"ลิเวอร์พูล" การันตีแชมป์พรีเมียร์ลีกประจำฤดูกาล 2024/2025 เป็นที่เรียบร้อยหลังเกมเปิดรังแอนฟิลด์ถล่ม "ไก่เดือยทอง" ท็อตแน่ม ฮ็อตสเปอร์ 5-1 ซึ่งการคว้าแชมป์นี้นับเป็นแชมป์ลีกสูงสุดสมัยที่ 20 ของสโมสร
สิ่งที่ถูกพูดถึงว่าเป็นฟันเฟืองสู่ความสำเร็จในครั้งนี้ นอกจากความสามารถของเหล่าแข้งมากประสบการณ์อย่าง โมฮาเหม็ด ซาล่าห์ เวอร์จิล ฟานไดจ์ค และอลีสซง เบ็คเกอร์ หรือการวางแทกติกของเฮดโค้ชอย่าง อาร์เน่อ สล็อต แล้วนั้น ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่หลายคนอาจคิดไม่ถึง นั่นคือ "ข้อมูล"
นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวในรายการ คิดยกกำลัง 2 เผยแพร่ผ่านสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส โดยเล่าถึงประเด็นการนำข้อมูล (Data) มาใช้เป็นฟันเฟืองหนึ่งในการขับเคลื่อนลิเวอร์พูลสู่การคว้าแชมป์ฤดูกาลนี้ว่า ลิเวอร์พูลเป็นหนึ่งทีมที่บุกเบิกเรื่องของการนำข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ Big Data มาใช้วิเคราะห์เพื่อก้าวสู่ความสำเร็จ
สำหรับข้อมูลที่นำมาใช้ในการวิเคราะห์ส่วนใหญ่คือ การซื้อ-ขายนักเตะอย่างไรให้ราคาไม่แพง แต่นำมาแล้วเหมาะสมกับทีม โดยลิเวอร์พูลซื้อนักเตะจากข้อมูลที่มีการบันทึกไว้อย่างยาวนาน
ตัวอย่างเช่น แอนดรูว์ โรเบิร์ตสัน อดีตแบ๊กซ้ายฮัลล์ ซิตี้ ที่ขณะนั้นทีมตกชั้น เสียประตูเยอะ อาจมองว่าฝีเท้าตำแหน่งกองหลังนั้นไม่ดี แต่จากข้อมูลที่ลิเวอร์พูลมี มองว่าจุดนี้ไม่ใช่ปัญหา จึงสามารถซื้อมาในราคาถูกเมื่อปี 2017 ที่ราว ๆ 8 ล้านปอนด์ ก่อนที่ต่อมาจะประสบความสำเร็จกับสโมสรมากมาย
ทั้งนี้ การใช้ข้อมูลไม่ใช่ว่านำข้อมูลมาพิจารณาอย่างเดียว แต่ต้องมาพิจารณาประกอบกับการตัดสินใจของบอร์ดบริหาร ผู้จัดการทีม และทีมแมวมองด้วย
นายสมเกียรติ กล่าวต่อว่า มีหลายทีมที่มีข้อมูลแต่ไม่เชื่อ กลับเชื่อความรู้สึกของตนเองมากกว่า ทว่าลิเวอร์พูลยึดข้อมูลเป็นแนวปฏิบัติเป็นเสมือนเสาหลักต้นหนึ่ง และใช้ข้อมูลที่ลึกเกินกว่าหลาย ๆ ทีม เช่น ค่า xG (ค่าความเป็นไปได้ที่โอกาสการยิงในแต่ละครั้งจะเป็นประตู) นับตั้งแต่ง้างเท้า จนถึงง้างเท้าแล้วยิงนั้น มีความแตกต่างกัน
หรือตำแหน่งการครองบอล เมื่อครองบอลจุดไหนจะได้เปรียบฝ่ายตรงข้าม การคุมพื้นที่แบบไหนจะนำไปสู่ชัยชนะ ไปจนถึงกลยุทธ์การเตะมุม ซึ่งลิเวอร์พูลไปจับมือกับ Google DeepMind เพื่อใช้ AI วิเคราะห์ข้อมูลที่มีเพื่อนำมาสร้างกลยุทธ์ได้อย่างเหมาะสม
สำหรับข้อมูลที่ปรากฏจะเป็นข้อมูลเฉลี่ยทั่วไป เช่น ใครครองบอลกี่เปอร์เซ็นต์ ใครยิงมากกว่าน้อยกว่า นั่นเป็นข้อมูลที่กว้างเกินไป ใช้ประโยชน์ไม่ค่อยได้ สิ่งที่จำเป็นคือ ข้อมูลจุลภาค หรือข้อมูลที่ละเอียดมาก ๆ เช่น นักกีฬาแต่ละคนจะใส่เสื้อติด GPS ก็จะรู้ระยะการวิ่ง ความเร็วในการสปรินต์ เป็นต้น
หรือต่อมามีการใช้กล้องตามการเคลื่อนไหว ที่สามารถถ่ายตามนักกีฬา 22 คนในสนามได้ 1 วินาทีต่อ 25 เฟรม ก็จะได้ข้อมูลละเอียด นำไปวิเคราะห์ด้วย AI ต่อได้ เมื่อได้ข้อมูลไปแล้วก็จะสามารถคลิกดูบนแดชบอร์ดได้ทันที
นายสมเกียรติ ทิ้งท้ายว่า การใช้ข้อมูลเป็นเรื่องสำคัญ แต่ประเทศไทยดูเหมือนใช้ความรู้สึกมากเกินไป ตั้งแต่การประกอบธุรกิจไปจนถึงการบริหารประเทศ ซึ่งทั้งกรณีของฟุตบอลทีมชาติไทย และการบริหารประเทศ ก็จำเป็นต้องใช้ข้อมูล ต้องสร้างข้อมูลขนาดใหญ่ และต้องเชื่อในพลังของข้อมูล อย่าใช้แต่ความรู้สึกมากจนเกินไป