พีพีทีวี นิวมีเดีย มีโอกาสคุยกับ 3 คนไทยที่พัฒนาดาวเทียม 3 ดวง เพื่อให้เห็นถึงทิศทางของวงการดาวเทียมไทย พร้อมอนาคตของประเทศไทยในการพัฒนาและต่อยอดวงการนี้
ซึ่งทั้ง 3 คนไทย คือ
รศ.ดร.สุเจตน์ จันทรังษ์ ผู้จัดการโครงการดาวเทียม “ไทยพัฒ (THAIPAHT)”
ดร.พงศธร สายสุจริต ผู้จัดการโครงการดาวเทียม “KNACKSAT”
คุณลิขิต วรานนท์ ผู้จัดการโครงการดาวเทียม “THEOS-2”
Q: จุดเด่นและทิศทางการพัฒนาดาวเทียมทั้ง 3 โครงการ
รศ.ดร.สุเจตน์: คือจริง ๆ แล้วไทยพัฒเราเริ่มโครงการมานานแล้วตั้งแต่ปี 2536 ตอนนั้นโจทย์คือว่า ในขณะนั้นประเทศไทย ถือหุ้นในโครงการดาวเทียมอิริเดียมของกลุ่มบริษัท UCOM อยู่ส่วนหนึ่ง จากนั้นจึงอยากให้ทางมหาวิทยาลัยมหานคร ช่วยคุยกับบุคลากรเพื่อคุยกับอุตสาหกรรมอวกาศ สร้างชิ้นส่วนดาวเทียมให้โครงการอิริเดียมในประเทศไทยให้ได้
จากนั้นจึงมีการลงทุนร่วมกันในการส่งคนไปฝึกฝนการสร้างดาวเทียมที่อังกฤษ เริ่มตั้งแต่การสร้าง การทำ requirement ต่าง ๆ ไปจนกระทั่งการผลิต การทดสอบ launch และ operation นั่นคือวัตถุประสงค์ของโครงการดาวเทียมไทยพัฒ
หลังจากนั้นทางโครงการอิริเดียมก็มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง หยุดการผลิตชิ้นส่วนไป แต่ทางมหาวิทยาลัยก็ไม่หยุด ก็ยังพัฒนาบุคลากรในการร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ๆ ในการทำเทคโนโลยีนี้ ทั้งของเราเอง ทั้งภาคเอกชน และแม้กระทั่งกับทางจิสด้าเอง ก็มีความร่วมมือกัน เพราะเราคิดว่าการพัฒนากิจการอวกาศของประเทศทำคนเดียวไม่ได้ เพราะมันใหญ่ ต้องการบุคลากรสูง และเป็นสิ่งที่เราเรียกว่า “niche” คือถ้าไม่มีงานต่อเนื่องแล้วจะไปทำอะไร
เพราะฉะนั้นทุกคนจะสร้างคนมาเพื่อสร้างดาวเทียมของตัวเอง จะอยู่ไม่ได้ทั้งหมด ต้องอาศัยความร่วมมือกันอย่างเช่น ทางจิสด้ามีความเชี่ยวชาญทางด้านนี้ มหาวิทยาลัยมหานครเชี่ยวชาญทางด้านนี้ ภาคเอกชนเชี่ยวชาญทางด้านนี้ เราเอามารวมกันดีกว่า
ถ้าในระหว่างที่ดาวเทียมนี้ยังไม่ได้สร้าง คนของเราก็ไปทำอย่างอื่นได้ เช่น บุคลากรของมหาวิทยาลัยก็ไปทำเรื่องของการเรียนการสอนอยู่ งานพัฒนาเทคโนโลยีก็ทำไปในระดับหนึ่ง ภาคเอกชนเขาก็มีการผลิตอย่างอื่นของเขาอยู่แล้ว เขาเปลี่ยนแปลงได้ จิสด้าเขาก็เปลี่ยนแปลงได้ ไม่ใช่ว่าไม่มีดาวเทียมทุกคนหยุดหมดเลย อย่างนี้ก็ไปไม่ได้
ภาพดาวเทียม “ไทยพัฒ (THAIPAHT)”
ดร.พงศธร: โครงการ KNACKSAT เป็นโครงการที่เราได้รับเงินสนับสนุนจากภาครัฐอีกหน่วยงานหนึ่งคือ กสทช. แนวทางก็อาจจะต่างจากโครงการของท่านอาจารย์สุเจตน์นิดหนึ่ง ก็คือเราเริ่มจากศูนย์ ไม่ได้มีคนมาช่วยวางแนวทางให้ อย่างตอนที่โครงการไทยพัฒที่เริ่มเมื่อปี 2536 ผมยังเป็นเด็กม.1 อยู่เลยครับ ตอนนั้นผมยังไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าดาวเทียมคืออะไร ผมนึกว่ามันเป็นจรวดตลอดมา
