8 ก.พ.นี้ คลังเปิดทบทวนสิทธิ “เราชนะ”
เคาะแล้ว! วันลงทะเบียนรับเงินเยียวยา 4,000 บาท สำหรับประกันสังคม มาตรา 33 โครงการ “ม.33 เรารักกัน” เริ่ม 16 กุมภาพันธ์นี้ ขณะที่วันนี้ กระทรวงการคลังเริ่มโอนเงิน “เราชนะ” ล็อตแรกแล้ว 9,400 ล้านบาท รวมถึงประกาศผลผู้ที่ผ่านการคัดกรอง ในกลุ่มฐานข้อมูลโครงการคนละครึ่ง และเราเที่ยวด้วยกัน แต่ผู้ที่ไม่ผ่านการคัดกรองบางส่วน ยังข้องใจในเกณฑ์การพิจารณา โดยเฉพาะฐานรายได้ในปี 2562 ที่ห้ามเกิน 3 แสนบาท เพราะคนส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบในปี 2563
ผ่าน "เราชนะ" จากแอปฯ เป๋าตัง 8.39 ล้านคน
วันนี้ ( 5 ก.พ.64) กระทรวงการคลัง ได้โอนเงินใน โครงการเราชนะ ให้แก่กลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐกว่า 13.8 ล้านคน เป็นที่เรียบร้อยแล้ว รวมวงเงินกว่า 9,400 ล้านบาท ซึ่งกลุ่มอื่นๆ ก็จะทยอยคัดกรองเยียวยากันตามกำหนด แต่วันนี้ก็พบปัญหาเรื่องการใช้เงินเราชนะ โดยธนาคารกรุงไทยแจ้งว่า ขอปิดการใช้สิทธิโครงการเราชนะ สำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และการรับชำระสิทธิผ่านแอปพลิเคชั่นถุงเงินชั่วคราว เพื่อดำเนินการปรับปรุงระบบ
นอกจากนี้ ยังได้เปิดให้กลุ่มประชาชนที่อยู่ในระบบฐานข้อมูลโครงการคนละครึ่ง และเราเที่ยวด้วยกัน ตรวจสอบสิทธิเงินเยียวยา ผ่านทาง www.เราชนะ .com หลังผลตรวจสอบจาก 16.8 ล้านคน มีผู้ผ่านเกณฑ์ “เราชนะ” ทั้งสิ้น 8.39 ล้านคน กลุ่มที่ไม่ผ่านสิทธิ ส่วนใหญ่จะเป็นพนักงานรัฐ ข้าราชการ ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 รวมถึง ผู้มีรายได้สูง ทั้งกลุ่มที่มีรายได้เกิน 3 แสนบาท และเงินฝากธนาคารเกิน 5 แสนบาท
โดยกลุ่มประชาชนที่ "ไม่ผ่านการคัดกรองคุณสมบัติ" สามารถยื่นทบทวนสิทธิเราชนะ ได้ทาง www.เราชนะ.com เท่านั้น ตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ - 8 มีนาคม 64 และสามารถตรวจสอบผลการทบทวนสิทธิได้ทางเว็บไซต์ดังกล่าวเช่นเดียวกัน ซึ่งกระทรวงการคลังจะนำข้อมูลไปคัดกรองใหม่อีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ในโลกออนไลน์พูดถึงประเด็นการใช้เกณฑ์เยียวยาสำหรับกลุ่มคนละครึ่ง และเราเที่ยวด้วยกันจำนวนมาก เนื่องจากพบว่ามีการใช้เกณฑ์ฐานรายได้ปีภาษี 2562 คือ ต้องมีรายได้ไม่เกิน 3 แสนบาท ไม่ตรงกับช่วงที่เดือดร้อน ขณะที่บางคนก็ไม่มีประกันสังคม เนื่องจากออกจากงานและตกงานในช่วงนี้
หนึ่งในกรณีตัวอย่างของคนที่ไม่ได้รับสิทธิ์จากโครงการ “เราชนะ” เนื่องจากเกณฑ์รายได้ของปี 2562 เป็นผู้มีเงินได้พึงประเมินเกิน 3 แสนบาท นายสายชล ชูชื่น ผู้ประกอบอาชีพมัคคุเทศก์ ภาษาจีน เปิดใจกับทีมข่าวพีพีทีวีว่า ตกงานตั้งแต่มีวิกฤติโควิดต้นปี 2563 รายได้หายไปเป็นศูนย์ทันที จนตอนนี้ก็ยังไม่มีงานให้กลับไปทำ
