ถกสนั่นกลางเวทีดีเบต “ค่าไฟแพง” แต่ละพรรคจะแก้อย่างไร
พีพีทีวี เอชดี 36 จัดพื้นที่ 7 แกนนำจากพรรคการเมืองแถวหน้า ประชันวิสัยทัศน์ในหัวข้อ "ฝ่าวิกฤตประเทศไทย" โดยเฉพาะนโยบายเกี่ยวกับปากท้อง ค่าครองชีพ นาทีนี้คงหนีไม่พ้น "ค่าไฟแพง"
พีพีทีวี เอชดี 36 เปิดเวทีดีเบต 7 แกนนำจากพรรคการเมือง ประชันวิสัยทัศน์ในหัวข้อ"ฝ่าวิกฤตประเทศไทย" ช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง 2566 นโยบายของพรรคใดจะนำพาคนไทยพ้นวิกฤต โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายปากท้อง เกี่ยวข้องกับค่าครองชีพ เงินในกระเป๋ารายได้ของประชาชน ซึ่งวันนี้มีประเด็นร้อนๆ หลายเรื่อง ทั้งเรื่องค่าไฟ ของแพง
เอกฉันท์! PPTV ดีเบต 7 พรรคเห็นพ้อง พรรคอันดับหนึ่งได้สิทธิ์ตั้งรัฐบาลก่อน
7 พรรคร่วมเวทีดีเบต PPTV ประชันวิสัยทัศน์ จุดยืนรัฐบาลต่อสงครามรัสเซีย-ยูเครน
และคำถามสำคัญคือ "การทำนโยบายที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น" พรรคการเมืองแต่ละพรรคจะใช้ "งบประมาณจากไหน" เพราะต้องยอมรับว่าบางนโยบายอาจต้องใช้งบประมาณที่สูงมาก
เริ่มต้นที่...วาระร้อนแรงที่สุดนาทีนี้คงนี้ไม่พ้น “ค่าไฟ” และราคาน้ำมัน ซึ่งทั้งหมายถึงการดำเนินนโยบายเกี่ยวกับพลังงาน ซึ่งถูกตั้งคำถามถึงความเป็นธรรมของโครงสร้างราคาจนเกิดความสงสัยเคลือบแคลงต่อราคาขายปลีกให้กับประชาชน แต่ละพรรคมีนโยบายและวิธีการจัดการเรื่องนี้อย่างไร ซึ่งประเด็นของเรื่องนี้ ทุกพรรคมองว่า การมีกำลังไฟฟ้าสำรองของประเทศที่มีมากเกินไป เป็นเรื่องสำคัญและกำลังมีปัญหาเอื้อเอกชน
โดยการซื้อไฟฟ้าของรัฐบาลจากเอกชนระยะยาว 25 ปีและในราคาที่แพงกว่าที่ กฟผ.นำมาขายให้ กฟน.และ กฟภ.ในสัดส่วนถึง 70% ขณะที่กำลังการผลิตเองคือ 30% ทำให้ปัจจุบันประเทศไทยมีกำลังไฟฟ้าสำรองหรือไฟฟ้าล้นเกินถึง 62% สูงขึ้นจากปีที่แล้วที่มีไฟฟ้าล้นเกิน 54% โดยที่ผ่านมาการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชนในราคา 3-9 บาทต่อหน่วย แต่กฟผ.นำมาขายส่งให้ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.)และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) อยู่ที่ 2.75 บาท ต่อหน่วย ซึ่งหาก กฟผ.ผลิตไฟฟ้าเองประชาชนจะได้ใช้ไฟฟ้าถูกกว่านี้
เริ่มที่ ชาติพัฒนากล้า ภายใต้นโยบาย งานดี เงินดี ของไม่แพง เป็นพื้นฐานในการแก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจนโยบายเศรษฐกิจ โดยมี ยุทธศาสตร์เพิ่มรายได้ (เศรษฐกิจเฉดสี)
