กกร.หั่นจีดีพีเหลือ 0 ถึง -1.5 % หลังประเมินเศรษฐกิจไทยถดถอยยาว
ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบันเสนอรัฐเตรียมพร้อมมาตรการเยียวยารับมือพิษโควิดทำเศรษฐกิจซึมลึกและยาวนาน พร้อมเสนอเปิดเสรีนำเข้าวัคซีน
ที่ประชุมร่วมภาคเอกชน 3 สถาบันประกอบไปด้วย สมาคมธนาคารไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ หอการค้าไทย ปรับคาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยต่ำสุดอยู่ที่ร้อยละ 0 หรือติดลบร้อยละ 1.5 ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโควิด-19 และ มาตรการเยียวยาเศรษฐกิจของรัฐ พร้อมเสนอให้เปิดเสรีนำเข้าวัคซีน เพื่อเร่งสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ให้เอกชนจัดหายา "ฟาวิพิราเวียร์" ที่มีความต้องการสูง รวมทั้งเสนอให้ออกคำสั่งเดียวในการควบคุมสถานการณ์โควิด-19
3 ภาคเอกชน คาดเศรษฐกิจไทยหดตัว -5% ถึง -3% ชี้ ภาคธุรกิจต้องใช้เวลาอีกพอสมควรกว่าจะฟื้น
เอกชนคาด เศรษฐกิจไทยปีนี้ดิ่งลง ติดลบ 8 เปอร์เซ็นต์
นายสุพันธ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) แถลงผลการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) ว่า ที่ประชุมประเมิน เศรษฐกิจไทยเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยอีกปี จากโควิด-19 ระลอกใหม่ที่ส่งผลกระทบตลอดครึ่งปีหลัง การควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังไม่ประสบความสำเร็จ จำนวนผู้ติดเชื้อรายวัน รวมถึงจำนวนผู้ป่วยสะสมในโรงพยาบาลยังเพิ่มขึ้นในอัตราสูง หากการกระจายวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับประชาชนทั้งประเทศยังทำได้ช้า ประเมินว่ามีความเสี่ยงสูงที่ยังต้องจำกัดกิจกรรมเศรษฐกิจตลอดไตรมาสที่ 4 รวมถึงลดทอนความเป็นไปได้หรือประโยชน์ของแผนการเปิดประเทศ ดังนั้นเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีจึงอยู่ในภาวะที่ฟื้นตัวได้ยาก และ เป็นไปได้สูงที่เศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปีจะหดตัวเมื่อเทียบกับปีก่อน
กกร.จึงปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 เป็น -1.5 % ถึง 0.0% ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโควิด-19 และมาตรการเพิ่มเติมของรัฐ ด้านการส่งออก กกร. คาดว่าจะขยายตัว 10.0% ถึง 12.0% จากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวดี แต่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดูแล supply chain ไม่ให้เกิดการติดเชื้อในวงกว้าง โดยภาครัฐให้ความสำคัญเร่งด่วนกับการจัดหาวัคซีนให้กลุ่มแรงงานอย่างทั่วถึง ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ในกรอบ 1.0% ถึง 1.2% โดยมีแรงกดดันจากราคาพลังงานและค่าขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกระทบกับต้นทุนของผู้ผลิตสินค้า
นอกจากนี้ธุรกิจทุกภาคส่วนได้รับผลกระทบจากการระบาดที่ทวีความรุนแรงขึ้น การระบาดของโควิด-19 ในกลุ่มแรงงานได้เริ่มส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตและอุตสาหกรรมส่งออก ซึ่งเป็นเครื่องยนต์เดียวของเศรษฐกิจไทยตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันบูรณาการมาตรการการจำกัดวงจรของการระบาด โดยการเร่งหาวัคซีนหลักและวัคซีนทางเลือกให้เพียงพอสำหรับความต้องการของประชาชนและสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้ได้โดยเร็ว และการเร่งกระจายการตรวจหาเชื้อโดย Antigen Test Kit เพื่อคัดแยกผู้ติดเชื้อโดยเร็ว
