พีพีทีวีสัญจร ครั้งที่ 2 ฝ่าวิกฤตโควิด ฟื้นเศรษฐกิจไทย 65 "มุมมองเศรษฐกิจ-ท่องเที่ยว-อุตสาหกรรม"
สถานีโทรทัศน์พีพีทีวี เอชดี ช่อง 36 จัดกิจกรรม “พีพีทีวีสัญจร ครั้งที่ 2” เปิดเวทีเสวนา ภายใต้หัวข้อ “ฝ่าวิกฤตโควิด ฟื้นเศรษฐกิจไทย 65” โดยมี นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ร่วมกล่าวปาฐกถาพิเศษ พร้อมเปิดเวทีร่วมถกประเด็นร้อนกับ สุทธิชัย หยุ่น
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึง สถานการณ์เศรษฐกิจของไทย โดยระบุว่า ปี 2564 รัฐบาลจะรักษาให้เติบโตไม่ให้ต่ำกว่า 1% เพราะยังอยู่ในช่วงวิกฤตของการแพร่ระบาดโควิด-19 ส่วนปี 2565 คาดว่าจะเติบโตราว 4% คำถามคือการเติบโตนั้นมาจากไหน
รมว.คลัง มั่นใจ เศรษฐกิจไทยปีหน้าโต 4% จ่อคลอดมาตรการกระตุ้นเพิ่ม
พีพีทีวีเปิดเวทีถกประเด็น “ฝ่าวิกฤตโควิด ฟื้นเศรษฐกิจไทย 65” ในพีพีทีวีสัญจร ครั้งที่ 2
รมว.คลัง ร่วมปาฐกถาพิเศษPPTVสัญจรครั้งที่2
ข้อที่ 1 คือ อัตราการเติบโตมาจากภาครัฐบาล เป็นผู้ใช้จ่ายเงิน ในปี 2565 จะเกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเม็ดเงินลงทุน อยู่ที่ 1 ล้านล้านบาท
โดยเน้นการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคมขนส่งสาธารณะ การขนส่งสินค้า ประมาณ 6 แสนล้านบาท รัฐวิสาหกิจ 3 แสนล้านบาท พ.ร.ก.เงินกู้ ฉบับที่ 2 เม็ดเงินคงเหลือราว 2.5 แสนล้าน จากกรอบวงเงิน 5 แสนล้านบาท
ต่อมาคือ ภาคส่งออก การต่างประเทศ ซึ่งแรงเหวี่ยงจะมีความต่อเนื่องในปีหน้า (65) ไปจนถึงการค้าชายแดน โดยเฉพาะสินค้าอุปโภค บริโภค ของไทยยังมีความต้องการในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะเมื่อมีการเปิดการค้าชายแดนเศรษฐกิจในต่างจังหวัดจะได้รับอานิสงค์ไปด้วย
ส่วนที่ 3 ภาคการท่องเที่ยว ไม่ได้อยู่เฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติ เนื่องจากประเทศต้นทางยังไม่ผ่อนคลายมาตรการ ความหวังจึงมาอยู่ที่การท่องเที่ยวเดินทางของคนไทยด้วยกันเอง กลุ่มการประชุมสัมมนา และโครงการภาครัฐช่วยสนับสนุน เช่น เราเที่ยวด้วยกัน เพราะฉะนั้น ภาคการท่องเที่ยวที่หายไป 40 ล้านคนนั้นคนไทยต้องช่วยกัน
และส่วนที่ 4 การใช้จ่ายในประเทศ ที่คิดเป็น 50% ของจีดีพี กำลังซื้อส่วนหนึ่งหายไปเมื่อช่วงที่ผ่านมา แต่ถูกชดเชยจากมาตรการของรัฐบาล เช่น เราไม่ทิ้งกัน เราชนะ มาตรกาสรช่วยเหลือประกันสังคม 33 39 40 มาตรการกระตุ้นต่างๆ โครงการคนละครึ่ง ก็เป็นการช่วยพยุงการใช้จ่ายของประชาชน ถ้าเศรษฐกิจฟื้นอัตราการบริโภคของเราก็ฟื้นไปด้วย ทั้งหมดล้วนอยู่ภายใต้สมมติฐานที่การฉีดวัคซีนคลอบคลุม 70-80%
นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยังกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า เรื่องที่ควรเริ่มทำตั้งแต่ปี 2565 เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
1.ด้านสิ่งแวดล้อม รัฐบาลมุ่งไปที่เรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ภายในปี 2030 โดยเป้าหมายคืออุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า ที่คาดว่าออกมาต้นปีหน้า (2565) ภาคธุรกิจต้องเริ่มเดินหน้าธุรกิจเกี่ยวกับการลดปัญหาสิ่งแวดล้อม
2.ด้านดิจิทัล ซึ่งมาตรการโครงการต่างๆ ของรัฐบาล เช่น คนละครึ่ง เราชนะ การลงทะเบียนบัตรสวัสดิการต่างๆ ฯลฯ นำแอปพลิเคชันต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วม ล้วนเกี่ยวข้องการนำดิจิทัลเข้ามาใช้เพื่อช่วยในการจับจ่ายของประชาชน
3.การใช้มาตรการการคลัง มาตรการทางภาษีในการส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพให้เติบโตเร็วขึ้นกว่าในปัจจุบัน