ซึ่งในส่วนของ ค่าไฟและโครงสร้างพลังงาน นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า เริ่มต้นที่การตั้งคำถามถึงการมีกำลังไฟฟ้าสำรองของประเทศที่มีมากเกินไปหรือไม่ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีกำลังไฟฟ้าสำรองหรือไฟฟ้าล้นเกินถึง 62% นำมาสู่ภาระของประชาชนที่ต้องจ่ายค่าไฟที่แพงขึ้น
ดังนั้น นโยบายของชาติพัฒนากล้า คือ นโยบายสนับสนุนให้ประชาชนติดโซลาร์รูปท็อปบนหลังคาบ้าน เพื่อในอนาคตสามารถผลิตไฟฟ้าได้เอง โดยจะมีส่วนลด 20-30% ของต้นทุนค่าติดตั้ง หรือ การออกสินเชื่อ 0% ให้กับบ้านที่ต้องการติดตั้งโซลาร์เซลล์ และอาจมีการออกพันธบัตรเพื่อช่วยลดการขาดทุนของการไฟฟ้าได้
นอกจากนั้นแล้ว พรรคชาติพัฒนากล้า จะเดินหน้าลดค่า Ft ทันที 93 สตางค์ต่อหน่วย รวมถึงการผลักดันให้เกิดพลังงานทางเลือกให้กับภาคประชาชน รวมถึงการเจรจาแหล่งก๊าซใหม่ระหว่างไทย-กัมพูชา
ด้าน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล ชูนโยบาย ลดค่าไฟให้กับประชาชนได้อย่างน้อย 70 สตางค์/หน่วย (เฉลี่ยบ้านละ 150 บาท) ปรับนโยบายเพื่อให้ความสำคัญกับประชาชนก่อนกลุ่มทุน (เช่น การใช้ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย ต้องส่งให้โรงไฟฟ้าผลิตไฟฟ้าให้ประชาชน ก่อนขายให้โรงงานปิโตรเคมี และโรงงานอุตสาหกรรมใช้เป็นเชื้อเพลิง เพื่อทำให้ราคาต้นทุนก๊าซของโรงไฟฟ้าถูกลงเมื่อลดการนำเข้า)
- เจรจาสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับสัมปทานทุนใหญ่พลังงานใหม่ เพื่อลดต้นทุนที่เกิดขึ้นจากค่าความพร้อมจ่ายของโรงไฟฟ้าที่ไม่ได้เดินเครื่อง
- ยกเลิกการที่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้ารายเดียว และเปิดตลาดแข่งขันเสรี เพื่อลดค่าไฟให้ประชาชน โดยประชาชนสามารถเลือกซื้อไฟฟ้าจากหลายๆ เจ้าได้
- ส่วนบทบาทของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ให้เหลือแค่การเป็นหนึ่งในผู้ผลิตไฟฟ้าในประเทศ โดยแยกหน้าที่ของการกำกับดูแลระบบสายส่งให้มาอยู่ภายใต้หน่วยงานใหม่ของรัฐ เพื่อความเป็นธรรมในการเข้าถึงสายส่งไฟฟ้า
- เปิดตลาดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งมีคาร์บอนฟุตพริ้นท์ต่ำ เพื่อขายให้กับภาคธุรกิจเอกชน/กิจกรรมทางสังคม (เช่น การประชุม คอนเสิร์ต) ที่ต้องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในราคาที่เพิ่มสูงขึ้น และคืนทุนได้เร็วขึ้น เป็นแรงจูงใจให้มีการผลิตพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นได้
