AI Google เข้าใจผิด มองข่าวปลอมวันโกหกเป็นเรื่องจริง!

โดย PPTV Online

เผยแพร่

นักข่าวท้องถิ่นประเทศเวลส์ พบฟีเจอร์ AI Overview ของ Google นำเสนอข่าวปลอมแต่งในวันโกหกว่าเป็นความจริง ชี้จุดอ่อน AI Google ทำข่าวปลอมแพร่กระจายง่าย

April Fools’ Day หรือ วันโกหก เมื่อ 1 เมษายนที่ผ่านมา แน่นอนว่าย่อมมีข่าวปลอมหรือการกุเรื่องตลกขบขันขึ้นมาเพื่อปั่นในวันนั้นมากมาย ไม่เว้นแม้แต่บน Cwmbran Life เว็บไซต์สำนักข่าวท้องถิ่นเมืองคุมบราห์นทางตอนใต้ของเวลส์ ที่ได้นักข่าวอย่าง เบน แบล็ก วัย 48 ปี ทำหน้าที่เขียนเรื่องโกหกขึ้นบนเว็บไซต์เป็นประจำทุกปี ทว่าในปีนี้ แบล็ก พบว่าฟีเจอร์ AI Overview ของ Google ได้นำหนึ่งในเรื่องโกหกของเขามานำเสนอเป็นข่าวจริงเสียอย่างนั้น?!

คอนเทนต์แนะนำ
เปิดตัว Nintendo Switch 2 เกมคอนโซลใหม่ปู่นิน คาดเข้าไทย ก.ค.-ก.ย.นี้
เริ่มผลิตแล้ว! แบตเตอรี่พลังงานนิวเคลียร์พี่จีน ใช้งานได้ยาว ๆ 50 ปี
น้องหน้าง่วงมาแล้ว! 8 อิโมจิใหม่ มาให้ใช้งานบนอัปเดต iOS 18.4

 

ฟีเจอร์ AI Overview ของ Google นำเสนอเรื่องที่ว่าเมืองคุมบราห์นเป็นเมืองที่มีวงเวียนต่อตารางกิโลเมตรมากที่สุดในโลก Ben Black/Google
ฟีเจอร์ AI Overview ของ Google นำเสนอเรื่องที่ว่าเมืองคุมบราห์นเป็นเมืองที่มีวงเวียนต่อตารางกิโลเมตรมากที่สุดในโลก

ย้อนไปในวันโกหกเมื่อปี 2020 แบล็ก ได้แต่งเรื่องเกี่ยวกับ เมืองคุมบราห์น ที่สามารถทำลายสถิติโลกกินเนสส์ (Guinness World Records) ในฐานะเมืองที่มีวงเวียนต่อตารางกิโลเมตรมากที่สุดในโลก และเพียงวันถัดมาหลังจากเผยแพร่ แบล็ก ก็ได้ลงบทความเพื่อชี้แจงว่าข่าวดังกล่าวเป็นเรื่องโกหกเนื่องในวัน April Fools’ Day

ซึ่งข่าวการทำลายสถิติโลกกินเนสส์นี้ ก็ได้มีเว็บไซต์ข่าวมากมายเผยแพร่ตาม ๆ กัน จนแบล็กออกมาขอให้สำนักข่าวต่าง ๆ หยุดเผยแพร่เรื่องโกหกนี้เสีย ทว่าก็ไม่มีสื่อใดให้ความร่วมมือ พร้อมอ้างว่าข่าวดังกล่าวนั้นเกิดขึ้นจากความผิดพลาดของตัวแบล็กเอง ก่อนที่เรื่องนี้จะค่อย ๆ เงียบลง

ผ่านมา 5 ปี ในปี 2025 แบล็ก ก็ต้องตกใจเมื่อพบว่า “AI Overview” ฟีเจอร์ AI สรุปข้อมูลที่เราค้นหาบน Google ได้นำเรื่องราวที่เขาแต่งขึ้นเมื่อปี 2020 มาใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานพร้อมนำเสนอเรื่องที่ว่าเมืองคุมบราห์นเป็นเมืองที่มีวงเวียนต่อตารางกิโลเมตรมากที่สุดในโลกในฐานะข้อเท็จจริงเสียอย่างนั้น

แบล็ก กล่าวว่า แม้ข้อมูลดังกล่าว จะไม่ใช่ข้อมูลเท็จที่ก่อให้เกิดอันตรายหรือก่อให้เกิดความเข้าใจผิดที่ส่งผลร้ายแรง แต่กรณีนี้เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่าข่าวปลอมสามารถแพร่กระจายได้ง่ายเพียงใด โดย แบล็ก กล่าวกับสำนักข่าว BBC ว่า "มันเป็นเรื่องที่น่ากลัวจริง ๆ สำหรับใครบางคนที่ใช้ Google ค้นหาถนนในเวลส์ และอาจพบเรื่องราวที่ผมแต่งขึ้นและเชื่อมันอย่างสนิทใจ"

แบล็กยังเผยว่า กรณีนี้แสดงให้เห็นว่า AI ถือเป็นภัยคุกคามที่เพิ่มมากขึ้น โดยสื่อใหญ่พยายามทำข้อตกลงร่วมมือกับบริษัท AI ที่จะสามารถทำกำไรได้อย่างมหาศาล ในขณะที่สื่อของเขากลับถูกละเลย เนื่องจากเนื้อหาต้นฉบับถูกขุดคุ้ยและนำไปใช้ซ้ำโดยไม่ได้รับอนุญาต

แบล็ก เสริมว่า แน่นอนว่าแนวคิดของข่าวปลอมหรือข่าวเสียดสีบนอินเทอร์เน็ตไม่ใช่เรื่องใหม่ เห็นได้จาก The Onion และ The Babylon Bee ที่มีมานานแล้ว โมเดลภาษาขนาดใหญ่ (LLM) ที่ใช้ฝึกฝน AI น่าจะรับรู้ได้ว่าข่าวไหนเป็นข่าวจริงข่าวไหนเป็นเรื่องแต่ง ซึ่งแม้ Cwmbran Life จะเป็นเว็บไซต์ข่าว แต่ AI ของ Google กลับไม่สามารถแยกแยะความแตกต่างของเนื้อหาที่นำเสนอได้ และนับว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องจริง

ที่มา: Tech Spot

Bottom-PL-HLW Bottom-PL-HLW

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

PPTVHD36

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