คน Gen Y 12 ล้านคน หนี้เสีย 3 แสนล้าน กับ 4 ข้อที่ต้องคิดก่อนซื้อบ้าน
คนไทย Gen Y 12 ล้านคน สะสมหนี้ 4.5 ล้านล้าน หนี้เสีย 3 แสนล้าน กับ 4 ข้อที่ต้องคิดก่อนซื้อบ้าน
ผู้บริโภคกลุ่มมิลเลนเนียล (Millennials) หรือ Gen Y (ผู้ที่เกิดช่วงปี พ.ศ. 2527–2539) เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ โดยข้อมูลจาก MSCI เผยว่าปัจจุบันทั่วโลกมีประชากรกลุ่มนี้กว่า 1.8 พันล้านคน คิดเป็น 23% ของประชากรทั่วโลก โดยในทวีปเอเชียมีประมาณ 1.1 พันล้านคน หรือคิดเป็น 24% ของประชากรในภูมิภาค
น้ำมันเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม เนื้อหมู ดันเงินเฟ้อ มิ.ย. 65 แตะร้อยละ 7.66
ต้นทุนพุ่งดันราคา 'นิสสัน อัลเมร่า' ปรับขึ้นทุกรุ่นย่อย
สำหรับคนไทยช่วงวัยดังกล่าวกว่า 12 ล้านคนจากประชากรในประเทศกว่า 64 ล้านคน (แยกตามจำนวนประชากรที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านและมีสัญชาติไทย)
เป็นกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ เพราะเป็นกลุ่มวัยทำงาน มีความต้องการ มีกำลังซื้อสูง รวมทั้งเป็นช่วงวัยที่เริ่มเป็นเจ้าของทรัพย์สินมูลค่าสูงอย่างเช่น รถยนต์ คอนโดมิเนียม หรือบ้าน
กำลังซื้อสูง แต่ภาระหนี้สินก็สูงตามไปด้วย
ผู้บริโภคกลุ่มมิลเลนเนียลถือเป็นกลุ่มที่มีหนี้สะสมและหนี้เสียสูงที่สุด โดยมียอดหนี้รวมทั้งประเทศจากกลุ่มนี้ถึง 4.5 ล้านล้านบาท และมีอัตราการเป็นหนี้เสียสะสม 3 แสนล้านบาท สะท้อนให้เห็นว่าแม้จะมีกำลังซื้อสูง แต่ภาระหนี้สินก็สูงตามไปด้วย ทำให้กลุ่มมิลเลนเนียลต้องปรับแผนการเงินในยุคเงินเฟ้อให้รัดกุมมากขึ้น ซึ่งรวมถึงวางแผนการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยอย่างรอบคอบ แม้ตอนนี้จะถือเป็นโอกาสที่เหมาะสมในการซื้อบ้าน/คอนโดฯ เนื่องจากได้รับปัจจัยบวกจากมาตรการสนับสนุนการซื้อที่อยู่อาศัยจากภาครัฐ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าสภาพคล่องทางการเงิน รวมทั้งราคาวัสดุก่อสร้างที่มีแนวโน้มปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต เพราะฉะนั้นหลังเผชิญภาวะเศรษฐกิจเปราะบางและเงินเฟ้อยังพุ่งสูงทำให้ผู้บริโภคกลุ่มมิลเลนเนียลต้องพิจารณา
โฟกัสเงินสำรองฉุกเฉิน หวังสร้างความมั่นคงทางการเงิน
สถานะทางการเงินของผู้บริโภคยังคงสั่นคลอนอย่างต่อเนื่อง นอกจากโควิด-19 จะส่งผลให้เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวในอนาคตอันใกล้ รวมถึงสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย - ยูเครน ที่ทำให้ราคาสินค้าและพลังงานปรับตัวเพิ่มขึ้น พร้อมกับภาวะเงินเฟ้อที่สูงต่อเนื่อง จึงกลายเป็นความท้าทายที่ส่งผลให้ผู้บริโภคต้องเตรียมแผนการเงินให้พร้อมรับมือทุกสถานการณ์ โดยเฉพาะในกลุ่มมิลเลนเนียลซึ่งอยู่ในช่วงวัยที่เป็นเสาหลักของครอบครัว ทำให้การวางแผนใช้จ่ายในช่วง 1 ปีข้างหน้าของกลุ่มมิลเลนเนียลส่วนใหญ่ให้ความสำคัญไปที่ การสร้างความมั่นคงทางการเงินมากที่สุด มากกว่าครึ่ง (57%) ต้องการเก็บเงินไว้เป็นกองทุนเงินสำรองฉุกเฉิน เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดในอนาคต ตามมาด้วยนำไปใช้จ่ายภายในครอบครัว (47%) และออมเงินเพื่อนำไปชำระหนี้ที่ค้างอยู่ (45%) ด้านการออมเงินเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยนั้นได้รับความสนใจมาเป็นอันดับสี่ (39%) สะท้อนให้เห็นว่ากลุ่มมิลเลนเนียลยังต้องการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัย เพียงจัดลำดับความสำคัญในการใช้จ่ายและรอให้มีความพร้อมทางการเงินมากพอเสียก่อน
4 จุดที่ GEN Y ต้องพิจารณเมื่ออยากซื้อบ้าน
ห่วงพ่อแม่–ขาดสภาพคล่อง-ครองความโสด
