รวม 12 สถานที่ไหว้พระธาตุประจำปีนักษัตร เสริมมงคลตามความเชื่อชาวล้านนา พร้อมเผยความเป็นมาและบทสวดของการกราบสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองเหนือ
แม้ว่าความเชื่อเรื่องการไหว้พระธาตุประจำปีเกิด 12 นักษัตรจะไม่ใช่หลักปฏิบัติในหลักคำสอนทางพุทธศาสนา หากแต่เป็นคติความเชื่อของชาวล้านนา หรือชาวไทยเหนือที่แฝงกุศโลบายไว้อย่างแยบยล ไม่ใช่เพียงการมุ่งหวังว่าการได้เข้าไปกราบสักกาบูชาแล้วจะส่งเสริมความมงคลให้กับชีวิตเพียงอย่างเดียว
ดังนั้แล้วความเป็นมาของพระธาตุประจำปีเกิดเป็นอย่างไร และสถานที่ใด เป็นพระธาตุอันสำคัญประจำปีเกิดของแต่ละนักษัตรบ้าง ทีมข่าวนิวมีเดีนพีพีทีวี ได้รวบรวมข้อมูลมาให้แล้ว
วันอาสาฬหบูชา-วันเข้าพรรษา 2566 ตรงกับวันที่เท่าไร ถือเป็นวันหยุดไหม ทำไมบางบริษัทไม่ได้หยุด
ไขข้อสงสัย!? "วันอาสาฬหบูชา-วันเข้าพรรษา" ต้องเวียนเทียนไหม
กำเนิดความเชื่อเรื่อง “พระธาตุ”
ความเป็นมาความเชื่อเรื่องพระธาตุ ปรากฏครั้งแรกในพระไตรปิฏกมหาปรินิพพานสูตร โดยมีเนื้อหาสาระพอสังเขปว่า ครั้นถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระแล้ว มัลละกษัตริย์จัดการอารักขาพระสรีรธาตุเป็นอย่างดี ทำการสักการบูชาพระบรมสารีริกธาตุด้วยการฟ้องรำขับร้องเป็นเวลา 7 วัน ขณะเดียวกันข่าวเรื่องพระพุทธองค์ดับขันธปรินิพพานแพร่ไปถึงกษัตริย์และพราหมณ์ในนครและแคว้นต่างๆ
ต่อมาพุทธศาสนิกชนก็ได้ขยายแนวคิดที่จะสักการะ จึงเกิดสิ่งระลึกถึงพระพุทธเจ้าในคัมภีร์ กล่าวถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นเครื่องระลึกถึงพระพุทธเจ้าที่ปรินิพพานไปแล้ว 4 อย่าง คือ
1.) ธาตุเจดีย์ คือ เจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
2.) บริโภคเจดีย์ คือ สังเวชนียสถาน 4 แห่งที่พระพุทธองค์ตรัสให้มหาชนไปปลงธรรมสังเวช เมื่อระลึกถึงพระองค์ คือ ที่ประสูติ ที่ตรัสรู้ ที่ประทานปฐมเทศนา และที่ปรินิพพาน
3.) ธรรมเจดีย์ คือ จารึกข้อพระธรรมไว้บูชา ในชั้นเดิมมักเลือกเอาข้อพระธรรมที่เป็นหัวใขของพระพุทธศาสนา เช่น คาถาแสดงพระอริยสัจ 4 มาจารึกไว้บูชา
4.) อุเทสิกเจดีย์ คือ พุทธเจดีย์อย่างอื่นที่ไม่เกี่ยวกับสามอย่างข้างต้น เช่น พระพุทธรูปธรรมจักรรอยพระพุทธบาท พระแท่นวัชรอาสน์ หรือสัญลักษณ์แทนพระพุทธเจ้า
ด้วยเหตุนี้การไหว้พระธาตุ จึงเป็นอีกหนึ่งแนวความคิดที่พุทธศาสนิกชนชาวไทยนิยมเดินทางไปกราบสักการะในวันสำคัญทางศาสนา เพื่อระลึกถึงพระพุทธเจ้า และเก็บสั่งสมบุญ เสริมสิริมงคลให้กับชีวิต
ไหว้พระธาตุประจำปีเกิด กุศโลบายปราชญ์ชาวล้านนา
“การไหว้พระธาตุประจำปีเกิด” หรือ “ชุธาตุ” เป็นความเชื่อที่นิยมในชาวล้านนา โดยเชื่อว่า ก่อนที่มนุษย์จะมาเกิดในครรภ์มารดา ดวงจิตได้เคยสถิตอยู่กับต้นไม้ ซึ่งมีภูตผีหรือสัตว์รักษาอยู่ แต่ด้วยความไม่เหมาะสมที่ดวงจิตของมนุษย์จะอยู่กับอมนุษย์หรือสัตว์ทั้งหลาย ดวงจิตของมนุษย์ก่อนกำเนิกจึงได้ลาไปจากต้นไม้ดังกล่าว เพื่อไปสถิตกับพระธาตุที่ต่างกันไป ตามที่สัตว์ประจำนักษัตรพาไปพัก เพื่อรอการถือกำเนิดขึ้น ด้วยเหตุนี้ชาวล้านนาจึงเชื่อว่าการได้ไปสักการะจะนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรืองแก่ชีวิต
อย่างไรก็ตาม คติความเชื่อดังกล่าว แท้จริงแล้วเป็นกุศโลบายอันแยบยลของปราชญ์อาจารย์ที่อยากให้ชาวพุทธล้านนาได้ระลึกถึงพระพุทธเจ้า พร้อมกับการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาและวัฒนธรรมการบูชาพระธาตุเจดีย์องค์สำคัญในวัฒนธรรมล้านนาสืบต่อไป
