เช็กสถานการณ์แรงงาน "ค้าปลีก-โรงแรม-ภัตราคาร จ้างเพิ่ม" แต่ค่าจ้างยังเจอพิษเงินเฟ้อ
เปิดตัวเลขการจ้างงานไตรมาส 3/65 ปรับตัวดีขึ้น ว่างงานลดลง ค้าปลีก-โรงแรม-ภัตราคาร จ้างเพิ่ม แต่ถ้าไปดูค่าจ้างพบว่ายังเจอผลกระทบจากเงินเฟ้อ
สภาพัฒน์ รายงาน ภาวะสังคมไทยไตรมาสสาม ปี 2565 พบความเคลื่อนไหวสำคัญ ได้แก่ การจ้างงานปรับตัวดีขึ้น การว่างงานลดลงโดยมีอัตราการว่างงานร้อยละ 1.23
กกร.ค้านขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท เงินเดือนปริญญาตรี 25,000
'เพื่อไทย' แจงยิบ! ปมค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท ชี้ปรับเป็นขั้น ยัน ทำได้แน่หากได้เป็นรัฐบาล
โดยสถานการณ์ด้านแรงงานไตรมาสสาม ปี 2565 การจ้างงานขยายตัวได้จากสาขานอกภาคเกษตรกรรม
แม้จะภาคเกษตรกรรมยังคงหดตัวจากปัญหาอุทกภัย ซึ่งการว่างงานปรับตัวลดลงใกล้เคียงกับช่วงเวลาปกติ
และชั่วโมงการทำงานที่ฟื้นตัวดีขึ้น ส่วนค่าจ้างที่แท้จริงยังหดตัวจากผลของเงินเฟ้อ
สำหรับการจ้างงาน มีจำนวนทั้งสิ้น 39.6 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการเพิ่มขึ้นของการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม ที่ร้อยละ 4.3 หรือมีการจ้างงาน 27.2 ล้านคน
สาขาที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นคือ สาขาค้าส่งค้าปลีก และโรงแรมและภัตตาคาร ที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 และ 8.3 ตามลำดับ อันเป็นผลของการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยช่วงไตรมาสสาม ปี 2565 เพิ่มสูงขึ้นมาก
ส่วนสาขาการผลิตมีการจ้างเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 สอดคล้องกับอัตราการใช้กำลังการผลิตและการส่งออกที่ขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่ ภาคเกษตรกรรมมีการจ้างงาน 12.4 ล้านคน ลดลงร้อยละ 2.4 จากผลกระทบจากปัญหาอุทกภัย ชั่วโมงการทำงานปรับตัวดีขึ้น ใกล้เคียงกับสถานการณ์ปกติช่วงก่อนการแพร่ระบาดฯ
ขณะที่ชั่วโมงการทำงานในภาพรวมและภาคเอกชนอยู่ที่ 42.5 และ 46.7 ชั่วโมง/สัปดาห์ ผู้ทำงานล่วงเวลา มีจำนวน 6.8 ล้านคน และผู้เสมือนว่างงานลดลงเหลือ 1.9 ล้านคน ใกล้เคียงกับช่วงเวลาปกติ
ค่าจ้างแรงงานปรับเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องแต่ค่าจ้างที่แท้จริงหดตัว
โดยค่าจ้างที่แท้จริงของแรงงานภาคเอกชนหดตัว ร้อยละ 1.7 และค่าจ้างที่แท้จริงในภาพรวมหดตัวถึงร้อยละ 3.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
การว่างงานปรับตัวดีขึ้น โดยผู้ว่างงานมีจำนวน 4.9 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.23 เช่นเดียวกับการว่างงานในระบบที่ปรับตัวลดลงอยู่ที่ร้อยละ 1.99 ซึ่งเป็นการลดลงทั้งผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อนและไม่เคยทำงานมาก่อน
ประเด็นที่ต้องติดตามในระยะถัดไป
1.การมีแนวทางบรรเทาภาระค่าครองชีพของแรงงาน โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานนอกระบบ จากค่าจ้างที่แท้จริงที่หดตัวลงจากผลกระทบของเงินเฟ้อในระดับสูง อย่างไรก็ตาม แรงงานในระบบจะได้รับการชดเชยจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ขณะที่แรงงานนอกระบบที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีการศึกษาไม่สูงนักจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงหากรายได้ไม่เพิ่มขึ้น
2.การเร่งช่วยเหลือและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยโดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรที่ยากจน ซึ่งในไตรมาส 3 มีจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยถึง 59 จังหวัด โดยจังหวัดดังกล่าว มีเกษตรกรรวมกันมากถึง 8.3 ล้านคน ในจำนวนนี้มีเกษตรกรยากจนจำนวน 8.9 แสนคน ซึ่งอาจได้รับความเสียหายที่รุนแรงกว่ากลุ่มอื่น
3.การสนับสนุนให้ผู้ว่างงานเข้าสู่ระบบ การอบรมและพัฒนาทักษะในการประกอบอาชีพเกี่ยวกับภาคการท่องเที่ยว ผลสำรวจของสมาคมโรงแรมไทยเดือนกันยายน ปี 2565 พบว่า ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมร้อยละ 77 ยังเผชิญกับปัญหาขาดแคลนแรงงาน