เหตุผลหลักที่ไม่ย้ายออก เมื่อพูดถึงความพร้อมในการย้ายออกไปซื้อที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเองนั้น พบว่า ภายในหนึ่งปีข้างหน้ามากกว่าครึ่งของผู้บริโภคกลุ่มมิลเลนเนียล ยังไม่พร้อมย้ายออกจากบ้านพ่อแม่ (54%) เช่นเดียวกับข้อมูลจากแบบสอบถามฯ รอบก่อน โดยมีเหตุผลสำคัญคือ ต้องการดูแลพ่อแม่อย่างใกล้ชิด (36%) สะท้อนให้เห็นว่าแม้คนรุ่นใหม่จะมีแนวคิดสมัยใหม่ตามโลกที่เปลี่ยนแปลงไป แต่การปลูกฝังความกตัญญูในสังคมไทยยังคงอยู่
นอกจากนี้ เป็นประเด็นมีเงินเก็บไม่มากพอที่จะเช่าหรือซื้อที่อยู่อาศัยที่ต้องการได้ (34%) เนื่องจากความท้าทายทางเศรษฐกิจและปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ ล้วนส่งผลกระทบต่อการเงินโดยตรง ตามมาด้วยยังไม่ได้แต่งงาน (30%) จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องย้ายออกจากบ้านพ่อแม่ ซึ่งเทรนด์การครองตัวเป็นโสดนี้กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้น เห็นได้จากข้อมูลสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครองเผยว่า ในปี 2564 มีสถิติการจดทะเบียนสมรสทั่วประเทศเพียง 240,979 คู่ ลดลงจากปี 2563 ที่มีการจดทะเบียนสมรสถึง 271,352 คู่ และ 328,875 คู่ในปี 2562
หวังภาครัฐลดหย่อนภาษี กระตุ้นคนซื้อบ้าน
มาตรการจากภาครัฐ 3 อันดับแรกที่กลุ่มมิลเลนเนียลต้องการคือ มาตรการลดหย่อนภาษีสำหรับผู้ซื้อบ้าน ตามมาด้วยการปรับระเบียบข้อบังคับภาครัฐที่ช่วยให้เข้าถึงสินเชื่อบ้านได้ง่ายขึ้น และมาตรการควบคุมราคาที่อยู่อาศัยที่บังคับใช้โดยภาครัฐ ซึ่งมาตรการเหล่านี้ไม่เพียงจะช่วยส่งเสริมให้กลุ่มมิลเลนเนียลที่อยากมีบ้าน/คอนโดฯ ได้เป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยสมใจแล้ว ยังกระตุ้นการตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ตลาดอสังหาฯ ไทยกลับมาคึกคักอีกครั้ง
นอกจากนี้ เมื่อเจาะลึกถึงรูปแบบอสังหาฯ ที่กลุ่มมิลเลนเนียลต้องการซื้อนั้นมีความคล้ายคลึงกับผู้บริโภคช่วงวัยอื่น โดยบ้านเดี่ยวได้รับความนิยมมากที่สุด ตามมาด้วยคอนโดฯ ส่วนอันดับ 3 เป็นที่ดิน ต่างจากช่วงวัยอื่นที่สนใจซื้อทาวน์เฮ้าส์ สะท้อนให้เห็นว่ากลุ่มมิลเลนเนียลได้ศึกษาข้อมูลการลงทุนอสังหาฯ มากขึ้น เนื่องจากที่ดินเปล่านั้นมีจุดเด่นตรงที่ความเสี่ยงต่ำและมูลค่าเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จึงถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าในยุคเงินเฟ้อ
ร่วมลดมลพิษด้วยรถยนต์ไฟฟ้า มาตรการสนับสนุนให้มีการใช้และผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศ
เปิดโอกาสให้ผู้บริโภคสามารถเป็นเจ้าของรถยนต์ไฟฟ้าได้ง่ายขึ้น นอกจากจะช่วยลดมลพิษในอากาศแล้วยังช่วยประหยัดค่าน้ำมันในช่วงที่ราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้นได้เป็นอย่างดี ดังนั้น นอกจากที่อยู่อาศัยในฝันจะมาพร้อมฟังก์ชั่นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว กลุ่มมิลเลนเนียลยังคำนึงถึงความพร้อมหากต้องการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคตอีกด้วย โดยมากกว่า 2 ใน 3 ของกลุ่มมิลเลนเนียลเผยว่า ยินดีที่จะจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเพื่อซื้อบ้าน/คอนโดฯ ที่มีจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นในกลุ่มที่มีรายได้สูง
นอกจากนี้ ความช่วยเหลือในการเป็นเจ้าของรถยนต์ไฟฟ้าที่คาดหวังจากภาครัฐและผู้พัฒนาอสังหาฯ คือ การเข้าถึงจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าครอบคลุมทั้งโครงการที่อยู่อาศัยและห้างสรรพสินค้าใหม่ทั้งหมด รวมไปถึงเพิ่มความพร้อมในการให้บริการจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในที่จอดรถสาธารณะและที่จอดรถส่วนตัว ซึ่งจะช่วยให้การเดินทางด้วยรถยนต์ไฟฟ้าราบรื่นและสะดวกยิ่งขึ้น ลดอุปสรรคเมื่อต้องการชาร์จไฟระหว่างเดินทาง
ข้อมูลจาก : ข้อมูลจากสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง ณ เดือนพฤษภาคม 2565 / ข้อมูลจากบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) / ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ (DDproperty)