ความสำคัญของการสักการะพระธาตุ
การได้เข้าไปกราบสักการะพระธาตุประจำปีเกิดของเรา มีความสำคัญอยู่มากมาย ในเชิงของศาสนา นอกจากจะเป็นการระลึกถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ยังเป็นการน้อมนำจิตใจของผู้คนให้กระทำความดี เสริมสิริมงคลให้กับชีวิต ดังคำกล่าวที่ว่า “การได้เข้าไปกราบไหว้และตั้งจิตอธิษฐานอย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิต ตามความเชื่อของความล้านนาเชื่อว่า จะทำให้เกิดผลสำเร็จเป็นมงคลของชีวิต”
ขณะเดียวกันในเชิงของวัฒนธรรม การกราบสักการะพระธาตุประจำปีเกิด ยังเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ผู้คนมีความผูกพันกับพระธาตุประจำปีนักษัตรของตัวเอง อันเป็นการช่วยอนุรักษ์โบราณสถานเหล่านี้ให้อยู่คู่สังคมไทยต่อไปอีกด้วย
12 สถานที่ไหว้พระธาตุประจำปีนักษัตร
- ปีชวด (หนู) : วัดพระธาตุศรีจอมทอง จ.เชียงใหม่
- ปีฉลู (วัว) : วัดพระธาตุลำปางหลวง จ.ลำปาง
- ปีขาล (เสือ) : วัดพระธาตุช่อแฮ่ จ.แพร่
- ปีเถาะ (กระต่าย) : วัดพระธาตุแช่แห้ง จ.น่าน
- ปีมะโรง (งูใหญ่) : วัดพระสิงห์ วรมหาวิหาร จ.เชียงใหม่
- ปีมะเส็ง (งูเล็ก) : วัดโพธารามมหาวิหาร จ.เชียงใหม่
- ปีมะเมีย (ม้า) : วัดพระบรมธาตุ จ.ตาก
- ปีมะแม (แพะ) : วัดพระธาตุดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่
- ปีวอก (ลิง) : วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร จ.นครพนม
- ปีระกา (ไก่) : วัดพระธาตุหริภุญชัย จ.ลำพูน
- ปีจอ (หมา) : วัดเกตการาม จ.เชียงใหม่
- ปีกุน (หมู) : วัดพระธาตุดอยตุง จ.เชียงราย
อยู่ห่างไกล ไหว้พระธาตุประจำปีเกิดได้หรือไม่
ผู้ที่อยู่ห่างไกลจากพระธาตุประจำปีเกิดของตัวเอง หรือไม่สะดวกเดินทาง สามารถหารูปภาพหรือดาวน์โหลดรูปพระธาตุประจำปีเกิดมาไหว้ที่บ้านหรือบนมือถือได้ เนื่องจากการตั้งจิตอธิฐานถึงถือเป็นการทำบุญอย่างหนึ่งเสมือนกับการได้เดินทางไปเช่นเดียวกัน
แต่ถ้าหากได้มีโอกาสได้ไปเยือนในจังหวัดที่มีพระธาตุประจำปีเกิดของเราแล้ว อยากให้ลองเข้าไปกราบสักการบูชากันดูสักครั้ง เพราะนอกจากจะเป็นการเสริมสร้างสิริมงคล ยังสามารถแวะซื้ออาหารท้องถิ่นอร่อยๆ หรือของฝากติดไม้ติดมือกันกลับมาได้ด้วย
บทสวดพระธาตุรวม
แม้บทสวดการไหว้พระธาตุแต่ละพื้นที่จะไม่เหมือนกัน แต่บางทีชาวล้านนาก็จะกล่าวคำไหว้พระธาตุรวมทั้งหมด เพื่อเป็นการกล่าวระลึกถึงพระธาตุทั้งหมด ที่ประดิษฐาน ณ สถานที่ต่างๆ เพื่อน้อมระลึกถึงเจดีย์ที่เป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้า โดย หลวงพ่อเกษม เขมโก ได้ระบุคำกล่าวไว้ดังนี้
"วันทามิ เจติยัง สัพพัฏฐาเนสุ
ปะติฏฐิตา สะรีระธาตุง มะหาโพธิง
พุทธะรูปัง สะกะลัง สะทา นาคะโลเก
เทวะโลเก ตาวะติงเส พรัหมะโลเก
ชัมภูทีเป ลังกาทีเป
สะรีระธาตุโย เกสาธาตุโย อะระหันตา
ธาตุโย เจติยัง คันธะกุฏิ จตุราสี-
ติสะหัสสะธัมมักขันธา ปาทะเจติยัง
นะระเทเวหิ ปูชิตา อะหัง วันทามิ
ธาตโย อะหัง วันทามิ ทูระโต
อะหัง วันทามิ สัพพะโส"
ขอบคุณข้อมูล : ผศ.ดร.วันชัย พลเมืองดี, หลวงพ่อเกษม เขมโก และ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
เปิดประวัติ และความสำคัญของ "วันอาสาฬหบูชา" และคำว่า "อาสาฬหบูชา"
"เข้าพรรษา 2567" ไขความกระจ่าง ทานข้าวก่อนพระฉันบาปหรือไม่ ?