ไทยตั้งรัฐบาลใหม่ช้า กระทบเบิกจ่ายงบ ลุกลามการลงทุน-บริโภคในประเทศ
SCB EIC ประเมินไทยจัดตั้งรัฐบาลใหม่ หากล่าช้าถึงเดือน ต.ค. จะกระทบการเบิกจ่ายงบประมาณปี 67 ลุกลามไปถึงการลงทุน และการบริโภคในประเทศ พร้อมมองขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทันที 450 บาท จะดันเงินเฟ้อพุ่งอีก 0.6%
SCB EIC คงเป้าจีดีพีไทย โต 3.9% ส่งออกไม่สดใส คาดปีนี้ดอกเบี้ยขึ้นอีก 2 ครั้ง
จับตา "จัดตั้งรัฐบาลใหม่" มีผลต่อเศรษฐกิจไทยช่วงไตรมาส 4
"เศรษฐา" เชื่อหากจัดตั้งรัฐบาลได้เร็ว ดึงนักลงทุนกลับเข้าประเทศได้อีกครั้ง
ดร.ฐิติมา ชูเชิด ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยด้านเศรษฐกิจ และตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB EIC เปิดเผยว่า ทาง SCB EIC คาดการณ์จัดตั้งรัฐบาลใหม่จะเกิดขึ้นในช่วงเดือน ส.ค. ซึ่งจะทำให้การจัดทำงบประมาณปี 67 ล่าช้าออกไปราว 3-4 เดือน ส่งผลกระทบต่อการเบิกจ่ายรัฐไม่มากนัก เนื่องจากยังสามารถใช้งบประมาณเดิมได้อยู่
ทั้งนี้ยังมีความเป็นไปได้ที่การจัดตั้งรัฐบาลจะล่าช้าไปถึงเดือน ต.ค. จะทำให้การจัดทำงบประมาณปี 67 ล่าช้ามากถึง 6 เดือน จะกระทบกับการเบิกจ่ายรัฐ
โดยเฉพาะงบการลงทุนที่มีการตั้งเป้าหมายเบิกจ่ายราว 50% รวมถึงความต่อเนื่องของโครงการใหญ่จะกระทบมากขึ้น
"การใช้จ่ายรัฐบาลกระทบแน่ ๆ แต่ตัวที่อาจกระทบด้วยเป็นความเชื่อมั่นการลงทุน และกระทบกับการลงทุนเอกชน ถ้าผู้บริโภคไม่เชื่อมั่นในช่วงสูญญากาศ ก็อาจจะกระทบการบริโภคไปด้วย" ดร.ฐิติมา กล่าว
สำหรับนโยบายของรัฐบาลใหม่ ในด้านการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะกระทบกลุ่มอุตสาหกรรมมากสุด ในภาคเกษตร ค้าปลีกค้าส่ง และการก่อสร้าง ส่วนผลกระทบต่อธุรกิจนั้นขึ้นอยู่การปรับตัวของธุรกิจ ว่าจะสามารถปรับราคาสินค้าทันหรือไม่ รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้ทดแทนแรงงานคน และอาจมีมาตรการช่วยเหลือทางภาษีของภาครัฐ
โดยจากการประเมินหากมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจาก 341 บาท มาอยู่ที่ 450 บาทในทันที จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอีกราว 0.6% ซึ่ง SCB EIC คาดการณ์เงินเฟ้อปีนี้ไว้ที่ 2.1% อย่างไรก็ตามประเมินว่าเงินเฟ้อจะไม่สูงมากในปีนี้ หากไม่มีปัจจัยกดดันใหม่เพิ่มเข้า
ขณะที่นโยบายยกเลิกทุนผูกขาด ธุรกิจขนาดเล็กจะได้ประโยชน์ แต่ธุรกิจรายใหญ่จะได้รับผลกระทบทั้งธุรกิจเครื่องเดิมแอลกอฮอล์ โรงไฟฟ้าเอกชน เป็นต้น
ส่วนหนี้สาธารณะ จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในทุกการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ขึ้น เพราะอาจมีรายจ่ายเพิ่มสูงขึ้นจากการดำเนินนโยบายที่หาเสียงไว้ ซึ่งพรรคก้าวไกล นโยบายสวัสดิการก้าวหน้าที่ต้องใช้งบประมาณ 6.5 แสนล้านบาท โดยนำเงินมาจากการปฏิรูปการคลัง รายจ่าย และภาษี ดังนั้น SCB EIC ประเมินว่า ประเด็นดังกล่าวจะไม่ทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น เพราะไม่ต้องกู้เงิน