เลือกตั้งเงินสะพัด หนุนเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 แต่เสี่่ยงบปี 67 ล่าช้า
กิจกรรมการเลือกตั้งคาดว่าจะช่วยหนุนเศรษฐกิจในช่วงต้นไตรมาสสอง ขณะที่การลงทุนจากต่างประเทศมีทิศทางทยอยปรับดีขึ้น เผยยังมีความเสี่ยงงบประมาณปี 67 ล่าช้า
วิจัยกรุงศรีระบุว่าความเคลื่อนไหวทางการเมืองนับเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามหลังกำหนดวันเลือกตั้งขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ โดยราชกิจจานุเบกษาประกาศพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฏร โดยให้มีผลในวันที่ 20 มีนาคม หลังจากนั้นสำนักงานคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดให้วันที่ 14 พฤษภาคม เป็นวันเลือกตั้ง
แต่ แนวโน้มการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวที่คาดว่าจะแข็งแกร่งมากขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่อาจช่วยบรรเทาผลกระทบและประคองการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในระยะอันใกล้นี้คาดว่าจะเป็นปัจจัยบวกหนุนให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้นในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม จาก
(i) งบประมาณสำหรับการจัดเลือกตั้งของกกต.ในปีนี้มีวงเงินอยู่ที่ 5.9 พันล้านบาท เทียบกับ 4.2 พันล้านบาท ในการเลือกตั้งครั้งก่อนปี 2562 เนื่องจากมีจำนวนเขตเลือกตั้งเพิ่มขึ้นเป็น 400 เขต จาก 350 เขต
(ii) งบประมาณในการหาเสียงของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง กำหนดรายละไม่เกิน 1.9 ล้านบาท และพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งส.ส.แบบบัญชีรายชื่อพรรคละ 44 ล้านบาท
ทั้งนี้ แม้ไทม์ไลน์สำหรับการเลือกตั้งมีความชัดเจนขึ้น แต่ยังต้องติดตามระยะเวลาเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ซึ่งคาดว่าจะจัดตั้งได้ในเดือนสิงหาคม จะมีเวลาพิจารณาพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 อีกแค่ 1 เดือนกว่าที่จะเริ่มปีงบประมาณฯ ใหม่ในวันที่ 1 ตุลาคม จึงมีความเสี่ยงที่อาจจะล่าช้าได้ (การเลือกตั้งครั้งก่อนในปี 2562 มีขึ้นในเดือนมีนาคม กว่าจะจัดตั้งรัฐบาลได้เดือนกรกฎาคม และพ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 2563 มีผลบังคับใช้ล่าช้าไป 3-4 เดือน)
เครื่องชี้การลงทุนมีสัญญาณเชิงบวกเพิ่มขึ้น แต่การลงทุนที่เกี่ยวข้องกับภาคส่งออกอาจยังอ่อนแอ ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์รายงานว่าภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติประกอบธุรกิจในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2566 จำนวน 113 ราย (+82%YoY) เงินลงทุนรวม 26,756 ล้านบาท (+305%) จ้างงานคนไทย 1,651 คน (+33%) โดยประเทศที่เข้ามาลงทุนที่สำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น (25 ราย เงินลงทุน 8,545 ล้านบาท) สิงคโปร์ (19 ราย, 3,090 ล้านบาท) สหรัฐ (13 ราย, 1,314 ล้านบาท) และจีนที่มีจำนวนลงทุนเป็นอันดับ 4 แต่มีมูลค่าสูงสุดเป็นอันดับที่ 1 (10 ราย, 10,987 ล้านบาท)
นอกจากนี้ ด้านคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนโครงการขนาดใหญ่รวม 56,615 ล้านบาท โดยโครงการที่สำคัญ เช่น โครงการท่าเทียบเรือขนถ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว มูลค่า 32,710 ล้านบาท โครงการโรงไฟฟ้าระบบ Cogeneration มูลค่า 5,005 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการร่วมทุนระหว่างไทยและสิงคโปร์ และโครงการดาต้าเซ็นเตอร์ขนาดใหญ่ 2 ราย มูลค่ารวม 10,371 ล้านบาท เป็นต้น
การลงทุนจากต่างประเทศทยอยมีสัญญาณเชิงบวกมากขึ้น สะท้อนจากมูลค่าเงินลงทุนที่เข้ามาในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้สูงกว่า 3 เท่าจากช่วงเดียวกันปีก่อน และเฉพาะเดือนกุมภาพันธ์เดือนเดียวนั้นมีมูลค่าเงินลงทุนอยู่ที่ 21,267 ล้านบาท เทียบกับ 5,129 ล้านบาท ในเดือนมกราคม ส่วนหนึ่งอาจได้อานิสงส์จากการเปิดประเทศของจีน ทำให้มีมูลค่าการลงทุนจากจีนเพิ่มสูงมากที่ 10,439 ล้านบาท จาก 548 ล้านบาทในเดือนมกราคม
ขณะที่โครงการลงทุนที่ได้รับอนุมัติจาก BOI ส่วนใหญ่เป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนเพื่อเสริมความแข็งแกร่งโครงสร้างพื้นฐานและพลังงานเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม จากภาวะเศรษฐกิจและการค้าโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัว โดยเฉพาะเศรษฐกิจประเทศแกนหลักทั้งสหรัฐและยุโรป อาจจำกัดการขยายตัวของการลงทุนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก ล่าสุดมูลค่าการส่งออกเดือนมกราคมหดตัวที่ 4.5% YoY