ส่งออกไปนี้ไม่สดใส "เสี่ยงสูง"โตติดลบ จากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอ
แม้กระทรวงพาณิชย์ยังไม่ประเมินการส่งออกในปี 2566 เพียงแต่รับว่าจะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชะลอ แต่ภาคเอกชนคาดว่าอาจจะติดลบหรือขยายตัวเพียงเล็กน้อย
กระทรวงพาณิชย์ รายงานภาพรวมทั้งปี 2565 (มกราคม - ธันวาคม) การส่งออก มีมูลค่า 287,067.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 5.5% การนำเข้า มีมูลค่า 303,190.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 13.6% ดุลการค้า ขาดดุล 16,122.8 ล้านเหรียญสหรัฐ
นอกจากนี้ ประเมินว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกเป็นปัจจัยหลักที่จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการส่งออกของไทยในปี 2566 โดยเฉพาะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลัก อาทิ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และกลุ่มประเทศยูโรโซน ที่ชะลอตัวลงจากกำลังซื้อที่อ่อนแอ
ส.อ.ท. คาดการณ์ยอดผลิตรถยนต์ในประเทศปี'66 โตแตะ 9 แสนคัน
เศรษฐกิจ ปี 2566 จะเป็นปีที่ยากลำบาก เมื่อมหาอำนาจล้วนอ่อนแอ
Krungthai COMPASS ระบุว่าส่งออกเดือน ธ.ค. ติดลบ 14.6% หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 มากกว่าการคาดการณ์ของตลาดที่ -11.5% จากผลกระทบของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว กำลังซื้อของผู้บริโภคอ่อนแอ และผลของฐานเดือน ธ.ค. ในปี 2564 ที่สูง ส่งผลให้การส่งออกสินค้าเกษตรกรรม สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร และสินค้าอุตสาหกรรมหดตัว สำหรับการส่งออกปี 2565 ขยายตัวที่ 5.5%
การส่งออกที่หดตัวในช่วงที่ผ่านมาเป็นผลของการส่งออกเชิงปริมาณที่หดตัวเป็นสำคัญ ขณะที่ด้านราคาส่งออก คาดว่าอัตราการขยายตัวได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้วและมีแนวโน้มชะลอลง
ทั้งนี้ Krungthai COMPASS ประเมินมูลค่าการส่งออกในปี 2566 มีแนวโน้มเติบโตได้ที่ 0.7% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคของจีนซึ่งคาดว่าอุปสงค์จากประเทศจีนจะทยอยฟื้นตัวได้ และแนวโน้มปัญหา supply chain disruption คลี่คลายมากขึ้น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า ส่งออกไทยปี 2565 ขยายตัว 5.5% ขณะที่ปี 2566 คาดหดตัวที่ -0.5% แม้ได้อานิสงส์จากการเปิดประเทศจีน การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2565 ประกอบกับฐานที่สูงในปีก่อนหน้าทำให้การส่งออกไทยเดือนธันวาคม 2565 หดตัวลึกที่ -14.6% (YoY) ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 มีมูลค่า 21,718.8 ล้านดอลลาร์ฯ ฉุดให้ภาพรวมการส่งออกทั้งปี 2565 เติบโตอยู่ที่ 5.5% (YoY)
ปัจจัยที่มีผลต่อการส่งออกไทยในเดือนธันวาคม 2565 ได้แก่ การส่งออกสินค้าในกลุ่มรถยนต์และส่วนประกอบ และคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบหดตัวตามอุปสงค์โลกที่ลดลง
นอกจากนี้ ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่อ่อนตัวก็ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันหดตัวเช่นกันที่ -25.7% ทั้งนี้ เมื่อพิจารณารายตลาดคู่ค้าของไทยก็พบว่าหดตัวเกือบทั้งหมดในเดือนธันวาคม 2565 โดยเฉพาะจีนที่หดตัวลึกถึง -20.8% ส่งผลให้ทั้งปีหดตัวถึง -7.7%
สาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานที่สูงเป็นประวัติการณ์ในปีก่อน ประกอบกับการอ่อนแรงของกำลังซื้อภายในประเทศจีนที่ต้องเผชิญกับแรงกดดันรอบด้านโดยเฉพาะการคุมเข้มของมาตรการควบคุมโควิด-19 ตลอดทั้งปี 2565
ขณะที่การส่งออกไปยังตะวันออกกลางอย่างซาอุดิอาระเบียยังคงเติบโตได้ดีในเดือนดังกล่าวและส่งผลให้ทั้งปีการส่งออกไปยังตะวันออกกลางขยายตัวได้ถึง 22.8% โดยเป็นไปได้ว่าการส่งออกไปยังตลาดดังกล่าวอาจยังขยายตัวต่อไปได้ในปี 2566 จากการสนับสนุนของภาครัฐ
เมื่อมองไปในปี 2566 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงมีมุมมองว่า ภาพรวมการส่งออกไทยปี 2566 ยังต้องเผชิญแรงกดดันจากหลากหลายปัจจัยลบ โดยเฉพาะภาพการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่จะบั่นทอนกำลังซื้อของประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย รวมถึงทิศทางการแข็งค่าของเงินบาท อย่างน้อยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 และปัจจัยฐานในปี 2565 ที่อยู่ในระดับสูง จึงประเมินว่าภาพรวมการส่งออกไทยในปี 2566 อาจยังคงเผชิญกับการหดตัวที่ -0.5% (หดตัวลดลงจากที่คาดไว้เดิมที่ -1.5% ณ เดือนธันวาคม 2565)
หลังได้รับปัจจัยบวกจากการผ่อนคลายมาตรการโควิดเป็นศูนย์จนนำมาซึ่งการเปิดประเทศของจีนที่เกิดขึ้นเร็วกว่าที่คาดเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2566 ซึ่งทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจจีนทั้งในด้านการผลิตและการบริโภคกลับมาปรับตัวดีขึ้น และช่วยขับเคลื่อนการส่งออกไทยไปยังจีนในปี 2566 ที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า จะกลับมาขยายตัวได้ที่ 3.4% (จากเดิมที่คาดว่าจะไม่มีการเติบโต)