ท่ามกลางกระแสฟุตบอลโลก 2022 ที่ประเทศกาตาร์ในขณะนี้ หนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์ของญี่ปุ่นที่เป็นที่พูดถึงอย่างมาก คือมังงะและอนิเมะที่ชื่อว่า “บลูล็อก (Blue Lock)”
บลูล็อกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่นที่พ่ายแพ้ในศึกฟุตบอลโลก 2018 จบอันดับที่รอบ 16 ทีมสุดท้าย ซึ่งสมาพันธ์ฟุตบอลญี่ปุ่นไม่พอใจในผลงานอย่างมาก และพยายามหาทางแก้ไขว่า “ทำอย่างไร ญี่ปุ่นจึงจะเป็นแชมป์ที่ได้คว้าถ้วยฟุตบอลโลกมาครอง”
ส.บอล จับมือ บุรีรัมย์ ปั้นช้างศึกรุ่นใหม่ เป้า 3 ปี ขึ้นท็อป 10 เอเชีย
มาโน่ ประกาศ 24 แข้งช้างศึก อุ่นเครื่องก่อนทำศึกชิงแชมป์อาเซียน 2022
"มาโน่" ยืดอกรับผิด "ช้างศึก" ชวดชิงคิงส์คัพ
“เอโกะ จินปาจิ” ตัวตนปริศนาที่ภายนอกเหมือนนักคณิตศาสตร์เนิร์ด ๆ ได้เสนอว่า ญี่ปุ่นเป็นทีมที่โดดเด่นอย่างมากในเรื่องเกมรับและกองหลัง แต่กลับขาดกองหน้าระดับเทพ ที่จะเป็นเหมือนหัวหอกในการนำชัยชนะมาสู่ญี่ปุ่น
เขาเสนอโมเดลหนึ่งขึ้นมา โดยจับเอานักฟุตบอลเยาวชนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย 300 คนทั่วประเทศมาอยู่ในแคมป์ฝึกที่เป็นเหมือนคุกซึ่งมีชื่อว่า “บลูล็อก”
บลูล็อกมีเป้าหมายเพื่อเฟ้นหา “ศูนย์หน้า” หรือ “สไตรเกอร์” ที่เก่งที่สุดขึ้นมา โดยใช้วิธีคัดเลือกรอบต่าง ๆ รีดเค้นเอา “อีโก้” ของนักเตะออกมาให้มากที่สุด ปลุกความทะเยอทะยานและความเป็น “ตัวเอก” ออกมาจากเหล่า “แร่ดิบที่ยังไม่ได้รับการเจียระไน” (คำพูดติดปากของเอโกะ จินปาจิ)
อย่างไรก็ดี ในบลูล็อก นักฟุตบอลที่ไม่ผ่านการคัดเลือก จะถูก “ตัดสิทธิ์การเข้าร่วมทีมชาติตลอดชีวิต” นี่จึงเป็นเหมือนโอกาสที่เต็มไปด้วยปากเหว เพราะหากพลาดเพียงก้าวเดียว อนาคตในวงการฟุตบอลก็เรียกได้ว่าแทบจะจบลง
บลูล็อกมีลักษณะเหมือนกับ “โคโดกุ” หรือไสยศาสตร์โบราณของญี่ปุ่นที่จับเอาสัตว์มีพิษ 5 ชนิดมาใส่ไว้ในไหใบเดียวกัน แล้วให้พวกมันกัดกินกันเอง เพื่อหาจ้าวแห่งพิษที่มีพิษร้ายแรงที่สุด
ที่เกริ่นมายาวขนาดนี้ ก็เพื่อให้เห็นถึงโมเดลการสร้างนักสุดยอดนักฟุตบอลด้วยวิธีการสุดโต่งที่ปรากฏในมังงะและอนิเมะเรื่องนี้ ซึ่ง “กำลังจะเกิดขึ้นจริงในประเทศไทย”
ทั้งนี้ การใช้คำว่า เกิดขึ้นจริง อาจะดูโอเวอร์ไปสักหน่อย แต่สิ่งที่ สมาคมฟุตบอลไทยฯ และบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ประกาศว่าจะทำร่วมกัน ก็มีความคล้ายคลึงอย่างมากกับโมเดลบลูล็อก
เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. ที่ผ่านมา สมาคมฟุตบอลไทยฯ และบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด แถลงข่าว “สร้างทีมชาติไทยรุ่นใหม่” ที่มีเป้าหมายยิ่งใหญ่ พาทีมชาติไทยไปยืนอยู่ในสนามฟุตบอลโลกรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปี (U20) ในปี 2025
การโฟกัสพัฒนาศักยภาพนักเตะ U20 นั้น นักวิเคราะห์มองว่า เป็นการวางรากฐานไปสู่ฟุตบอลโลกเวทีใหญ่ เพราะหากต้องการปั้นทีมชาติที่แข็งแกร่งพอจะสู้กับระดับโลก ก็ต้องทำให้เยาวชนเก่ง เพื่อให้ทีมชาติชุดใหญ่ยุคต่อไปเก่งกาจขึ้น
พล.ต.อ.ดร.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมฯ กล่าวว่า “อย่างที่ทราบกันดีนักกีฬาในช่วงอายุวัย 18-20 เป็นช่วงสำคัญของนักฟุตบอลว่าจะก้าวเป็นนักเตะอาชีพได้หรือไม่ หรือจะหายออกไปจากวงการ”
