หลังจากวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย สร้างผลงานยอดเยี่ยมด้วยการคว้าแชมป์รายการชิงแชมป์เอเชีย 2023 เมื่อระเบิดฟอร์มคว่ำ ทีมชาติจีน ไปแบบสนุก 3-2 เซต ทำให้ ทีมไทย คว้าแชมป์เอเชียสมัยที่ 3 มาครองได้สำเร็จ ต่อจากปี 2009 และ 2013
ขณะทำการแข่งขัน แฟนกีฬาวอลเลย์บอลไทยหลายๆคน อาจจะมีข้อสงสัยว่านักกีฬาวอลเลย์บอลหญิงไทย ทำไมต้องใส่สายรัดแขนและอุปกรณ์ชิ้นนี้มีหน้าที่อะไร วันนี้มาไขข้อสงสัยกัน
สำหรับอุปกรณ์ตัวนี้นั่นคือ Moinitor Heart Rate หรือ เครื่องวัดอัตราการเต้นของหัวใจหรือชีพจร มีไว้สำหรับตรวจอัตราการเต้นของหัวใจว่าเร็วและทำงานหนักแค่ไหน ขณะที่นักกีฬาทำการฝึกซ้อมและแข่งขัน เมื่อสวมใส่จะส่งสัญญาณชีพผ่านบลูทูธเชื่อมต่อกับแอพออกกำลังกาย ทำให้ทราบถึงข้อมูลการเต้นของหัวใจ ดูผ่าน tablet
ผศ.ถาวร กมุทศรี หัวหน้าทีมงานวิทยาศาสตร์การกีฬา ทีมวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย ให้ข้อมูลว่านักกีฬาวอลเลย์บอลหญิงไทย ได้ใช้อุปกรณ์นี้ 2 แบบ คือ แบบสายรัดแขน (เห็นจากกำลังแข่งขัน) และ แบบเป็นอุปกรณ์ขนาดเล็กที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 เซ็นติเมตร ซึ่งจะติดไว้ภายในสปอร์ตบราของนักกีฬา (ทำให้เราเห็นว่านักกีฬาบางคนไม่ได้ใช้ แต่ความเป็นจริงคือต้องใส่ทุกคน)
เครื่องวัดอัตราการเต้นของหัวใจ เป็นอุปกรณ์ตัวช่วยให้ผู้ฝึกสอนได้ตรวจสอบร่างกายของนักกีฬา อย่างเช่น ขณะทำการแข่งการเต้นของหัวใจอยู่ในระดับไหน เพื่อวิเคราะห์ว่านักกีฬาต้องเปลี่ยนตัวออกมาพักหรือไม่ อย่างไรก็ตามจะต้องเปลี่ยนออกมาพักหรือไม่ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้ฝึกสอน
นอกจากนี้ยังมาใช้ในเรื่องของแอโรบิกพัฒนาเรื่องความอดทนของหัวใจ เพื่อประกอบพิจารณาการฝึกซ้อมเพราะจะได้ทราบว่านักกีฬาบางคนหากอยู่ในโซน 5 หรือ สีแดง ทางผู้ฝึกสอนอาจจะต้องให้นักกีฬาผ่อนแรง
สำหรับอุปกรณ์ตัวใหม่นี้หลักๆอยู่ภายใต้การสนับสนุนของ ศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬา การกีฬาแห่งประเทศไทย และสปอนเซอร์ โดยรุ่นใหม่นำมาใช้ตั้งแต่ชิงแชมป์โลก 2022 ที่ประเทศโปแลนด์
ผศ.ถาวร กมุทศรี และ นพ.พิเชษฐ์ เยี่ยมศิริ ทีมงานวิทยาศาสตร์การกีฬา ทีมวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย ได้เคยแนะนำไว้ ขณะดำเนินภารกิจในการแข่งขันวอลเลย์บอลหญิงชิงแชมป์โลก 2022 ระบุว่าวอลเลย์บอลเป็นกีฬาที่เคลื่อนไหวรวดเร็วค่อนข้างจะเป็น Anaerobic exercise (การออกกำลังกายที่ไม่ใช้ออกซิเจน) เป็นหลัก
สรุป Heart rate monitoring มีหน้าที่ดังต่อไปนี้
1.เพื่อให้การวอร์มอัพความเหนื่อยถึงโซนที่ร่างกายพร้อม ที่จะออกกำลังกายในระดับต่อไป(รวมถึงการแข่งขัน)
2.เพื่อดูความฟิต (Aerobic fitness)ของนักกีฬาแต่ละคน
3.เพื่อดูว่ามีการฝึกหนักเกินไปหรือไม่ (Over training)
4.เพื่อดูความเหนื่อยล้า (Fatigue)ระหว่างแข่งขัน พิจารณาเปลี่ยนตัว สลับตัวผู้เล่น ตามที่โค้ชเห็นสมควร
แบ่งการวัดออกเป็น 5 โซนด้วยกัน ดังนี้
โซน 1 : บางเบา เหมือนนั่งอยู่เฉยๆ (50% - 60%)
โซน 2 : เบาๆ (60% - 70%)
โซน 3 : ปานกลาง (70% - 80%)
โซน 4 : หนัก (80% - 90%)
โซน 5 : หนักสุด (90% - 100%)
ดังนั้นวิทยาศาสตร์การกีฬา จึงมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของนักกีฬาให้ก้าวข้ามขีดความสามารถและต่อยอดระดับสูงขึ้นไป
สรุปรางวัลยอดเยี่ยมวอลเลย์หญิงชิงแชมป์เอเชีย AVC 2023 ทีมไทย คว้า 3 รางวัล
“กำแพงเมืองจีนเป็นรู” หลังช่างก่อสร้างขี้เกียจอ้อม ใช้รถขุดสร้างทางลัด