เพราะฉะนั้นในปีที่ผมกลับมาเริ่มทำดาวเทียมกับนักเรียนนักศึกษา นักศึกษาประเทศไทยก็คล้าย ๆ กัน อย่างผมเรียนอยู่ที่ภาคเครื่องกล ก็จะมีเบสเครื่องกล แล้วเราเริ่มจากศูนย์ ลักษณะพิเศษของมันก็คือ เราอยากทำ นักเรียนอยากทำ แต่ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ก็เริ่มจากลองผิดลองถูก หาข้อมูล แล้วเด็กที่ทำอยู่เครื่องกลก็ต้องมาเรียนรู้วิธีการทำวงจรอิเล็กทรอนิกส์ วงจรสื่อสาร ซึ่งเป็นสิ่งที่เราก็ไม่เคยเรียนมา
ภาพดาวเทียม KNACKSAT
เพราะฉะนั้นมันเป็นการงมความรู้ตั้งแต่ศูนย์ แล้วเราก็ใช้ของที่ไม่ได้เป็นของ Space Grade ก็เป็นของที่หาซื้อได้ตามบ้านหม้อ ซื้อขยะที่ทิ้งแล้วมาแกะบ้าง เอา IC ตัวนั้นตัวนี้มาใช้ เราก็ทำแบบนี้กัน เพราะฉะนั้นโครงการก็จะเป็นในแนวทางที่เราให้นักเรียนทำ เป็นโครงการที่จริง ๆ เรามีอาจารย์หลายท่าน
แล้วก็โครงการนี้จริง ๆ ไม่ได้รับการสนับสนุนจากกสทช. อย่างเดียว ทางจิสด้าเองก่อนหน้านี้ก็เคยสนับสนุนเราในเรื่องเครื่องไม้เครื่องมือ อุปกรณ์ต่าง ๆ มากมาย หรือว่าเรื่องขององค์ความรู้ อย่างทีมของเราทีมอาจารย์และนักศึกษาอยู่ในภาคเครื่องกล เราก็เลยมาขอองค์ความรู้จากกลุ่มอาจารย์ของทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานครด้วย มาช่วยสอนนักศึกษาเราในเรื่องของการออกแบบวงจรเกี่ยวกับเรื่องโทรคมนาคม
ดาวเทียมเนี่ยถูกส่งไปตั้งแต่ปี 2018 แล้ว ก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จมากนัก อย่างน้อยเราก็รู้ว่ามันยังไม่ตาย แต่ทุกวันนี้เรายังสื่อสาร เรายังส่งสัญญาณไปหามันไม่ได้ สัญญาณก็อ่อนมาก เพราะว่าเราเข้าใจผิดอะไรหลาย ๆ อย่าง ทดสอบผิดมากมาย ออกแบบผิด ในอนาคตเราก็คิดว่าดาวเทียมเราอยากให้นักเรียนทำ ไม่ได้เป็นโครงการของอาจารย์ทำ เด็กก็จะต้องลองผิดลองถูกนะครับ เราก็คิดว่าในอนาคตก็จะมีดาวเทียม KNACKSAT ซีรีส์ 2, 3, 4 ไปเรื่อย ๆ และผมก็คิดว่ามันก็น่าจะมีปัญหาแบบนี้ทุกปี เวิร์กบ้างไม่เวิร์กบ้าง
“THCOM” ชนะประมูลวงโคจรดาวเทียม มูลค่าเกือบ 800 ล้านบาท
นาซา จับตาดาวเคราะห์น้อยค้นพบใหม่ อาจชนโลก ปี 2046
"สเปซเอ็กซ์" ส่งยานแคปซูลพา 4 ผู้โดยสารโคจรรอบโลก 3 วัน
