กางแผนใช้หนี้ 7 ปี เงินกู้กองทุนน้ำมัน 1.5 แสนล้านบาท
ครม.อนุมัติ เงินกู้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 1.5 แสนล้านบาท ทยอยกู้ 8 ครั้ง และชำระคืนภายใน 7 ปี เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศ ล่าสุดกองทุนฯสถานะติดลบแล้ว 1.25 แสนล้านบาท
อนุมัติแผนพัฒนารสก. 4 ปี ดันลงทุน 184 โครงการ วงเงิน 2.9 ล้านล้านบาท
อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง "ต่างด้าวครองที่ดินได้"
เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2565 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติแผนการกู้เงิน แผนการใช้จ่ายเงินกู้ และแผนการชำระหนี้ของการกู้ยืมเงิน โดยสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) วงเงิน 150,000 ล้านบาท
โดยมอบให้คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง สามารถพิจารณาปรับแผนการกู้เงิน และแผนการใช้จ่ายเงินกู้
รวมถึงแผนการชำระหนี้ตามความเหมาะสมเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ฐานะการเงินของกองทุน หรือสภาวะตลาดเงินในช่วงเวลานั้น ๆ โดยจะต้องสอดคล้องกับแผนการบริหารจัดการหนี้สาธารณะด้วย
ต่อมาสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ได้เสนอแผนการกู้เงินแผนการใช้จ่ายเงินกู้ และแผนการชำระหนี้ของการกู้ยืมเงิน ตามหลักเกณฑ์การกู้ยืมเงินของสำนักงานที่ ครม.เห็นชอบแล้ว เมื่อ16 ส.ค.2565 ที่ผ่านมา โดยจะทยอยกู้เงิน 8 ครั้ง วงเงิน 150,000 ล้านบาท
ขั้นตอนการกู้เงินและช้ำระหนี้แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่
- ส่วนที่ 1 (กู้ยืม ครั้งที่ 1-2) วงเงิน 30,000 ล้านบาท ตามแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2566 โดยแผนการใช้จ่ายเงินกู้ จะทยอยใช้จ่ายเงินกู้ตั้งแต่ ธ.ค 2565 – ก.พ. 2566 และจะทยอยชำระหนี้ได้ตั้งแต่ ส.ค. 2566 และชำระหนี้ครบภายใน ก.พ. 2568
- ส่วนที่ 2 (กู้ยืม ครั้งที่ 3-8) วงเงิน 120,000 ล้านบาท ทยอยดำเนินการทั้งหมด 6 ครั้ง (วงเงินที่ 3-8) โดยแผนการใช้จ่ายเงินกู้ ทยอยใช้เงินกู้ (เบิกเงินกู้) ตั้งแต่ ก.พ. – ก.ค. 2566 ทยอยชำระหนี้ได้ตั้งแต่ ก.พ. 2568 และชำระหนี้ครบภายใน ต.ค. 2572
ขณะที่การชำระหนี้การกู้ยืมเงิน 150,000 ล้านบาท จะมีแหล่งชำระคืนจาก สกนช. จากการประมาณการกระแสเงินสด ซึ่งจะสามารถชำระหนี้ได้ครบถ้วนภายใน 7 ปี โดยจะทยอยชำระหนี้คืนได้ตั้งแต่ ส.ค. 2566 และชำระหนี้ครบถ้วนภายใน ต.ค. 2572
ทั้งนี้ ณ วันที่ 16 ต.ค.2565 กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีสถานะติดลบ 125,690 ล้านบาท โดยวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิงจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยังคงยึดเยื้อ ส่งผลกระทบให้ในช่วง พ.ย.2565 - ก.พ. 2566 ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงตลาดโลกยังคงอยู่ในระดับสูงและมีความผันผวน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าอุปโภคบริโภค
รัฐบาลจึงเห็นถึงความจำเป็นจะต้องดำเนินมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ส่งผลให้กองทุนมีรายจ่ายมากกว่ารายรับ โดย ณ วันที่ 20 ต.ค. 2565 มีรายจ่ายสุทธิประมาณ 222 ล้านบาทต่อวัน หรือประมาณ 6,882 ล้านบาทต่อเดือน