สนับสนุนตลาดกาแฟไทย มุ่งบ่มเพาะ "ความพิเศษ"ให้เติบโต
คนไทยดื่มกาแฟสูงขึ้นเท่าตัวเช่นเดียวกับคาเฟ่กาแฟที่มีแทบทุกอำเภอทั่วประเทศ จึงเป็นช่องโอกาสสำคัญที่จะยกระดับกาแฟธรรมดาของไทยให้กลายเป็นกาแฟพิเศษ สร้างการเติบโตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ
กาแฟพิเศษ (Specialty Coffee) คือ กาแฟที่คัดสรรเพื่อได้เมล็ดที่มีคุณภาพก่อนนำไปผ่านกระบวนการแปรรูป และคั่วอย่างมีหลักการ ซึ่งผลลัพธ์สุดท้ายก็คือกาแฟที่มีรสชาติเฉพาะตัวและให้รสสัมผัสที่แตกต่างจากกาแฟปกติ แต่แน่นอนว่าราคาขายก็สูงขึ้นเท่าตัวจากกาแฟทั่วไป
Thai Specialty Coffee Awards 2023 เฟ้นหาเมล็ดกาแฟสายพันธุ์ไทยคุณภาพดีที่สุด
Dear December คาเฟ่ย่านบางนากับแนวคิดสุดเก๋ที่อยากให้ทุกคนมีความสุข
ให้เห็นภาพชัดๆ ยกตัวอย่างเช่น กาแฟพิเศษสัญชาติไทยจากแหล่งปลูกบ้านมณีพฤกษ์ ต.งอบ อ.ทุ่งช้าง จ.น่าน ที่ได้รับรางวัลจากการประกวดสุดยอดเมล็ดกาแฟพิเศษไทยในปีนี้ สามารถทำราคาประมูลได้สูงถึง 10,010 บาทต่อกิโลกรัม
ขณะที่ ปัจจุบันภาพรวมตลาดกาแฟพรีเมี่ยม อยู่ที่ 20,000 ล้านบาท คิดเป็น Specialty Coffee ประมาณ 2,000 ล้านบาท (ราว 10% ของทั้งหมด) ซึ่งมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และเป็นช่องของโอกาสที่จพทำให้เกษตรกรของไทยหันมาพัฒนาคุณภาพ ต่อยอดเมล็ดกาแฟให้กลายเป็น กาแฟพิเศษ (Specialty Coffee)
ในอดีตคอกาแฟมักจะคุ้นเคยกับกาแฟจากบราซิล, เอธิโอเปีย, กัวเตมาลา และโคลอมเบีย แต่ปัจจุบัน Specialty Coffee ของไทยเริ่มเป็นที่รู้จักและเป็นกาแฟดาวรุ่งที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นทั้งในตลาดในประเทศ และต่างประเทศ
: คุณกรณ์ สงวนแก้ว อุปนายกสมาคมกาแฟพิเศษไทย กล่าว
นอกจากนั้น ข้อได้เปรียบของประเทศกาแฟไทยที่จะต่อยอดให้มีความพิเศษขึ้นมาได้ เพราะมีพื้นที่เพาะปลูกตั้งแต่ต้นน้ำ จนถึงปลายน้ำ ซึ่งคุณช้างน้อย กุญชร ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการ บริษัท คลาวด์แอนด์กราวนด์ จำกัด กล่าวเสริมว่า เพราะ กาแฟหมายถึง ป่า คน เศรษฐกิจ หรือ Good Coffee for Everyone
อธิบายให้เห็นภาพคือ ในกลุ่มประเทศที่มีเมล็ดกาแฟชื่อก้องโลก อย่าง บราซิล หรือ เอธิโอเปีย ก็ดี มีพื้นที่ปลูกกาแฟ แต่ไม่มีคาเฟ่กาแฟที่หลากหลายแบบบ้านเรา หรือประเทศที่มีคาเฟ่กาแฟสวย โดดเด่นอย่างเกาหลีใต้ ก็ไม่มีพื้นที่ปลูกกาแฟ
