เสนอรัฐทบทวนกักตัว นทท.ในประเทศ
ภาคเอกชน เสนอรัฐบาล ทบทวนมาตรการกักตัวนักท่องเที่ยวในประเทศ พร้อมเร่งช่วยเหลือธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ
หุ้นไทย (4 ก.พ.64) ปิดการซื้อขาย 1,482.98 จุด เพิ่มขึ้น +1.23 จุด แรงหนุนหุ้นกลุ่มธนาคาร
ผลกระทบการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบสอง ทำให้รายได้ของภาคธุรกิจที่เริ่มจะดีขึ้น กลับหดตัวลงอีกครั้ง ผู้ค้าในร้านค้าเชิงพาณิชย์ของสนามบินดอนเมือง ซึ่งใช้เป็นสนามบินภายในประเทศ ร้องเรียนว่า หลังจากเดือน ม.ค.2564 ผู้โดยสารหายหมด เพราะมาตรการกักตัว ศบค.และกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งน่าจะทบทวนมาตรการบังคับ การกักตัวของผู้โดยสารในประเทศใหม่ เพราะถ้าไม่มีคนในประเทศเดินทางอีก ก็ยิ่งจะเป็นการซ้ำเติมผู้ประกอบการทั้งหลายมากขึ้น ไม่เฉพาะแต่การไม่มีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเท่านั้น ขณะที่เที่ยวบินในประเทศก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง
ด้าน นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ กล่าวว่า เห็นด้วยกับข้อเสนอให้รัฐบาล ทบทวนมาตรการกักตัวผู้โดยสารในประเทศที่ประสงค์จะเดินทางไปท่องเที่ยวในจังหวัดที่ไกลๆและเป็นแหล่งสำคัญของการท่องเที่ยวในประเทศ ยกตัวอย่าง สมมติไปจากกรุงเทพฯต้องถูกกักตัวเมื่อไปถึงภูเก็ต 14 วัน และกลับมาถูกกักตัวอีก 14 วัน รวมเป็น 28 วัน ก็คงเป็นเรื่องยากที่จะมีใครไป หรือ ยกครอบครัวไปเที่ยว หรือแม้แต่จะไปดูงาน ไปประชุมเพียงวันเดียว หรือ คืนเดียวกลับ ก็เป็นเรื่องลำบากที่จะเดินทางไป เพราะมาตรการถูกกักตัวนั่นเอง
ส่วน สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส หรือ บมจ.การบินกรุงเทพ (BA) ซึ่งเป็นกิจการในเครือ ก็ได้รับผลกระทบ นพ.ปราเสริฐ กล่าวว่า ปกติเคยบินวันละ 10 เที่ยว ปัจจุบันลดลงเหลือ 1 เที่ยว เพราะไม่มีผู้โดยสารเลย บางวันมีผู้โดยสารเพียง 3-4 คน บริษัทก็จำเป็นต้องยกเลิกเที่ยวบิน เพราะไม่คุ้มกับค่าใช้จ่าย
นพ.ปราเสริฐ กล่าวด้วยว่า มาตรการให้ความช่วยเหลือจากภาครัฐที่มุ่งไปสู่บุคคลทั่วไปอย่างเดียว ก็อาจจำเป็นต้องกลับมาทบทวนว่าถ้าให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) เพื่อช่วยผู้ประกอบการไม่ให้ปลด หรือเลิกจ้างพนักงานก็น่าจะเป็นการช่วยเหลือโดยตรงเพื่อให้ผู้ประกอบการอยู่รอด เพราะพนักงานก็จะอยู่รอดไปด้วย