“เจ้าสัวสหพัฒน์” ไม่กังวลนโยบายทลายทุนผูกขาด แต่ห่วงขึ้นค่าแรง นักลงทุนแห่ย้ายฐานผลิต
ประธานเครือสหพัฒน์ ให้การบ้านรัฐบาลใหม่ เร่งพัฒนาเศรษฐกิจ ห่วงขึ้นค่าแรงทำนักลงทุนย้ายฐานการผลิต ยันไม่ติดใจหากประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีอายุน้อย และไม่กังวลกับนโยบายทลายทุนผูกขาด ย้ำทำงานร่วมกับทุกรัฐบาลได้ พร้อมเปรียบเศรษฐกิจประเทศไทยปี2566 เหมือนกับการขับรถหรู
“พิธา” ยันขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาท ย้ำมีหลักการไม่ได้ขึ้นตามใจตัวเอง
หอการค้าไทย หวั่นขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำ 450 บาท กระทบการลงทุน
เมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2566 นายบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์ กล่าวถึงรัฐบาลใหม่ว่า หากสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ สิ่งที่อยากจะให้เป็นการบ้าน คือ การพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ แต่ต้องพัฒนาเศรษฐกิจให้คนมีการศึกษา ให้คนมีงานทำ เช่น การพัฒนาด้านการเกษตร ให้มีราคาสูงขึ้น คนที่ทำการเกษตรก็จะมีรายได้เทียบเท่ากับคนที่ทำอุตสาหกรรม ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไม่มีคนว่างงาน ตรงกันข้ามถ้าราคาสินค้าเกษตรลดลง คนก็จะหนีจากต่างจังหวัดเข้าสู่กรุงเทพมหานคร และก็จะมีปัญหาเรื่องค่าแรงอีก
โดยเรื่องนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 450 บาทต่อวัน ประธานเครือสหพัฒน์ มองว่า หากค่าแรงสูง นักลงทุนอาจจะย้ายไปยังประเทศเวียดนาม อย่างอุตสาหกรรมเสื้อผ้า ที่ถึงแม้ไม่ได้ขึ้นค่าแรงก็มีการย้ายออกไปที่เวียดนามแล้ว รวมทั้งจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจในประเทศโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว
ส่วนการที่ประเทศไทยจะมีนายกรัฐมนตรีอายุน้อยที่สุด นายบุณยสิทธิ์ กล่าวว่า คนรุ่นใหม่จะมีไอเดียแบบใหม่ ทำอะไรเร็วขึ้น ส่วนคนที่มีอายุมากก็จะมีความรอบคอบ แต่อาจทำงานช้า เพราะฉะนั้นถ้ามีคนรุ่นใหม่มาก็จะเป็นจุดเด่น ในต่างประเทศก็มีนายกรัฐมนตรีเป็นคนรุ่นใหม่ รวมถึงบางประเทศก็มีผู้หญิงทั่วโลกก็มีการปลี่ยนแปลง จึงเชื่อว่าเรื่องอายุไม่เกี่ยวอะไร
ทั้งนี้ นายบุณยสิทธิ์ ระบุถึงนโยบายการทลายทุนผูกขาดและเก็บภาษีจากความมั่งคั่ง ว่า ไม่น่ากังวล เพราะเป็นแนวทางที่เหมือนกันทั้งโลก ส่วนการที่พรรคร่วมรัฐบาล 8 พรรค ตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาเร่งด่วน 7 คณะ และหนึ่งในปัญหาที่จะแก้คือเรื่องเศรษฐกิจ มองว่า เป็นแนวทางที่ถูกต้องแล้ว แต่ยังไม่รู้ว่าจะดีหรือไม่ เพราะไม่รู้ว่าจะมีแนวทางแก้ปัญหาในรูปแบบใด ขณะที่การตั้งรัฐบาลที่อาจจะมีความล่าช้า มองว่า ไม่น่ากังวลและไม่กระทบต่อการลงทุน และคิดว่าประเทศไทยยังดีกว่าประเทศอื่น
อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจของประเทศในปีนี้ เปรียบเสมือนขับรถหรูรถมัสแตงค์ แต่ยังต้องให้ความสำคัญและระวังภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก ขณะที่การทำธุรกิจในยุคนี้ต้องรู้จักปรับตัว โดยบริษัทเอกชนก็สามารถปรับตัวเข้าได้กับทุกรัฐบาล ไม่ว่ารัฐบาลไหนมาก็พร้อมที่จะร่วมมือ และปรับตัวเช่นกัน