เศรษฐกิจไทยปีหน้า "ฟื้นช้าและไม่ทั่วถึง" แม้ท่องเที่ยวกลับมา
KKP คาดเศรษฐกิจไทยปีหน้าฟื้นช้าและไม่ทั่วถึง แม้ท่องเที่ยวกลับมา จากความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกถดถอย ปรับคาดการณ์เหลือ 2.8% แนะจับตา 5 ความเสี่ยงสำคัญ
เศรษฐกิจโลกในปี 2023 มีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยมากขึ้น หลังจากเผชิญความเสี่ยงเงินเฟ้อสูงขึ้น ราคาพลังงานปรับเพิ่มขึ้น และการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอย่างรวดเร็วเพื่อชะลอเงินเฟ้อ ซึ่งตามการวิเคราะห์ของ KKP Research ประเมินว่า
KKP ไตรมาส 3/65 กำไรโต 41% ที่ 2,083 ล้านบาท มองเศรษฐกิจไทยเสี่ยงสูง
ไทยพาณิชย์ "ขึ้นดอกเบี้ย" ทั้งเงินฝาก-เงินกู้ มีผล 7 ธ.ค.เป็นต้นไป
เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกอย่างมากเช่นกัน ทำให้ภาคการส่งออกอาจจะหดตัวลง
โดยคาดว่าในปี 2023 เศรษฐกิจไทยจะสามารถเติบโตได้เพียง 2.8% ปรับลดลงจาก 3.6% ในการคาดการณ์ครั้งก่อน และถือว่าเป็นการเติบโตที่ช้ากว่าปีนี้
แม้จะตั้งอยู่บนการคาดการณ์ว่านักท่องเที่ยวจะกลับเข้ามาเพิ่มขึ้นเป็น 19.2 ล้านคนจาก 10 ล้านคนในปีที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นภาพการฟื้นตัวในปีหน้าว่าจะมีความแตกต่างอย่างมากระหว่างภาคบริการ และภาคการผลิต
โลกถดถอย-น้ำมันแพง-เงินเฟ้อค้าง-บาทอ่อน-ดอกเบี้ยสูง คือ 5 ความเสี่ยง
1.เศรษฐกิจไทยเติบโตได้หรือไม่หากเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย
KKP ประเมินว่า มีโอกาสที่เศรษฐกิจโลกในปีหน้าจะกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอยแบบไม่รุนแรงในช่วงไตรมาส 1-3 ซึ่งจะส่งผลให้การส่งออกของไทยในปีหน้าหดตัวลง 1.8% จากเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาต่างชาติสูง
โดยเฉพาะจากสาเหตุ 2 สาเหตุ คือ
1.อุปสงค์ของโลกที่จะปรับตัวลดลง จากสมมุติฐานว่าสหรัฐอเมริกา ยุโรป อังกฤษ และญี่ปุ่น ซึ่งนับรวมกันกว่าครึ่งหนึ่งของเศรษฐกิจโลก จะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในช่วงต้นถึงกลางปีหน้า
2.การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งขยายตัวไปอย่างมากในช่วงที่ผ่านมาได้ทำให้มีการสะสมสินค้าคงคลัง (Inventory) ไว้ในปริมาณมาก จนความต้องการซื้อสินค้าใหม่ในช่วงหลังจากนี้จะหดตัวลง อีกทั้งเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวอาจทำให้อุปสงค์ของการท่องเที่ยวลดลงได้
ยิ่งกว่านั้น เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงด้านต่ำ (downside risk) เพราะเศรษฐกิจโลกยังมีโอกาสถดถอยรุนแรงได้ โดยความเสี่ยงที่จีนจะปิดเมืองนานกว่าที่คาดจากการระบาดรอบใหม่ของโควิดจะกระทบการส่งออกและการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม แม้ในกรณีเลวร้ายเศรษฐกิจไทยน่าจะยังคงไม่โตติดลบเพราะไทยยังไม่ได้ฟื้นตัวจากโควิดมากนัก แต่ก็จะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตในระดับที่ต่ำมากโดยมีโอกาสเติบโตต่ำกว่า 2%
2. ราคาน้ำมันจะปรับตัวลดลงได้จริงหรือไม่
ในปี 2023 ตลาดเริ่มคาดการณ์ว่าแรงกดดันจากเงินเฟ้อจะลดลงตามราคาน้ำมันที่อาจชะลอลงโดยเฉพาะเมื่อเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย KKP Research ประเมินว่ายังมีความเสี่ยงที่ราคาน้ำมันอาจจะเร่งตัวขึ้นอีกครั้งหนึ่งได้
เพราะราคาน้ำมันที่ลดลงในช่วงที่ผ่านมาเห็นได้ชัดว่าเกิดจากการนำน้ำมันสำรองออกมาใช้ ยิ่งไปกว่านั้นการเปิดประเทศของจีนที่คาดการณ์ว่าจะทยอยเปิดประเทศมากขึ้นเรื่อย ๆ
ในช่วงครึ่งหลังของปี 2023 กำลังจะเพิ่มอุปสงค์ต่อน้ำมันอย่างมากและสร้างแรงกดดันต่อเงินเฟ้อไทย และเงินเฟ้ออาจไม่สามารถปรับตัวลดลงได้เร็วอย่างที่คาดไว้ ซึ่งจะเป็นประเด็นกดดันค่าครองชีพและดุลการค้าของไทยได้
3.เงินเฟ้อไทยจะปรับตัวลดลงได้เพียงใด
KKP Research ประเมินว่าเงินเฟ้อไทยในปี 2023 จะทยอยปรับตัวลดลงแต่ยังค้างอยู่ในระดับที่สูงกว่ากรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือมากกว่า 3% แต่สถานการณ์เงินเฟ้อในปีหน้าของไทยยังมีความไม่แน่นอนสูงและมีหลายปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงเงินเฟ้ออยู่ คือ การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในประเทศ การปรับค่าไฟฟ้า และการชดเชยการอุดหนุนน้ำมันดีเซล
นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อโลกที่ยังอยู่ในระดับสูง ความเสี่ยงเงินบาทที่ยังคงมีโอกาสอ่อนค่า และราคาน้ำมันที่อาจปรับตัวสูงขึ้นได้
4.เงินบาทจะกลับมาแข็งค่าและช่วยลดแรงกดดันต่อเงินเฟ้อหรือไม่
KKP Research ประเมินว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลได้เล็กน้อยในปี 2023 ที่ระดับ 2% ของ GDP หลังจากขาดดุลต่อเนื่องติดต่อกันกว่า 3 ไตรมาสในปีนี้ ซึ่งเกิดจากนักท่องเที่ยวที่เริ่มกลับเข้ามามากขึ้น การลดลงของราคาน้ำมัน และการลดลงของต้นทุนค่าขนส่งสินค้า
อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทในปีหน้ายังมีแนวโน้มผันผวน และมีความเสี่ยงที่จะยังคงมีทิศทางอ่อนค่าได้อยู่จาก
- ดุลบัญชีเดินสะพัดที่มีโอกาสติดลบในช่วงไตรมาส 2 ของปีหน้า จากปัจจัยด้านฤดูกาลทั้งการท่องเที่ยวและการค้า สร้างความเสี่ยงต่อความเชื่อมั่นของตลาด (Market Sentiment)
- การคาดการณ์ผลตอบแทนตลาดหุ้นต่างประเทศจะเริ่มปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นหลังจากปัญหาเงินเฟ้อจบลง ทำให้เงินลงทุนอาจไหลออกจากไทยได้
- สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มจะเข้าสู่ภาวะ Stagflation เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างไทยกับต่างประเทศค้างอยู่ในระดับสูง และกดดันค่าเงินบาทต่อเนื่อง
5.ถ้าโลกลดดอกเบี้ยปีหน้า ไทยยังจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยหรือไม่
อัตราดอกเบี้ยนโยบายไทยยังมีแนวโน้มปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีความเสี่ยงที่ต้องปรับเพิ่มขึ้นหากมีความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อและค่าเงินบาท ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจในประเทศ เพราะอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงยังคงอยู่ในแดนติดลบมากกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคอย่างมีนัยสำคัญ
KKP Research ประเมินว่าธนาคารแห่งประเทศไทยยังจำเป็นต้องปรับดอกเบี้ยขึ้นอย่างต่อเนื่องในปีหน้าโดยเป็นการขึ้นต่อเนื่องครั้งละ 0.25% จนถึงระดับ 2.25% ในช่วงไตรมาส 3 ปีหน้า ซึ่งนับเป็นความท้าทายสำคัญในภาวะที่เศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่ดี และหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูงมาก
ทางสองแพร่ง - เงินเฟ้อค้าง หรือ ถดถอยรุนแรง
เศรษฐกิจโลกกำลังจะเจอกับปัญหาในสองทาง คือ หากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงแต่ไม่ถึงกับถดถอยรุนแรงโลกจะเผชิญหน้ากับความเสี่ยงที่เงินเฟ้อจะค้างในระดับสูงยาวนาน หรือหากเกิดสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดที่กระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงิน เช่น เสถียรภาพในตลาดอสังหาฯ ปัญหาในตลาดเกิดใหม่ ปัญหาสภาพคล่อง ปัญหาความสามารถในการชำระหนี้ในภาคธุรกิจ ก็จะทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยรุนแรงได้ทันที ซึ่งล้วนแล้วแต่สร้างความท้าทายต่อเศรษฐกิจไทย
KKP Research ประเมินว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยรุนแรงยังมีโอกาสเกิดขึ้นน้อย เนื่องจากสภาพคล่องในตลาดที่ยังค้างอยู่ในระดับสูงกว่าปกติมาก และหากเกิดสถานการณ์เลวร้ายขึ้นจริงเครื่องมือนโยบายการเงินใหม่ ๆ จะถูกนำกลับมาใช้เพื่อสนับสนุนตลาดได้ โดยธนาคารกลางมีแนวโน้มเลือกป้องกันความเสี่ยงในการเกิดวิกฤติหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดขึ้น ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มสูงที่จะอยู่ในภาวะ “Stagflation” มากกว่า
สำหรับการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจในระยะต่อไป นโยบายการเงินต้องชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์และผลกระทบต่อเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ อัตราแลกเปลี่ยน เสถียรภาพระบบการเงิน อย่างรอบคอบเพื่อปิดความเสี่ยงด้านต่ำต่อเศรษฐกิจ และช่วยประครองให้เศรษฐกิจในปีหน้าสามารถฟื้นตัวอย่างมีเสถียรภาพได้