คุณลิขิต: จริง ๆ THEOS-2 เป็นโครงการที่เริ่มต้นจากการจัดหาดาวเทียมทดแทน ก็คือ THEOS หรือไทยโชติที่ใช้มาแล้วตอนนั้นก่อนเริ่มดำเนินสัญญาณประมาณ 10 ปีแล้ว ณ ปัจจุบันก็ใช้มาแล้ว 15 ปี อายุการใช้งานของเขาเริ่มอยู่ในจุดที่ครบ Lifetime แล้ว ทีนี้ THEOS-2 เป็นการจัดหาดาวเทียม 2 ดวงคือ ดวงหลักที่เป็นดวงใหญ่ผลิตที่บริษัทแอร์บัส ที่ตูลูส เป็นดาวเทียมรายละเอียดสูง 2.5 เมตรต่อพิกเซล ส่วนดาวเทียม THEOS-2 SmallSAT ที่ผมรับผิดชอบเนี่ย ก็คือเป็นดาวเทียมที่เล็กลงมาประมาณ 100 กิโลเมตรต่อพิกเซล ผลิตที่เซอร์เรย์ สถาบันเทคโนโลยีที่อังกฤษ
ความแตกต่างของ THEOS-2 ดวงใหญ่กับดวงเล็กเนี่ยก็คือ THEOS-2 ดวงเล็กจะเน้นในเรื่องของการสร้าง capacity building ก็คือเน้นเรื่องของการส่งบุคลากรเข้าไปเรียนรู้กับวิศวกรผู้เชี่ยวชาญที่เซอร์เรย์ ผมเป็นหนึ่งในนั้นประมาณ 22 ท่านนะครับ ใช้ระยะเวลาประมาณ 2 ปีตั้งแต่การออกแบบ ประกอบ และทดสอบ จนถึงนำมาทดสอบที่ประเทศไทย ณ ปัจจุบันนะครับ
อย่างที่สองคือเรื่องของการส่งเสริมผู้ประกอบการนะครับ ก็คือมีการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทย ที่ผลิตชิ้นส่วนดาวเทียมไม่ว่าจะเป็นด้านเครื่องกล ด้าน mechanic หรือว่าทางด้านอิเล็กทรอนิกส์แล้วก็ซอฟต์แวร์ต่าง ๆ ได้มีโอกาสผลิตชิ้นส่วนเข้ามาประกอบใน THEOS-2 SmallSAT หรือ THEOS-2A ทุก ๆ ชิ้นส่วน ทุก ๆ การออเดอร์ของ SSTL ก็ผ่านการประเมิน ผ่านการ investigate คุณภาพจากทาง SSTL ว่าสามารถใช้งานบนอวกาศได้หรือเปล่า
ทีนี้ก็จะบางส่วนที่ติดอยู่บนดาวเทียมด้วย บางส่วนอาจจะไม่ได้ติด แต่ผ่านกระบวนการตรวจสอบเรียบร้อยแล้ว ก็เป็นส่วนที่ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยมีการสร้างองค์ความรู้ให้เขาสามารถผลิตชิ้นส่วนดาวเทียมเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของภาครัฐในอนาคต หรือภาคเอกชนที่กำลังทำดาวเทียมขายอยู่ในตลาดเอง รวมถึงสามารถซัพพลายให้กับตลาดต่างประเทศได้ด้วยนะครับ
ประเด็นที่สามก็คือ การสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ก็คือการสร้างศูนย์ประกอบและทดสอบดาวเทียมที่ศรีราชา เป็นศูนย์ที่เอาไว้ทดสอบและประกอบดาวเทียม ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ไม่ว่าจะของจิสด้าเองหรือของฝั่งมหาวิทยาลัยเอง หรือฝั่งภาคเอกชนเอง ที่ไม่อยากลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน แต่มีความสนใจที่จะพัฒนาดาวเทียมขายในตลาด ในอนาคตประเทศไทยก็จะมีโครงสร้างพื้นฐานพร้อมที่จะทดสอบดาวเทียม พัฒนาดาวเทียมในประเทศได้
ภาพจำลองการถ่ายภาพด้วยดาวเทียม THEOS-2
Q: ความเห็นต่อวงการอุตสาหกรรมอวกาศไทยในปัจจุบัน