กกร.มองว่า ภาครัฐต้องเตรียมพร้อมสำหรับการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจที่วิกฤตและถลำลึกกว่าที่คาดไว้มาก เมื่อประเมินจากภาวะเศรษฐกิจที่ถลำลึกกว่าที่คาดไว้มาก ภาครัฐจำเป็นสร้างความเชื่อมั่นโดยเตรียมความพร้อมในเรื่องของความเพียงพอของงบประมาณ เพดานหนี้สาธารณะควรขยายให้มากกว่าร้อยละ 60 ต่อจีดีพี เป็นร้อยละ 65-70 เพื่อให้เหมาะสมกับภารกิจในการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจในภาวะวิกฤต รวมไปถึงการจัดลำดับความสำคัญของงบประมาณภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยจำเป็นต้องพิจารณาแนวทางในการผ่อนคลายนโยบายการเงินและมาตรการกับสถาบันการเงินเพิ่มเติมภายใต้ข้อจำกัดที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ใกล้ระดับร้อยละ 0 เพื่อช่วยรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินของประเทศ
กกร.ประเมิณผลกระทบเพิ่มเติมเป็น 300,000-400,000 ล้านบาท (พื้นที่สีแดงเข้ม มีสัดส่วนถึง 78% ของ GDP ประเทศ) สถานการณ์ตอนนี้มีการยกระดับใกล้เคียงเมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว กิจกรรมทางเศรษฐกิจและการเคลื่อนย้ายของประชาชนลดลงมาก หากมีการล็อกดาวน์แล้วจำเป็นต้องเร่งทำมาตรการอื่นควบคู่ไปด้วย
เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพความจำเป็นทางเศรษฐกิจ และเพื่อบรรเทาผลกระทบของประชาชน เนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เสนอขอขยายระยะเวลาการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างลงร้อยละ 90 ออกไปอีก1ปี ของการจัดเก็บภาษี ปีภาษี 2565 (ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1มกราคม2565 จนถึงวันที่31ธันวาคม2565)
- เสนอภาครัฐเพิ่มสัดส่วนการค้ำประกันความเสียหายผ่านบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เป็นร้อยละ 60 ขึ้นไป เพื่อให้สถาบันการเงินสามารถปล่อยสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 มากขึ้น
- ขอกรมสรรพากร ยกเว้นภาษี SMEs 3 ปี โดยจะต้องทำบัญชีเดียวและยื่นภาษีผ่านระบบ E-Tax
- รัฐบาลควรมีคำสั่งเดียว (Single Command) ในการสั่งการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19
- เสนอให้ภาครัฐอนุญาตให้เอกชนนำเข้าวัคซีนได้อย่างเสรีโดยไม่ต้องผ่านผู้ผลิตหรือผู้แทนจำหน่ายและหน่วยงานรัฐ ภายใต้การกำกับดูแลจากภาครัฐ โดยภาครัฐเป็นผู้ออกใบสั่งซื้อและออกค่าใช้จ่าย
- ให้ อย. เร่งอนุมัติวัคซีนยี่ห้ออื่นๆ โดยไม่ต้องรอบริษัทวัคซีนนำเอกสารมายื่น เพื่อเพิ่มทางเลือกและเปิดโอกาสในการจัดหาวัคซีนมากยิ่งขึ้น
- ขอให้ภาครัฐสนับสนุนการลดหย่อนภาษี 2 เท่า สำหรับภาคเอกชนที่มีค่าใช้จ่ายในการซื้อชุดตรวจโควิด-19 แบบเร่งด่วน (Antigen Test Kit) และค่าวัคซีนป้องกันโควิด-19
- ให้เอกชนช่วยดำเนินการสนับสนุนการผลิตและจัดหายา "ฟาวิพิราเวียร์" ที่กำลังมีความต้องการสูง
- สมาคมธนาคารไทย และ ธนาคารสมาชิก ได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าทุกกลุ่มอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 ในช่วงต้นปี 2563 ทั้งมาตรการที่เป็นการช่วยเหลือเป็นการทั่วไป มาตรการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่ม