SCB EIC ปรับเพิ่มจีดีพีไทย โต 3.9% มอง SVB ไม่ก่อวิกฤตการเงินโลก
SCB EIC ปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ 2566 เป็น 3.9% จากแรงหนุนท่องเที่ยว และการบริโภคเอกชน รวมถึงเศรษฐกิจโลก พร้อมจับตาเลือกตั้งใหญ่ 2566 อาจกระทบการใช้จ่ายภาครัฐ ส่วนการปิดธนาคารซิลิคอนแวลลีย์แบงก์ (SVB) มองโอกาสน้อยก่อวิกฤตการเงินโลก
เมื่อ 17 มี.ค. 66 SCB EIC ปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจไทย (GDP) ปี 2566 เป็น 3.9% จากเดิม 3.4% ปัจจัยจากภาคท่องเที่ยวและภาคบริการที่ฟื้นตัวดี โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2566 คาดว่าอยู่ที่ 30 ล้านคน และจะกลับไปแตะระดับก่อนเกิดโควิด-19 ได้ในช่วงปลายปี 2567 มองว่านักท่องเที่ยวจีนจะกลับมาได้ราว 4.8 ล้านคน ภายหลังจีนยกเลิกมาตรการโควิดเป็นศูนย์ (Zero-COVID) เร็วขึ้น ส่วนนักท่องเที่ยวชาติอื่นคาดว่าจะฟื้นตัวดีขึ้นเช่นกัน ซึ่งจะสนับสนุนให้ตลาดแรงงานและการบริโภคฟื้นตัวต่อเนื่อง
ขณะที่เงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะอยู่ที่ 2.7% กลับมาอยู่ในกรอบเป้าหมายได้ ตามราคาพลังงานโลกที่ปรับลดลงและมาตรการอุดหนุนราคาพลังงานในประเทศที่มีต่อเนื่อง
ด้านเงินเฟ้อพื้นฐานคาดว่าจะชะลอลงมาที่ 2.4% แต่ยังอยู่ในระดับสูง สะท้อนการทยอยส่งผ่านต้นทุนจากผู้ผลิตสู่ราคาผู้บริโภคในช่วงที่เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวเข้มแข็งขึ้นและแรงกดดันเงินเฟ้อจากด้านอุปสงค์ที่เริ่มมีมากขึ้น
ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่าสถานการณ์ซิลิคอนแวลลีย์แบงก์ (Silicon Valley Bank) ในสหรัฐฯ ที่มีปัญหาขาดสภาพคล่อง และถูกปิดลง คาดว่าจะมีแนวโน้มทำให้สภาพคล่องและความเชื่อมั่นในตลาดการเงินโลกปรับลดลงเล็กน้อยในระยะสั้น ความเสี่ยงที่จะลุกลามจนเกิดวิกฤตการเงินโลกเหมือนในปี 2551 ยังมีน้อย แต่มองว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตามใกล้ชิด เช่นเดียวกับความเสี่ยงจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่อาจกระทบเศรษฐกิจ การค้า และห่วงโซ่อุปทานโลกได้
ขณะที่ เศรษฐกิจไทยจะยังเผชิญความเสี่ยงด้านต่ำที่สำคัญ คือ
1. ปัญหา Geopolitics รุนแรงขึ้นอาจกระทบ Global supply chain และการส่งออกไทย
2. นโยบายการเงินโลกตึงตัวแรงขึ้นจากเงินเฟ้อโลกลดลงช้า
3. หนี้ครัวเรือนกลับมาเร่งตัวส่งผลกดดันการบริโภค
4. ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่อาจกระทบความเชื่อมั่นในการลงทุนและการใช้จ่ายภาครัฐในระยะข้างหน้าได้ รวมถึงความเสี่ยงใหม่จากวิกฤตเสถียรภาพระบบการเงินโลก ถือเป็นเรื่องใหม่ที่ต้องติดตามใกล้ชิด โอกาสที่จะลุกลามจนเกิดวิกฤตการเงินโลกยังมีน้อย ตราบใดที่ธนาคารกลางให้ความมั่นใจได้ว่าสามารถให้ความช่วยเหลือสภาพคล่องได้เพียงพอและทันการณ์ ทำให้ความเชื่อมั่นในเสถียรภาพระบบธนาคารทั่วโลกยังเข้มแข็งอยู่
ทำไม SVB ล้ม? ตลาดคาดเฟดจะชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ย 21-22 มี.ค.นี้
ธนาคาร SVB เปิดบริการตามปกติหลัง FDIC เข้าดูแล ลูกค้าแห่ถอนเงิน
กรุงศรี หั่นเป้า GDPไทย ปีนี้66 เหลือ 3.3% เหตุรัฐใช้จ่ายลด-การลงทุนล่าช้า
ด้าน ดร.ฐิติมา ชูเชิด ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยด้านเศรษฐกิจและตลาดการเงิน Economic Intelligence Center (EIC) กล่าวว่า สำหรับการเลือกตั้งใหญ่ในปี 2566 ถือว่าเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม เพราะอาจกระทบการใช้จ่ายภาครัฐได้ ทั้งนี้ขึ้นกับความเร็วในการประกาศใช้ พ.ร.บ. งบประมาณปี 2567 ของรัฐบาลชุดใหม่ โดยในกรณีฐาน SCB EIC มองว่า การเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลใหม่จะไม่กระทบการใช้จ่ายภาครัฐในปี 2566 เท่าไรนัก เพราะรัฐบาลปัจจุบันได้เร่งเบิกจ่ายงบลงทุนไว้ตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ 2566 สูงกว่าปีงบประมาณที่ผ่าน ๆ มา รวมถึงได้เร่งอนุมัติโครงการก่อสร้างภาครัฐใหม่ คาดว่าอัตราเบิกจ่ายงบประมาณภายใต้รัฐบาลรักษาการและการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลใหม่จะต่ำลงบ้าง และ พ.ร.บ. งบประมาณ ปี 2567 จะประกาศใช้ล่าช้าไม่เกิน 3 เดือน แต่หากมีความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ส่งผลให้ พ.ร.บ. งบประมาณปี 2567 ประกาศใช้ล่าช้ากว่ากรณีฐาน อาจส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายภาครัฐในช่วงปีนี้และปีหน้าได้ โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐ
ทั้งนี้ SCB EIC คาดว่า กรณีฐานอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยทยอยปรับขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปีสู่ระดับ 2% เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง และเงินเฟ้อไทยจะไม่ปรับลดลงเร็วนัก โดยทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายขาขึ้น การทยอยสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือทางการเงิน จะทำให้ภาวะการเงินไทยมีแนวโน้มตึงตัวต่อเนื่อง เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ และจะกลับไปแข็งค่าขึ้นอยู่ที่ 32-33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปีนี้ จากปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่เข้มแข็งขึ้น และเงินดอลลาร์สหรัฐที่จะกลับมาอ่อนค่า โดยเฉพาะหลังธนาคากลางสหรัฐอเมริกา เริ่มหยุดปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงครึ่งหลังของปี