4. การมุ่งเน้นไปที่การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (aging society) สนับสนุนภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง โดยรัฐบาลนำร่องไปบางส่วน เช่น การรักษาพยาบาลเพื่อดูแลผู้สูงอายุ
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการส่งเสริมการลงทุน พื้นที่เขตเศรษฐกิจ EEC ยังมีอยู่ มาตรการด้านภาษีต่างๆ ที่ทยอยออกมาตามลำดับ
ปีหน้า (2565) จะเห็นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไหม ฟื้นเร็วฟื้นช้าขอให้ฟื้น ฟื้นอย่างมั่นคง ในปี 2565 อยากเห็นรายได้เพิ่มขึ้น ทุกคนต้องช่วยกันและไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดซ้ำอีก
ด้าน นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ระบุว่า ปีหน้า 2565 ต้องเปลี่ยนเกียร์ เพราะเราอาจเข้าเกียร์ถอยหลังในช่วงโควิด-19 ต่อไปจะเป็นช่วงฟื้นฟูจากวิกฤตเป็นโอกาส รายได้ภาคการท่องเที่ยวปี 2565 ขอสัก 50% จากปี 2562 โดยคาดว่าจะได้ 1.5 ล้านล้านบาท โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศตั้งเป้าไว้ที่อย่างน้อย 10 ล้านคน แม้ว่าตลาดจีนจะยังไม่กลับมา
ดังนั้น จะไม่เน้นไปที่นักท่องเที่ยวจำนวนเยอะๆ แต่จะเน้นไปที่ค่าใช้จ่ายต่อหัวสูงขึ้น โดยดูจากการเปิด ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ (Phuket Sandbox) จะเห็นว่ามีการ ใช้จ่ายต่อหัวมากขึ้นแม้จำนวนนักท่องเที่ยวไม่มาก แต่ค่าใช้จ่ายต่อหัวอยู่ที่ 70,000-80,000 บาท
รวมถึงตั้งเป้ารายได้ 80% ในปี 2566 จากปี 2562 ประมาณ 2.4 ล้านล้านบาท ภายใต้เงื่อนไขภายใต้ระบบนิเวศการท่องเที่ยวแบบใหม่ ไม่เน้นปริมาณแต่เน้นการใช้จ่ายต่อคน
ส่วนการท่องเที่ยวในประเทศ หากยังมีมาตรการโครงการต่างๆ เช่น เราเที่ยวด้วยกัน เพื่อสนับสนุนให้คนมาเที่ยว จะยิ่งสร้างขาที่มั่นคงในการเพิ่มการใช้จ่ายในประเทศ เกิดการกระจายเศรษฐกิจฐานรากไปในตัว โดยสิ่งที่ทำให้คนไทยเที่ยวมากขึ้นคือ ประสบการณ์ที่แตกต่างกันแม้จะไปที่เดิม
ดังนั้น จะไม่ส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบเดิม คือ จากที่เคยเน้นผลิตภัณฑ์ เน้นสถานที่ แต่มาเน้นที่การให้ความสำคัญกับตัวนักท่องเที่ยว สร้างประสบการณ์ที่มากกว่าเดิมและแตกต่างในทุกครั้งที่กลับไปเที่ยวที่เดิม
ถ้าสถานการณ์โอมิครอนดีขึ้นโอกาสที่จะลดภาระของการเดินทางมากขึ้น ก็จะเพิ่มโอกาสทางการตลาดให้กับประเทศแต่ต้องคำนึงถึงต้องความปลอดภัยของประชาชนเป็นหลัก
นาย สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย การเติบโตปี 65 จะถึง 4% หรือไม่ ภาคเอกชน (กกร.) ก็ประเมินใกล้เคียงกับรัฐคือ 3-4.5% ขณะที่ดัชนีภาคอุตสาหกรรมขึ้นทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ภาคอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นซึ่งเป็นมาจากการเปิดประเทศ 1 พ.ย. เพราะฉะนั้นปีหน้า (65) ซึ่งมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น เช่น ในไตรมาสสุดท้ายที่ไทยเป็นเจ้าภาพประชุมเอเปค รวมถึงการลงทุนที่นักลงทุนต่างชาติรวมถึงจีนรอกลับเข้ามาลงทุน แต่ยังมีข้อกังวล เช่น ราคาน้ำมัน ที่อาจส่งผลต่อราคาสินค้า การลงทุนที่ต้องทำให้เกิดแรงจูงใจมากขึ้น รวมถึงเรื่องค่าเงินบาทที่ยังไม่ค่อยเสถียร
นอกจากนี้ ยังเป็นห่วงอุตสาหกรรมระดับล่าง การบริการท่องเที่ยว ที่ยังน่าเป็นห่วง และลำบาก ความเหลื่อมล้ำมันสูงขึ้น ตลอดจนปัญหาเรื่องหนี้ครัวเรือน
ดังนั้นเมื่อข้างบนดีฐานรากไม่ดีมันจะทรุดได้ โดยเฉพาะเรื่องหนี้ครัวเรือน ที่อาจทำให้เศรษฐกิจไปไม่ได้ในระยะยาว เพราะฉะนั้นรัฐบาลและเอกชนต้องช่วยแก้เรื่องนี้ เช่น การเสริมสภาพคล่อง เป็นต้น เพื่อให้สามารถให้สามารถเดินหน้าธุรกิจกลับมาได้