- ปลดล็อกให้ประชาชนทุกบ้านติดแผงโซลาร์ ด้วยระบบ net metering (หักลบหน่วยขาย/ซื้อ) เพื่อช่วยลดค่าไฟฟ้า และเปิดโอกาสให้ขายไฟฟ้าที่ผลิตเกินใช้ กลับคืนให้รัฐในราคาตลาด
- รับซื้อไฟฟ้าส่วนเกิน (จากระบบ net metering) จากโซลาร์เซลล์และพลังงานหมุนเวียนที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อย ในราคาที่สูงกว่าตลาด และประกันราคารับซื้อไฟฟ้าขั้นต่ำ
- นำ LPG จากโรงแยกก๊าซ ที่จะขายให้โรงปิโตรเคมีโดยไม่ได้ให้ประชาชนใช้ ส่งเข้ากองทุนน้ำมัน/หรือเก็บภาษีปิโตรเคมี เพื่อเพิ่มรายได้รัฐในการดูแลประชาชน
- ควบคุมค่าการตลาดให้อยู่ในเกณฑ์ที่ตกลง และเปิดเผยข้อมูลราคาขายหน้าโรงกลั่น เพื่อกระตุ้นให้เกิดการแข่งขัน
นายเกียรติ สิทธีอมร กรรมการนโยบายเศรษฐกิจ พรรคประชาธิปัตย์ ชู คำนวณค่า Ft ทุกเดือน
- เสนอให้มีการเจรจา การมีกำลังไฟฟ้าสำรองของประเทศใหม่ เพื่อภาระค่าไฟไปตกอยู่กับประชาชนที่ต้องจ่าย จากผลพวงที่รัฐบาลมีการสำรองไฟมากเกินกว่าที่ใช้จริง
- พร้อมทั้งเสนอให้ลดต้นทุนการผลิตกระแสไฟฟ้าซึ่งสามารถทำได้ทันที
- ส่วนคำนวณค่า Ft นั้นให้ใช้การคำนวณทุกเดือนจากปัจจุบันคาดการณ์ล่วงหน้า 4 เดือน เชื่อว่าจะทำให้สามารถลดค่าไฟได้ทันทีได้ 1 บาท
- เจรจาขายก๊าซที่เหลือกับ The ASEAN Power Grid (APG) ที่ไทยเป็นสมาชิก
- จัดการเรื่องแก๊สซึ่งเป็นต้นทุนของราคาพลังงาน เนื่องจาก 60% จะใช้แก๊สเป็นเชื้อเพลิง เพราะฉะนั้นสิ่งแรกต้องแก้ปัญหาเรื่องต้นทุนแก๊ส โดยจัดสัมปทานแก๊ส ให้นำมาใช้ในครัวเรือนและผลิตไฟฟ้าก่อน
- การเจรจาขอยืมแก๊สจากพื้นที่ทับซ้อนไทย-มาเลเซีย ซึ่งมีระบุในสัญญาสามารถยืมแก๊สได้ โดยจะทำทันทีภายใน 1 เดือน เพื่อยืมแก๊สในพื้นที่ทับซ้อน
- ออกพันธบัตรรัฐบาลให้ กฟผ.ใช้หนี้แสนกว่าล้าน และเพื่อนำมาอุดหนุนราคาแก๊สและไฟฟ้าให้ประชาชน
ส่วนอีก 3 พรรค คือ พรรคเพื่อไทย รวมไทยสร้างชาติ ไทยสร้างไทย มีนโบายเรื่องค่าไฟและการบริหารจัดการพลังงานของไทย คือ
น.ต.ศิธา ทิวารี แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคไทยสร้างไทย
- ลดค่าไฟเหลือไม่เกิน 3.50 บาท/หน่วย
นายวิทยา แก้วภราดัย รองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ
- เกษตรกรผู้มีรายได้น้อยจ่ายค่าไฟ 3.90 บาท/หน่วย
นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ประธานคณะกรรมการนโยบาย พรรคเพื่อไทย
- ติดโซลาร์เซลล์ในบ้านเรือน
- กฟผ.ผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์
- ปรับลดค่าไฟตามต้นทุนพลังงาน
- พัฒนาเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับไฟฟ้าสำรองที่สั่งซื้อจากเอกชน