รศ.ดร.สุเจตน์: ผมว่าวันนี้ถ้าเทียบกับวันที่ผมเจอในวันนั้นเนี่ย ต้องถือว่าวันนั้นสิ่งที่ประเทศไทยรู้จักดาวเทียมอย่างเดียวเลยคือ “ไทยคม” สองก็คือการใช้บริการดาวเทียมต่างชาติในการบรอดคาสติ้งเท่านั้นเอง และก็คอมมูนิเคชันก็จะเป็นการโทรศัพท์ทางไกลข้ามประเทศ ผมว่านักลงทุนจะไม่ทำด้วยซ้ำไป ต้องโทรผ่าน 100 อะไรต่าง ๆ
แต่หลังจากที่เราเริ่มมีการทำความเข้าใจ การเรียนรู้ และเมื่อเราทำดาวเทียมไทยพัฒมาแล้วเนี่ย เราก็ได้รับโครงการจากทางกระทรวง ICT สมัยนั้น ให้ไปพัฒนาตามโครงการของทรูตามโรงเรียนต่าง ๆ ให้รู้เรื่องของดาราศาสตร์ เรื่องของอวกาศ และถ่ายทอดความรู้ให้กับเด็ก ๆ เพราะฉะนั้นเราเหมือนเป็น “Trainer of the trainer” อีกทีหนึ่ง เพื่อที่จะสร้างคน เพราะฉะนั้นวันนี้ปัญหาต่าง ๆ ที่เป็น penpoint ของประเทศ ได้ถูกแก้ปัญหาไปหลายอย่างแล้ว
เราเริ่มมีองค์กรของรัฐที่ชัดเจนขึ้นมา อย่างเช่นจิสด้า หรือสำนักงานการนักบินการอวกาศ ซึ่งเมื่อก่อนจะดูแลเรื่องของดาวเทียมไทยคมอย่างเดียว แต่วันนี้เริ่มมีบทบาทในการกำหนดนโยบาย เริ่มมีการพูดถึงกฎหมายอวกาศ กิจการอวกาศ จนกระทั่งผลักดันออกมาเป็นรูปเป็นร่างแล้ว เหลืออยู่ในขั้นกฤษฎีกา แล้วก็ไปเข้าสภาในครั้งต่อไป
ผมว่ามีพัฒนาการที่ดีขึ้นมามาก แต่ก็ยังมี penpoint ของกิจการนี้อยู่บ้าง ที่ว่ามันยังไม่มีองค์กรที่เข้ามาช่วยหรือนโยบายที่ออกมาชัดเจน เพราะมันอยู่ในระหว่างการเตรียมตัว แต่ก็ถือว่ามีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นเยอะกว่าในสมัยนั้น
ดร.พงศธร: ผมเห็นไปในแนวทางเดียวกับท่านอาจารย์สุเจตน์นะครับ ก็คือว่ารัฐบาลยังไงก็ต้องมีลูกค้า คือถ้าไม่มี demand จากภาครัฐ เอกชนก็ไม่รู้ว่าจะทำไปทำไม
คุณลิขิต: สถานการณ์ปัจจุบันผมมองว่าอยู่ในจุดที่ถ้าเทียบกับแต่ก่อนถือว่าดีมากนะครับ เพราะว่าเริ่มมีนโยบายจากภาครัฐ เริ่มมีแผนแม่บท เริ่มมีพรบ. มีผู้ใหญ่ที่สนับสนุนมีช่องทางสนับสนุน แล้วก็เริ่มมีผู้เล่นหรือเพื่อนร่วมงานที่อาจไม่ได้อยู่ในองค์กรเดียวกันอย่างอาจารย์พงศธรเอง ทั้งทางภาคมหาวิทยาลัยและภาคเอกชน เริ่มมีความสนใจเรื่องนี้มากขึ้น
เพราะองค์ความรู้ด้านดาวเทียมในประเทศไทยปัจจุบันยังมีอยู่อย่างจำกัดเฉพาะอยู่ เพราะฉะนั้นเราก็เจอผู้เชี่ยวชาญที่เราเจอกันอยู่ตลอด ที่นี้เรามองว่าพอเรามีนโยบาย มีผู้เล่นในระดับหนึ่งแล้ว โอกาสครั้งหน้าจะต้องขยายให้มากขึ้นเพื่อเป็นเหมือนระบบนิเวศที่แข็งแรงที่อยู่ได้ด้วยตัวเอง มีการเกิด demand มีการ supply อุตสาหกรรมก็จะเติบโต
แล้วก็มีการพัฒนาเทคโนโลยีที่ไม่ได้หยุดอยู่แค่ดาวเทียมที่ใช้ในปัจจุบัน แล้วก็ในภาพกว้างคือประเทศไทยพอเราทำเทคโนโลยีเหล่านี้ได้เนี่ย เรามี ecosystem ที่แข็งแรง ผมเชื่อว่าประเทศไทยก็จะกลายเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วในอนาคต