ดังนั้น เกณฑ์ที่รัฐบาลใช้ถือว่าตีตายอาชีพด้านการท่องเที่ยวโดยทันที เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องและไม่สะท้อนความเป็นจริง เพราะปี 2563 ไม่มีรายได้เลย จึงอยากให้ภาครัฐหันมาเหลียวแลคนที่ยังไม่ได้รับสิทธิ์ แต่มี
ความเดือดร้อนจริง เพราะรายได้ในปัจจุบันไม่มีเลย แต่หนี้สินไม่ได้หยุดตามไปด้วย ยังคงต้องผ่อนใช้หนี้อยู่ในทุกเดือน
โดยนายสายชล ยอมรับว่า ทุกวันนี้ชีวิตต้องออกไปขายของเพื่อประทังชีวิต ต้องจำกัดตัวเองว่าให้ใช้เงินวันละไม่เกิน 30 บาท ตรงไหนประหยัดได้ก็ต้องทำ นอกจากนี้ ยังตั้งคำถามกับรัฐบาลว่า การที่รัฐใช้หลักเกณฑ์แบบนี้ คือ คนดีที่เสียภาษีถูกต้องจะไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาจากภาครัฐหรือไม่ กลับกันในทุกอาชีพที่มีคนหลบเลี่ยงภาษี แต่ได้รับสิทธิ์การดูแลจากรัฐ งั้นต่อไปให้ทุกคนพยายามเลี่ยงภาษีอย่างนั้นใช่หรือไม่
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงว่า สำหรับกลุ่มที่ไม่ได้รับสิทธิ์ แต่มั่นใจว่าตนเองเข้าข่ายการได้รับเงิน ให้เริ่มยื่นขอทบทวนสิทธิ์ได้ตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์นี้ โดยเฉพาะการใช้ฐานภาษีในปี 2562 ทำการประเมิน แต่มีประชาชนได้รับผลกระทบตกงานในปี 2563 ซึ่งการตกงานสำหรับผู้ทำงานในบริษัทเอกชน ได้รับการดูแลจากกองทุนประกันสังคมอยู่แล้ว เมื่อการยื่นแบบภาษีในปี 2563 ต้องยื่นแบบในปี 2564 ซึ่งได้ขยายเวลาออกไปถึงสิ้นเดือนมิถุนายน และยังยื่นแบบกันไม่ครบ จึงไม่รับรู้ข้อมูลฐานตกงาน รัฐบาลจึงต้องใช้ฐานภาษีปี 2562 ไปก่อน ยืนยันว่า รัฐบาลจะให้การช่วยเหลือครอบคลุมทุกกลุ่ม
สำหรับกลุ่มประชาชน ที่ไม่มีมือถือ เตรียมลงทะเบียนผ่าน ธนาคารกรุงไทย เริ่มในวันที่ 15 กุมภาพันธ์นี้ เพราะขณะนี้ยอดที่ต้องให้การช่วยเหลือไม่มากแล้ว จึงมอบหมายให้ ธ.กรุงไทย รับลงทะเบียนเพียงแห่งเดียวไปก่อน โดยจะมีแนวทางการใช้เงินผ่านบัตรพิเศษ เพื่อให้ใช้เงินสดผ่านออนไลน์ผ่านแอปฯ เป๋าตัง
สำหรับกลุ่มประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในระบบประกันสังคม มาตรา 33 ที่อยู่ในระบบฐานข้อมูลโครงการคนละครึ่ง และเราเที่ยวด้วยกัน และได้ตรวจสอบสิทธิเงินเยียวยา ผ่านทาง www.เราชนะ .com แล้วพบว่า "ไม่ผ่านการคัดกรองคุณสมบัติ" อย่าเพิ่งเสียใจ เพราะยังมีเงินเยียวยา 4,000 บาท จากโครงการ ม.33 เรารักกัน แต่จริงๆแล้วการเช็คจาก เราชนะ ในวันนี้ ท่านจะรู้สิทธิ์ว่าได้รับ หรือ ไม่ได้รับ ทันที แต่จะรู้ได้อย่างไร ...
