบอทสแปมหรือ “บอทที่ไม่ดี” นั้น เป็นบัญชีที่ไม่ได้รับอนุญาต และทวิตเตอร์มีนโยบายต่อสู้กับบัญชีเหล่านี้ โดยทวิตเตอร์จะแนะนำให้ผู้ใช้งานแพลตฟอร์มสามารถที่จะรายงานการละเมิดนโยบาย เพื่อให้บริษัทตรวจสอบและล็อกบัญชีที่มีกิจกรรมที่น่าสงสัย

หากตรวจพบว่าเป็นบัญชีที่เป็นบอทและมีเจตนาไม่ดีต่อผู้ใช้งานรายอื่น ทวิตเตอร์ก็สามารถระงับบัญชีปลอมหรือบัญชีสแปมได้อย่างถาวร

อย่างไรก็ตาม มาตรการรับมือบัญชีปลอม-สแปมบอทของทวิตเตอร์ดูจะไม่เข้าตา อีลอน มัสก์ โดยเมื่อวันที่ 25 เม.ย. เขากล่าวว่า เขาต้องการปรับปรุงทวิตเตอร์ โดย “ปรับปรุงผลิตภัณฑ์ด้วยคุณสมบัติใหม่ ทำให้อัลกอริทึมเป็นโอเพนซอร์สเพื่อเพิ่มความไว้วางใจ เอาชนะสแปมบอท และรับรองความถูกต้องของมนุษย์ทุกคน”

การทำให้อัลกอริธึมของทวิตเตอร์เป็นโอเพนซอร์ส (Open Source) สำหรับกระบวนการต่าง ๆ เช่น การควบคุมเนื้อหา อาจทำให้แพลตฟอร์มมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น โดยอนุญาตให้ทุกคนตรวจสอบโค้ดของตน ระบุจุดอ่อน และให้คำแนะนำสำหรับการปรับปรุง

ส่วนการใช้วิธีการรักษาความปลอดภัยให้มากขึ้น เช่น reCAPTCHA (การแก้โจทย์ รูปภาพ หรือพิมพ์ข้อความตามบอก) สามารถช่วยปราบปรามสแปมบอทได้

ทวิตเตอร์ยังสามารถเพิ่มการใช้งานการรับรองความถูกต้องแบบหลายขั้นตอน (Multifactor) ซึ่งเป็นประเภทของการยืนยันตัวตนที่ผู้ใช้ต้องยืนยันว่าตนเป็นใครและยืนยันตัวตนว่าไม่ใช่บอท โดยใช้ช่องทางการสื่อสารอื่น เช่น โทรศัพท์ หรืออีเมล บริษัทยังสามารถเพิ่มอัลกอริธึมการเรียนรู้ที่สามารถช่วยระบุสแปมบอทได้ด้วย

ปัญหาที่ทวิตเตอร์ไม่แก้ไม่ได้

ทวิตเตอร์ถือว่าเป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่มีผู้ใช้งานจำนวนมาก ซึ่งหากบริษัทไม่สามารถรับรองความปลิอดภัยให้กับผู้ใช้งานได้ สิ่งที่จะเกิดคือการเคลื่อนย้ายของผู้ใช้งานไปยังแพลตฟอร์มอื่นที่มีความปลอดภัยมากกว่า

ดังนั้น เรื่องของความปลอดภัย บัญชีปลอม บัญชีสแปม จึงเป็นเรื่องใหญ่ที่ อีลอน มัสก์ ไม่ปล่อยให้ผ่านไปง่าย ๆ

ซึ่งไม่ว่าข้อเรียกร้องในการขอหลักฐานบัญชีปลอมจากทวิตเตอร์ของมัสค์ จะมาจากเนื้อแท้ที่ต้องการแก้ปัญหาจริง หรือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ทางธุรกิจ ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทวิตเตอร์จำเป็นต้องทำให้เรื่องนี้โปร่งใสและชัดเจน เพื่อประโยชน์ของผู้ใช้งานแพลตฟอร์มทั่วโลก ซึ่งท้ายสุดจะสะท้อนกลับมาเป็นประโยชน์ต่อตัวทวิตเตอร์เองด้วย

 

เรียบเรียงจาก CNBC / Washington Post

ภาพจาก AFP


สรุปเหรียญ ซีเกมส์ 2021 ล่าสุด ประจำวันจันทร์ที่ 23 พ.ค. 65

โควิดวันนี้ (18พ.ค.65) ยอดติดเชื้อ PCR และ ATK ทะลุหมื่นราย

TOP ไอที
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