Q: ความคาดหวังต่อรัฐบาลชุดใหม่ในการพัฒนาวงการนี้
รศ.ดร.สุเจตน์: ความคิดผมนะ หนึ่งเลยคือว่า ผลักดันให้มีนโยบายที่ชัดเจน มียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน และสองคือสร้างความร่วมมือให้เกิดขึ้นให้ได้ระหว่างภาครัฐกับเอกชน ที่เป็นลักษณะที่ไม่ใช่ว่าแข่งขันกัน แต่ต้องมาช่วยเสริมกัน เช่น ไม่ใช่ว่าหน่วยงานภาครัฐหน่วยนี้ทำคนเดียว แล้วก็ไม่ให้เอกชนมาร่วมเลย อย่างนี้เราก็จะไม่เห็นการเติบโตของเอกชน
เพราะว่าอุตสาหกรรมอวกาศเป็นอุตสาหกรรมที่เอาไปต่อยอดในอุตสาหกรรมอื่นได้ ยกตัวอย่างเช่น ผมรู้จักบริษัทหนึ่งในเกาหลีที่ทำดาวเทียม แต่หลังจากนั้นเขาก็พบ penpoint บางอย่างว่า มีบางอย่างที่อาจจะเป็นความเสี่ยง ที่เกี่ยวกับเรื่องการตรวจจับนิวเคลียร์ในผงฝุ่นนิวเคลียร์ ซึ่งดาวเทียมเขายังทำไม่ได้ เขาก็เอาความรู้ต่าง ๆ ที่ไปเทรนมาในเรื่องดาวเทียม มาปรับใช้ กลายเป็นเขาทำเครื่อง detect ฝุ่นนิวเคลียร์ขายทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศของเขาซึ่งติดกับเกาหลีเหนือ
เทคโนโลยีเหล่านี้สามารถนำไปใช้ได้เยอะ หรือแม้กระทั่งถ้าเรามีความรู้ที่ดีเกี่ยวกับเรื่องของอวกาศ รัฐบาลสามารถใช้สิ่งเหล่านี้มาเพิ่มประสิทธิภาพ ปรับปรุงความเป็นอยู่ในชีวิตของเกษตรกร เดี๋ยวนี้เราไม่มีคนมาทำนาแล้วครับ ต่อไปมันต้องพึ่งเครื่องจักร เครื่องไม้เครื่องมือ ความแม่นยำในการนำร่องอะไรต่าง ๆ พวกนี้มันต้องอาศัยเทคโนโลยีดาวเทียมทั้งนั้น
ดร.พงศธร: ในความคิดของผมนะครับ รัฐบาลหน่วยงานรัฐเองก็ไม่ควรแย่งงานเอกชนทำ เพราะฉะนั้นอะไรที่เอกชนทำได้ ผมคิดว่ารัฐควรจะจ้างให้เอกชนทำ
คุณลิขิต: นโยบายที่อยากให้ภาครัฐสนับสนุน ผมมองว่าอยากให้จริงจังแล้วก็ต่อเนื่องครับ คือปัจจุบันจากแผนแม่บท พรบ.กิจการอวกาศเองก็เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา อยากให้คงความต่อเนื่องในการผลักดันมากยิ่งขึ้น แล้วถ้าสามารถไปได้เร็วกว่านี้ ผมว่าจะทำให้สนับสนุนเรื่องของ ecosystem ของทางภาคเอกชนเองหรือภาครัฐเองไปได้เร็วมากขึ้น ทันต่อสถานการณ์
เพราะว่าปัจจุบันดาวเทียมราคาต้นทุนถูกลง การนำส่งถูกลง ถ้าเทียบกับต่างประเทศเนี่ยเขาค่อนข้าง sprint ได้ไว แต่พอเรารอเรื่องของนโยบาย เรื่องของ regulation เรื่องของกฎหมายต่าง ๆ เนี่ย บางอย่างเรายังติดกันตรงนี้อยู่ ถ้าเกิดบางอย่างปลดล็อกได้ สามารถทำให้ไปไวได้ ผมว่าจะทำให้อุตสาหกรรมนี้เติบโตได้เร็วขึ้น และอาจจะทำให้เป็นอุตสาหกรรมที่สร้างมูลค่าที่มีนัยยะสำคัญหนึ่งของประเทศได้