ตัวอย่างที่ 1 กรณีเช็คสิทธิ์ เราชนะ แล้วระบบขึ้นว่า ท่านเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 แห่งกฎหมายประกันสังคม แสดงว่า ท่านจะได้สิทธิ์เงิน 4,000 บาท จาก ม.33 เรากันกัน
ตัวอย่างที่ 2 กรณีเช็คสิทธิ์ เราชนะ แล้วระบบขึ้นว่า ท่านเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 แห่งกฎหมายประกันสังคม และ ท่านเป็นผู้มีรายได้พึงประเมินเกิน 3 แสนบาท (ปีภาษี 2562) แสดงว่า ท่านจะได้สิทธิ์เงิน 4,000 บาท จาก ม.33 เรากันกัน
ตัวอย่างที่ 3 กรณีเช็คสิทธิ์ เราชนะ แล้วระบบขึ้นว่า ท่านเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 แห่งกฎหมายประกันสังคม และ ท่านเป็นผู้มีรายได้พึงประเมินเกิน 3 แสนบาท (ปีภาษี 2562) และท่านมีบัญชีเงินฝากรวมทุกบัญชีเกิน 5 แสนบาท ( ณ 31 ธ.ค.2563) ถ้าขึ้นแบบนี้ ***ท่านจะไม่ได้รับสิทธิ์เงิน 4,000 บาท จาก “ม.33 เรากันกัน” เพราะเงื่อนไขเงินเยียวยา 4,000 บาทนี้ มีข้อกำหนดสำคัญคือ ห้ามมีเงินฝากทุกบัญชีรวมกันเกิน 5 แสนบาท
ส่วนมาตรการ เยียวยา 4,000 บาท สำหรับประกันสังคม มาตรา 33 โครงการ “ม.33 เรารักกัน” ล่าสุดนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ย้ำว่า หลักเกณฑ์การช่วยเหลือเยียวยา 4,000 บาท จ่ายสัปดาห์ละ 1,000 บาท ผ่านแอปพลิเคชั่นเป๋าตังเท่านั้น ไม่จ่ายเงินสด ผู้มีสิทธิ์ต้องเป็นผู้ประกันตน ม.33 สัญชาติไทยเท่านั้น และไม่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ประมาณ 9.2 ล้านคน
เบื้องต้น เดิมจะยื่นข้อสรุปละรายละเอียดทั้งหมดเข้าที่ประชุม ครม.ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์นี้ แต่ตนคิดว่าไม่ทัน จึงขอเลื่อนวันเป็นวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 แทน โดยระหว่างการรอยื่นเรื่องเข้า ครม. ได้มีการจัดทำเว็บไซต์เตรียมพร้อมสำหรับการลงทะเบียน “ม.33 เรารักกัน” แล้ว จะเริ่มลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 16-28 กุมภาพันธ์ 2564 หลังจากนั้นวันที่ 1 -7 มีนาคม จะมีการตรวจสอบสิทธิ และ 8-14 มีนาคม จะให้ประชาชนยืนยันตัวตนบนแอบพลิเคชั่นเป๋าตัง และเงินจะเริ่มจ่ายเข้าแอบฯ ในวันที่ 15 มีนาคม - 5 เมษายน 2564 กรอบสิ้นสุดการใช้จ่ายถึง 31 พฤษภาคม 2564 เท่ากับโครงการเราชนะ
ขณะที่ การประชุมหารือ ระหว่าง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กับประธานและผู้แทนสภาองค์การลูกจ้าง และสหพันธ์แรงงาน 39 แห่ง พบว่า องค์กรแรงงานหลายแห่งต่างๆ ไม่เห็นด้วยที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เสนอเรื่องการแจกเงินเยียวยาสำหรับผู้ประกันตน ม.33 ต่อรัฐบาลเลย โดยไม่ผ่านการหารือกับองค์กรแรงงาน โดยเฉพาะในส่วนของเกณฑ์เงื่อนไขต่างๆ รวมถึง ลูกจ้างส่วนใหญ่เรียกร้องให้แจกเงินเยียวยา เป็นเงินสดมากกว่า เพราะนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายส่วน