เปิดค่าใช้จ่ายเดือนแรกของปี ม.ค.66 ต่อครัวเรือนยังแตะ 18,190 บาท
กระทรวงพาณิชย์ ประกาศตัวเลขเงินเฟ้อ เดือน ม.ค.2566 ลดเหลือ 5.02% ต่ำสุดในรอบ 9 เดือน แต่ค่าใช้จ่ายต่อครัวเรือนยังสูงขึ้น
ค่าใช้จ่ายของครัวเรือนเดือน ม.ค.2566 รวมแล้วอยู่ที่ 18,190 บาท ขณะที่เดือน ธ.ค.2565 อยู่ที่ 18,136 บาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยสัดส่วนของการใช้จ่ายยังคงเป็นสินค้าที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีสัดส่วนที่ 58.37% ขณะที่อาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์สัดส่วนอยู่ที่ 41.63%
เงินเฟ้อไทยต่ำสุดรอบ 9 เดือน - นักท่องเที่ยวต่างชาติพุ่ง แนะหุ้นได้อานิสงส์
คาดกนง.ขึ้นดอกเบี้ยแตะ 2% ในครึ่งปีแรก จากเงินเฟ้อสูงกว่าเป้า
และเมื่อไปดูตามหมวดสินค้า 13 ชนิด พบว่า ค่าโดยสารสาธารณะ ค่าซื้อยานพาหนะ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าบริการโทรศัพท์มือถือ ยังเป็นส่วนที่มีค่าใช้จ่ายสูงสุดอยู่ที่ 4,230 บาท
รองลงมาเป็น ค่าเช่าบ้าน ค่าวัสดุก่อสร้าง ค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม เครื่องใช้ในบ้าน อยู่ที่ 4,032 บาท
สอดคล้องกับ ดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนนี้ เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า สูงขึ้นร้อยละ 0.30 (MoM) ตามการสูงขึ้นของสินค้าในหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ร้อยละ 0.41 สาเหตุสำคัญมาจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลให้ค่าโดยสารสาธารณะปรับสูงขึ้น
แต่ยังมีสินค้าสำคัญหลายรายการที่ราคาลดลง เช่น สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด (น้ำยาล้างห้องน้ำ น้ำยาล้างจาน ผงซักฟอก) เสื้อผ้าบุรุษและสตรี ตู้เย็น และหม้อหุงข้าวไฟฟ้า
หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.13 เช่น ผลไม้สด (ส้มเขียวหวาน องุ่น มะม่วง) จากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาล และไข่ไก่ เนื่องจากปริมาณมีไม่มากนัก
สำหรับสินค้าที่ราคาลดลง เช่น ผักสด (ผักบุ้ง ผักชี ต้นหอม) เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวยทำให้ผลผลิตกลับเข้ามาสู่ภาวะปกติ ข้าวสารเจ้าและข้าวสารเหนียว เนื่องจากการจัดโปรโมชัน น้ำมันพืชปรับลดลงตามราคาปาล์มดิบ และซอสหอยนางรมปรับลดลงตามโปรโมชัน
แนวโน้มเงินเฟ้อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 คาดว่าจะขยายตัวในอัตราที่ลดลง ปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อขยายตัวยังคงเป็นราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน ทั้งน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้า และก๊าซหุงต้ม ที่ส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อเงินเฟ้อ และราคาสินค้าในกลุ่มอาหารที่ปรับสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิตที่ยังอยู่ในระดับสูง เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา ทั้งค่าวัตถุดิบ ค่าขนส่ง และค่าจ้างแรงงาน
ประกอบกับอุปสงค์ในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นจากภาคการท่องเที่ยวและนโยบายกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐ อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัว ซึ่งจะทำให้ความต้องการบริโภคโดยรวมและราคาน้ำมันเชื้อเพลิงชะลอตัว และเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจะส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าของไทยลดลง ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่กดดันให้อัตราเงินเฟ้อของไทยไม่สูงมากนัก
กระทรวงพาณิชย์ได้คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2566 อยู่ระหว่างร้อยละ 2.0 – 3.0 ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจของไทย และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ จะมีการทบทวนอีกครั้ง
{related-line- 189982}