ก๊าซ-ไข่ไก่-ข้าวสาร แห่จ่อขึ้นราคา “พาณิชย์” รับต้นทุนพุ่งจริง
กรณีปัญหาราคาน้ำมันแพง ราคาสินค้าแพง และ ราคาก๊าซหุงต้มที่เตรียมขึ้นราคา ในวันที่ 1 เมษายนนี้ โดยก๊าซขนาด 15 กิโลกรัมต่อถัง ราคาขึ้น 15 บาท จาก 318 บาท เป็น 333 บาท ยิ่งทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นไปอีก
"ระเบียบโลกใหม่" กำลังมา สงครามเศรษฐกิจมาแล้ว! แต่สงครามจริงยังไม่เกิด
“พาณิชย์” รับวิกฤตในยูเครน ดันต้นทุนอาหารสัตว์พุ่ง เร่งหารือ “เกษตร” รับมือผลกระทบ
เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2565 ทีมข่าว PPTV ลงพื้นที่สำรวจราคาก๊าซหุงต้ม ที่ร้านสุทธิสารแก๊ส ย่านซอยประชาสงเคราะห์ 45 กรุงเทพมหานคร นายประกิตติ์ อภิราชจิต เจ้าของร้าน เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันนี้ที่ 1 เมษายนนี้ ทางร้านต้องปรับขึ้นราคาแก๊สหุงต้ม 1 บาท/กิโลกรัม ซึ่งการขึ้นราคารอบนี้ เป็นการขึ้นราคาเยอะที่สุดในรอบหลายปี เพราะปกติแล้วจะปรับขึ้น 60-80 สตางค์/กิโลกรัมเท่านั้น แน่นอนว่าต้องกระทบต่อผู้บริโภค
นายประกิตติ์ ระบุอีกว่า เพราะตอนนี้ลูกค้ามีกำลังซื้อน้อยลง ทำให้การสั่งก๊าซหุงต้มไปประกอบอาหารลดลงตาม ปกติที่ร้านจะขายก๊าซ 60-70 ถังต่อวัน ซึ่งบางวันก็ขายหมด แต่บางวันก็เหลือค้างสต๊อก 15-16 ถัง ยอมรับว่าช่วงเวลานี้เศรษฐกิจไม่ดี ทำให้การค้าขายเงียบกว่าปีก่อนเกิดโควิด-19
นอกจากก๊าซหุงต้มที่จะปรับขึ้นราคาแล้ว ไข่ไก่ และ ข้าวสาร เตรียมขอปรับราคาขึ้นด้วย โดยเมื่อ 11 มี.ค. ที่ผ่านมา สมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ ได้ยื่นหนังสือถึงกรมการค้าภายใน ขอปรับขึ้นราคาไข่คละหน้าฟาร์ม จากปัจจุบันขายที่ 3.10 บาท/ฟอง ซึ่งจะต้องมีการหารือร่วมกันว่าจะปรับขึ้นเป็นฟองละเท่าไหร่ สาเหตุที่ยื่นขอปรับขึ้นราคาเนื่องจากแบกรับต้นทุนอาหารสัตว์ที่ปรับเพิ่มต่อเนื่องรายวันไม่ไหว โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ระบุว่า ตอนนี้ราคาข้าวในตลาดโลกปรับเพิ่มขึ้น จาก
395 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน เป็น 420-425 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน จากความกังวลสถานการณ์ระบาดของโควิดในประเทศคู่ค้า อย่าง ฮ่องกง สิงคโปร์ ประกอบกับราคาข้าวสาลีแพงขึ้นจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ราคาธัญพืชสูงขึ้น และส่งผลให้ราคาข้าวไทยปรับเพิ่มสูงขึ้นตามธัญพืชตัวอื่นๆ โดยราคาข้าวสารในประเทศ ปรับเพิ่มขึ้น จากกิโลกรัมละ 11 บาท 50 สตางค์ ในเดือนก.พ.ที่ผ่านมา เป็นกิโลกรัมละ 13 บาทในเดือนนี้
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ต้นทุนราคาสินค้าพุ่งจริง ทำให้เอกชนบางรายทำหนังสือขอปรับราคาสินค้าขึ้น โดยเฉพาะอาหารกระป๋อง ที่ต้นทุนกระป๋องปรับขึ้นถึง 40% แต่ทางกระทรวงพาณิชย์ยังไม่มีการอนุมัติให้ปรับขึ้น โดยจะพิจารณาตามข้อเท็จจริงของแต่ละรายการว่าสามารถปรับได้แค่ไหน พร้อมกำชับให้กรมการค้าภายในตรวจสอบราคาสินค้าทั้ง 18 อย่าง ที่เกี่ยวข้องกับการอุปโภค – บริโภค เช่น เนื้อหมู ไข่ไก่ บะหมี่กึ่งสำเร็จจรูป อย่างใกล้ชิด