เขาเสริมว่า “สมาคมฯ และ สโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ทำข้อตกลงร่วมกัน ที่จะสร้างทีมชาติไทย เพื่อเข้าสู่การแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์เอเชีย ปี 2025 โดย มีเป้าหมายที่จะเป็น 1 ใน 10 อันดับแรกของเอเชีย โดยมี ชนน์ชนก ชิดชอบ เป็นผู้จัดการทีมชาติไทย ชุดนี้ และ มิลอส เวเลบิต กุนซือชาวเซอร์เบีย เป็นหัวหน้าผู้ฝึกสอน”
จากการเปิดเผยเบื้องต้น ทีมชาติไทยชุดนี้จะถูกสร้างขึ้นมาโดยมีเป้าหมายที่ชัดเจน ว่าจะต้องได้ไปฟุตบอลโลก U20 จะคัดนักฟุตบอลที่มีอายุไม่เกิน 18 ปี (เกิดปี พ.ศ. 2548) มาเก็บตัวฝึกซ้อมร่วมกันต่อเนื่อง “3 ปี”
นักกีฬาทั้งหมดจะเก็บตัวที่แคมป์ของสโมสร บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด โดยจะได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากทีมงานสตาฟฟ์โค้ช และได้รับการฝึกฝนทักษะฟุตบอลในสภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวกระดับมาตรฐานสากล อาทิ สนามซ้อม สนามแข่งขัน ที่พัก ฟิตเนส สระว่ายน้ำ และโภชนาการ
ด้าน เนวิน ชิดชอบ ประธานสโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด เผยว่า “ทุกคนที่ถูกคัดเลือกมา เราจะออกค่าใช้จ่าย เรียนหนังสือที่บุรีรัมย์ ค่ากินอยู่ ฯลฯ มีหน้าที่เรียนหนังสือ ฝึกฟุตบอลเพื่อสร้างความสุขให้คนไทยในการแข่งขันรายการต่าง ๆ ทุก 3 เดือนจะมีการประเมินเด็ก ซึ่งต้องผ่านเกณฑ์ ถ้าไม่ผ่าน จะคัดออก และจะมีการคัดเด็กเข้าไปเติมตลอดเวลา”
จุดนี้เองที่มีความคล้ายคลึงกับการ์ตูนบลูล็อก แต่ไม่ดาร์กหรือฮาร์ดคอร์เท่า ทำให้มีการตั้งชื่อเล่นโปรเจกต์นี้ของสมาคมฯ และบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ว่า “บลูล็อกบุรีรัมย์” นั่นเอง
บลูล็อกบุรีรัมย์จะคัดเลือกเยาวชน 200 คนในรอบแรก ระหว่างวันที่ 20-25 ธันวาคม 2565 นี้ที่แคมป์เก็บตัวในสโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด จากนั้นในรอบสองจะคัดให้เหลือ 100 คน เพื่อฝึกพิเศษ แล้วคัดให้เหลือจำนวน 20 คนในปี 2566
20 คนที่ว่านี้ มีข้อมูลจากเพจวิเคราะห์บอลจริงจังว่า ทางสโมสรบุรีรัมย์ได้วางโปรแกรมแข่งไว้ให้ทั้งหมดแล้ว โดยดีลกับสโมสรในไทยลีก ให้ส่งทีม B มาปะทะกับทีมบลูล็อกบุรีรัมย์เป็นประจำทุกสัปดาห์ ให้มีเกมการแข่งตลอด
จากนั้นในปี 2567 เด็กกลุ่มนี้จะมีโปรแกรมลงแข่งฟุตบอลชิงแชมป์เอเชียรอบคัดเลือก เป้าหมายคือต้องเข้ารอบให้ได้ และในปี 2568 หรือ 2025 ทีมชาติบลูล็อกไทยแลนด์จะมีโปรแกรมฟุตบอลชิงแชมป์เอเชียรอบสุดท้าย และถ้าทำผลงานได้ดี ก็อาจได้โควตาฟุตบอลโลก U20 ที่จัดในปีเดียวกันด้วยก็ได้
เพจวิเคราะห์บอลจริงจังระบุว่า ได้พูดคุยกับผู้บริหารท่านหนึ่งของสมาคมฯ ซึ่งบอกว่า “ถ้าหากเราใช้วิธีการแบบเดิม มันก็อาจมีตอนจบเหมือนเดิม ... เราไม่รู้ว่าแผนของบุรีรัมย์จะเวิร์กจริง ๆ ไหม แต่การลองเปลี่ยนแปลงดู อาจจะนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่ดีก็ได้”
เรื่องราวในการ์ตูนบลูล็อกต้นฉบับขณะนี้ “บลูล็อกเจแปน” ก็ยังอยู่ในช่วงที่ประสบความสำเร็จในการเอาชนะทีมชาติ U20 ที่สร้างขึ้นด้วยระบบเดิมเท่านั้น ยังไม่ได้ไปโลดแล่นอยู่ในเวทีโลก (แต่คาดว่าในอนาคตอาจไปถึงจุดนั้นตามสไตล์การ์ตูนโชเน็น)
จึงเป็นที่น่าติดตามต่อไปว่า แผนบลูล็อกโมเดลในการสร้าง “บลูล็อกบุรีรัมย์” หรืออาจเป็น “บลูล็อกไทยแลนด์” จะประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด
ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก เพจวิเคราะห์บอลจริงจัง