ขณะที่บ้านเรามีทั้งพื้นที่ปลูกกาแฟและคาเฟ่ที่ใช้กาแฟพิเศษ (Specialty Coffee) โดยมีกลุ่มลูกค้าหลักทั้งนักศึกษา ไปจนถึงวัยทำงาน ทำให้เห็นแนวโน้มการเติบโตขึ้นได้อีก จากสถิติการบริโภคกาแฟของคนไทยมีการเพิ่มสูงขึ้นเท่าตัว จาก 180 แก้วต่อคนต่อปี เป็น 300 แก้วต่อคนต่อปี และกระแสความนิยมของ Specialty Coffee หรือกาแฟพิเศษก็เติบโตขึ้นด้วยในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา
ที่สำคัญปัจจุบันคาเฟ่กาแฟส่วนใหญ่ล้วนมีความโดดเด่นของสถานที่ ความเป็นเอกลักษณ์และสไตล์ของร้านที่แตกต่างกัน ไปจนถึงคุณภาพของเมล็ดกาแฟ ต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้อีกทางหนึ่ง
สอดคล้องกับที่ คุณกรณ์ สงวนแก้ว อุปนายกสมาคมกาแฟพิเศษไทย บอกว่า คาเฟ่กาแฟ โดยเฉพาะที่มีกาแฟพิเศษ (Specialty Coffee) มีอยู่แทบทุกอำเภอในประเทศไทย ส่วนใหญ่ได้รับการันตีด้านคุณภาพเกิน 80 คะแนน เข้าเกณฑ์กาแฟพิเศษ (Specialty Coffee) อยู่แล้ว ขณะที่การปลูกกาแฟทั้งหมดของไทย 16,000 ตัน 70-80% เป็นเกรดพิเศษเกือบทั้งหมด
แสดงให้เห็นถึงห่วงโซ่ของอาชีพตั้งแต่ต้นน้ำอย่างเกษตร มาถึงโรงคั่ว บาริสต้า ธุรกิจภาคบริการ ฯลฯ เป็นสายป่านยาวที่ยั่งยืน ยิ่งหากได้รับการสนับสนุนจากทั้งภาครัฐ รวมถึงพื้นที่ของโอกาสที่ทำให้สายป่านนี้มาเจอกันยิ่งเป็นโอกาสที่ดี
ซึ่งแรงผลักดันที่ดีที่จะทำให้กาแฟไทยกลายเป็นกาแฟพิเศษ (Specialty Coffee) คือ “ภาครัฐ” เพราะปัจจุบันไทยยังมีอุปสรรคและข้อจำกัดในการนำเข้าสายพันธุ์กาแฟ เพราะภาษีนำเข้าสายพันธุ์กาแฟที่สูงมาก ติดอันดับโลก คือ 90%
คุณกรณ์ บอกว่า โดยส่วนใหญ่เกษตรกรที่ปลูกกาแฟไทยจะอยู่ในช่วง Gen Y อายุเฉลี่ย 30-40 ปีขึ้นไป ซึ่งมีความสามารถในการพัฒนาคุณภาพสายพันธ์กาแฟอยู่แล้ว หากภาครัฐมุ่งส่งเสริม “การเข้าถึงสายพันธุ์กาแฟที่ดี” ก็จะยิ่งทำให้ กาแฟพิเศษ (Specialty Coffee) เติบโตมากยิ่งขึ้น
ในส่วนของภาคเอกชน หนึ่งในพื้นที่ที่จะทำให้คนรักกาแฟมาเจอกัน คนที่อยากรู้จักโลกของกาแฟ ต่อยอดอาชีพ ต่อยอดฝีมืออย่างบาริสต้า คือเทศกาลเพื่อคนรักกาแฟที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Thailand Coffee Fest 2023 ภายใต้แนวคิด “Good Coffee for Everyone” ช่วงในวันที่ 13-16 กรกฎาคมนี้ ที่ อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น ฮอลล์ 5 – 8 เมืองทองธานี
ถือเป็นหนึ่งในพื้นที่ให้พบปะ แลกเปลี่ยน ประกวด เริ่มต้น เรียนรู้ในโลกของกาแฟ จะเป็นผู้ชิม ผู้ชม ผู้ที่กำลังเริ่มต้นอาชีพ ก็สามารถไปหาโอกาสและความรู้กันได้ที่งานนี้ เพื่อยกระดับวงการ ‘กาแฟพิเศษ’ ไทยสู่ตลาดโลก ตั้งเป้าหนุนตลาดกาแฟพิเศษโตอย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายเดินหน้าสู่การเป็น Coffee Hub of Asia ใน 3 ปี