ผู้ส่งออกข้าว ฝากรัฐบาลชุดใหม่ "ไม่เอาจำนำข้าว”
สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ฝากถึงรัฐบาลชุดใหม่ ที่จะได้รับการเลือกตั้งในปี 2566 อย่านำ นโยบายจำนำข้าว มาใช้ เพราะถือเป็นการบิดเบือนกลไกราคาข้าวในตลาด และยังจะส่งผลกระทบไปยังภาคการส่งออก
ในตอนหนึ่งของการแถลงการส่งออกข้าวไทย วันนี้ (15 ก.พ.66) นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวถึง รัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศในช่วงหลังเลือกตั้งปี 2566 ว่า ขออย่าใช้นโยบายที่บิดเบือนกลไลราคาข้าวในตลาด อย่างเช่น การจำนำข้าว เพราะจะทำให้เอกชนไม่สามารถที่จะซื้อข้าวแข่งขันในกลไลตลาดได้ เนื่องจากการจำนำข้าวรัฐบาลเป็นผู้รับซื้อผลผลิตทั้งหมดและทำให้ราคาข้าวสูงกว่าที่ควรจะเป็น ส่งผลกระทบต่อการแน่นอน
เงินชาวนามาแล้ว อีก 22 ล้านบาท 15 กุมภาพันธ์ 9,266 ครัวเรือน
กบน.ลดดีเซลรอบสอง อีก 50 สต. เหลือ 34 บาท/ลิตร เริ่ม 22 ก.พ.
รัฐบาลในอดีตพรรคหนึ่งเคยนำนโยบาย การจำนำข้าว มาใช้ช่วงเวลานั้น ทำให้ตัวเลขการส่งออกข้าวตกลงมาอยู่ที่ 5 ล้านตัน จากเคยส่งออกได้ถึง 10 ล้านต้น
ส่วน นโยบายการประกันรายได้ ที่เป็นการช่วยส่วนต่างของราคาตลาด ยังมีกลไลภาคเอกชนมารับซื้อราคาตลาดและมีการแข่งขันในตลาด และ การช่วยเหลือการเก็บเกี่ยว ไร่ละ 1,000 บาท เพื่อจ่ายเงินให้เปล่ากับชาวนา ทั้ง 2 นโยบายนี้ ถือเป็นแนวทางที่ภาคเอกชนรับได้ เพราะไม่ได้ทำให้ราคาตลาดบิดเบือน
นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เผยว่า การเลือกตั้งที่จะมาถึงนี้ หากมีนโยบายประชานิยม อยากให้นักการเมืองพิจารณาดูว่าเป็นโครงการที่จะขาดทุนหรือไม่ เพราะถ้ามีแนวโน้มขาดทุน ก็ไม่ควรเริ่มทำโครงการ สิ้นเปลืองงบประมาณของประเทศ
ถ้าเป็นนโยบายประชานิยม ลองถาม นักการเมือง ที่จะทำโครงการโครงการนั้นๆ ว่า ถ้าเขาต้องควักกระเป๋ามาลงทุนเอง เขาจะทำไหม ถ้าทำแล้ว มันขาดทุน ก็อย่าทำ อย่าเอาเงินประเทศชาติไปทำแบบนั้นเพราะเป็นภาษีเราทั้งนั้น : เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย
ส่วนนโยบายการประกันรายได้ หรือ การจำนำข้าว ถือเป็นนโยบายชั่วคราวในการช่วยเหลือชาวนา แต่หากจะรัฐบาลใหม่ อยากจะช่วยเหลือเกษตรกรและยกระดับภาพรวมการส่งออกข้าวในระยะยาว ให้สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก ควรทำ 2 เรื่อง คือ
1.การพัฒนาสายพันธุ์ข้าวเพื่อการส่งออก ด้วยการวางยุทธศาสตร์ข้าวในระยะยาว เนื่องจากปริมาณข้าวที่ไทยผลิตได้ในแต่ละปีอยู่ที่ 20 ล้านตันข้าวสาร แบ่งเป็น เพื่อการบริโภคในประเทศ 12 ล้านตันข้าวสาร ส่วนอีก 8 ล้านตันข้าวสาร ต้องนำส่งออก แต่ปัญหาของอุตสาหกรรมข้าวไทย คือ มีสายพันธุ์ข้าวน้อย ไม่สามารถแข่งขันกับประเทศผู้ส่งออกข้าวคู่แข่ง อย่าง เวียดนาม ที่มีพันธุ์ข้าวที่หลากหลาย
โดยสายพันธุ์ข้าวที่ไทยจำเป็นต้องพัฒนาสายพันธุ์เพื่อการส่งออก คือ พันธุ์ข้าวนุ่ม ที่ได้รับความนิยมจากจีน ซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่ แต่อย่างไรก็ตาม การผลิตข้าวสายพันธุ์ใหม่ จะต้องใช้ระเวลา 3-5 ปี และต้องได้รับความนิยมในประเทศก่อน
“การพัฒนาสายพันธุ์ข้าว คือ สิ่งที่ไทยจะต้องทำแต่รัฐบาลไม่ทำมาเลย เหมือนเดิมมา 30 ปีแล้วเดิมๆเรามี ข้าวขาวพื้นแข็ง ข้าวนึ่ง ข้าวหอมมะลิ ข้าวเหนียวทำยังไง เราถึงจะปรับปรุงให้มี ข้าวนุ่ม เพิ่มขึ้น” : เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย
ดั้งนั้น จึงต้องมีการวางยุทธศาสตร์ในระยะยาว ต้องบริหารจัดการเรื่องต้นทุนการผลิต ลดการนำเข้าปุ๋ย วางระบบการขนส่ง ระบบเรือ ระบบชลประทาน
ย้ำทุ่มประชานิยมให้ชาวนาปีละแสนล้านเป็นการจ่ายเปล่า
นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ย้ำว่า แต่ละปีรัฐบาลนำงบประมาณใช้ในโครงการประชานิยมกับชาวนาเม็ดเงินกว่าแสนล้านบาท และเป็นการจ่ายให้เปล่า ทางที่ดีรัฐบาลควรปรับนำเงินก้อนนี้มาวางรากฐานเรื่องการพัฒนาพันธุ์ข้าว ระบบการขนส่ง ระบบชลประทาน ลดต้นทุนการผลิตให้เกษตรกร จะช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับภาคการเกษตรไทย พร้อมย้ำว่า ขอรัฐบาลชุดใหม่มีแนวทางในการดูแลราคาข้าวที่ไม่บิดเบือนราคาตลาด และเน้นการพัฒนาทั้งอุตสาหกรรมเพื่อให้สามารถแข่งขันกับคู่แข่งในตลาดโลกได้
“รัฐบาลออกนโยบายประชานิยมให้ชาวนา ใช้งบถึงแสนล้านบาทต่อปีแต่การส่งออกข้าว เราได้เงินเข้าประเทศแค่ 1.3 แสนล้านบาทต่อปีนั่นหมายความว่า เราใช้เงิน 1 แสนล้าน เพื่อสนับสนุนนโยบายประชานิยมแต่ถ้าเราเอาเงินก้อนนั้น มาวางแนวทางพัฒนาพันธุ์ข้าว ระบบบขนส่ง ระบบน้ำชาวนาจะได้ผลประโยชน์มากกว่านี้เยอะเลย” : เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย
ขอ ธปท.ดูแลเสถียรภาพค่าเงินบาท
ส่วนการดูแลค่าเงินให้มีเสถียรภาพ ให้อยู่ในระดับ 33-34 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เพราะทุกๆการผันผวน (Fluctuate) ของค่าเงินบาทจะมีผลต่อราคาสินค้า เช่น ถ้าเงินบาทแข็งค่าขึ้น 1 บาท จะมีผลทำให้ราคาข้าวขาวปรับขึ้น 15 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน
ส่วนข้าวหอมมะลิ เมื่อเงินบาทแข็งค่าขึ้น 1 บาท จะทำให้ราคาสินค้าขึ้น 30 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ซึ่ง ธนาคารแห่งประเทศไทย ต้องเข้ามาดูแลให้ค่าเงินบาทมีเสถียรภาพมากขึ้น เพื่อให้ผู้ส่งออกไทยแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้
คาดส่งออกข้าวไทยปี 66 อยู่ที่ 7.5 ล้านต้นสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย คาดการณ์ ตัวเลขการส่งออกข้าวไทยในปี 2566 อยู่ที่ 7.5 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 138,000 ล้านบาท หรือ 3,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนการส่งออกข้าวไทยในปี 2565 อยู่ที่ 7.69 ล้านตัน เป็นอันดับสองของโลก รองจากประเทศอินเดียที่ส่งออกในปี 2565 อยู่ที่ 21.94 ล้านตัน แต่มีปัจจัยที่ยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด คือ ค่าเงินบาท ปริมาณผลผลิตข้าวในประเทศที่น่าจะอยู่ในเกณฑ์ดี เพราะน้ำในเขื่อนอยู่ในระดับที่ดี พื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้น ภาวะเศรษฐกิจในประเทศและการท่องเที่ยว เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า ภาวะการผลิตและส่งออกของประเทศคู่แข่ง อย่าง อินเดีย และเวียดนาม
ข้าวถุง ปี 66 ทรงตัว ไม่แพงขึ้นตามค่าแรง ค่าไฟฟ้า
นายยงยุทธ พฤกษ์มหาดำรง นายกสมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทย เผยว่า ราคาต้นทุนแรงงาน ค่าไฟฟ้า ยังไม่ส่งผลต่อราคาข้าวถุง ส่วนจะมีการปรับราคาข้าวลดลงหรือไม่นั้น ก็ต้องประเมินจากปัจจัยภายในและภายนอกอย่างต่อเนื่อง สำหรับราคาข้าวขาวถุง 5 กิโลกรัม อยู่ที่ 90-120 บาทต่อถุง ส่วนข้าวหอมมะลิ 5 กิโลกรัม อยู่ที่ 180-220 บาทต่อถุง