ร้านเหล้า ชี้นั่งดื่มถึง 3ทุ่ม รายได้หาย 80%
ส่วนร้านเหล้าอีกแห่งใน กทม. เผยว่า เงื่อนไขอนุญาตนั่งดื่มได้ถึง 21.00 น. ไม่สอดคล้องพฤติกรรมคนเที่ยวกลางคืน ทำให้รายได้หายไปถึง 80% แนะรัฐบาลศึกษาธุรกิจกลางคืนก่อนประกาศนโยบาย
ร้าน The Rock Pub ย่านราชเทวี กรุงเทพ หนึ่งในร้านอาหารกึ่งผับ ดนตรีสด เริ่มเปิดให้บริการ ให้ลูกค้าสามารถดื่มแอลกอฮอล์ได้แล้ว เพราะได้รับมาตรฐาน SHA
หลังจาก นายนนทเดช บูรณะสิทธิพร เจ้าของร้านนี้ ลงทะเบียนขอตราสัญลักษณ์นี้เมื่อ2สัปดาห์ก่อน และได้รับการอนุมัติภายใน 7 วัน
แต่แม้จะเริ่มกลับมาขายได้ แต่ข้อกำหนดของภาครัฐที่อนุญาตให้นั่งดื่มได้ถึง 3 ทุ่ม กลับไม่สอดคล้องกับพฤติกรรมของขาเที่ยวกลางคืน จึงเสนอให้ภาครัฐ เข้ามาศึกษาธุรกิจกลางคืนและพฤติกรรมของลูกค้าให้เข้าใจมากกว่านี้ ก่อนออกนโยบาย
ผู้ประกอบการ โอดเว็บไซต์ขอSHA ล่มบ่อย-ขอยาก
ถ.ข้าวสาร แนะรัฐควรแจ้งมาตรการก่อนเปิดประเทศ
โดยเขาอธิบายว่าพฤติกรรมลูกค้าส่วนใหญ่จะเลิกงานช่วง 5-6 โมงเย็น มารวมตัวเปิดโต๊ะช่วง 3 ทุ่มและคนจะเยอะมากช่วงเวลา 4ทุ่ม-เที่ยงคืน เพราะมีวงดนตรีสด หลังจากนั้นจะแยกย้ายกันไปต่อที่อื่น ซึ่งเงื่อนไขการที่ให้หยุดดื่มแค่ 3 ทุ่ม ทำให้ลูกค้ามาน้อย และร้านเองก็เปิดไม่คุ้มทุน เพราะร้านต้องจ่ายค่าพนักงาน ค่าเช่า ค่าไฟฟ้า ซึ่งการให้หยุดขายแอลกอฮอล์ตั้งแต่ 3 ทุ่ม-ตี1 ซึ่งเป็นช่วงที่คนกำลังใช้จ่าย รายได้หายไปถึง 80 %
ด้าน นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย มองว่า ประเด็นเรื่องที่กทม.เปิดให้ขายเหล้าได้แค่ 3 ทุ่ม และขายได้เฉพาะร้านที่มีมาตรฐาน SHA ว่า เข้าใจในบริบทของกรุงเทพมหานคร ที่อาจยังไม่พร้อมรับมือหากเปิดให้ทุกร้านขายได้ทั่วไป เนื่องจาก กทม.เป็นเมืองที่มีความซับซ้อน ความหลากหลายของประชากร และยังมีการแพร่ระบาดอยู่ จึงต้องค่อยๆผ่อนคลายตามลำดับ
ทีมข่าวตรวจสอบจากเว็ปไซต์ Thailandsha.com จำนวนร้านอาหารที่ได้มาตรฐาน SHA ในกรุงเทพมหานคร พบว่า อยู่ที่ 1,356 ร้าน ซึ่งจากการสังเกตุแม้จะมีร้านอาหารที่อยู่นอกห้าง ได้รับตราสัญลักษณ์อยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่ จะพบว่า ร้านอาหารที่อยู่ในห้างสรรพสินค้า และ ร้านอาหารเชน หรือ ร้านอาหารที่มีหลายสาขา จะมีจำนวนมาก
สำหรับมาตรฐาน SHA ย่อมาจาก Amazing Thailand Safety and Health Administration หรือ SHA เป็นความร่วมมือระหว่าง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. และกระทรวงสาธารณสุข เพื่อยกระดับมาตรฐานสินค้าและบริการ ให้ไว้เพื่อแสดงว่า ร้านได้รับมาตรฐานนี้มีความปลอดภัยด้านสุขอนามัยเพื่อนักท่องเที่ยว ซึ่ง "ร้านอาหาร" เป็น 1 ใน10 ประเภทกิจการที่สามารถขอสัญลักษณ์นี้ได้
สำหรับข้อกำหนดของร้านอาหาร สำหรับผู้ประกอบการจะมีทั้งหมด 13 ข้อ เช่น ได้รับสัญลักษณ์ Clean food good taste , จัดให้มีทางเข้าออกทางเดียว , วัดอุณหภูมิทุกคนที่เข้าออก , บันทึกประวัติพนักงาน , ลูกค้าสวมหน้ากาก100% , มีจุดล้างมือ , เว้นระยะห่าง 1 เมตร , ทำความสะอาดจุดนั่งทานอาหาร , จัดให้มีการชำระเงินออนไลน์
ส่วนข้อปฏิบัติสำหรับผู้ให้บริการ มี 6 ข้อ เช่น ผู้ปรุงอาหารต้องสวมผ้ากั้นเปื้อน ล้างมือเสมอ หากป่วยรีบไปพบแพทย์ และ หลีกเลี่ยงการรับเงินโดยตรง หากร้านค้า ที่อยากลงทะเบียนเพื่อรับตราสัญลักษณ์ SHA ขอได้ไม่เสียค่าใช้จ่าย ที่ https://web.thailandsha.com และทำตามขั้นตอน 6 ขั้นตอน เริ่มที่สมัครสมาชิก ลงทะเบียน เลือกประเภทกิจการ กรอกข้อมูล ตรวจสอบสถานะ รอบรับSHA และหลังจากนั้นจะต้องถูกสุ่มตรวจจากคณะกรรมการฯ อีกด้วย
ส่วนการจัดกิจกรรมเคาว์ดาวน์ของภาคเอกชน ด้านนางสาวภัทรพร เพ็ญประสิทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มส่งเสริมธุรกิจ ฝ่ายการตลาดบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ทางศูนย์การค้า อยู่ระหว่างหารือ กลับกรุงเทพฯและททท. ถึงรูปแบบการจัดงานเคาท์ปีนี้ รวมถึงการจัดลานเบียร์ ที่ยังมีข้อจำกัดในเรื่องกินดื่มตามเวลาที่กทม.กำหนด ซึ่งหากจะกลับมาจัดเคานต์ดาวน์คงต้องปลดล็อคข้อจำกัดนี้ก่อน