เปิดใจคนใช้รถไฟฟ้าสีต่างๆ "ตั๋วแพง" คือปัญหาที่อยากให้แก้ที่สุด
กรุงเทพโพลล์ สำรวจผู้ใช้รถไฟฟ้าสายสีต่างๆ พบว่า "ตั๋วแพง" ยังเป็นปัญหาสำคัญ เสียค่าโดยสารเฉลี่ย 51-100 บาทต่อวัน
กรุงเทพโพลล์ เปิดผลสำรวจความเห็นของประชาชนเกี่ยวกับ "รถไฟฟ้าสายสีต่างๆ กับ หัวอกคนใช้บริการ" โดยเป็นความเห็นของประชาชนที่ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 1,200 คน พบว่า
อัปเดตโครงข่ายรถไฟฟ้า กทม.-ปริมณฑล ช่วง 8 ปี เปิด 8 เส้นทาง
เคาะราคาค่าโดยสารสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) เริ่ม 15-45 บาท ตั้งแต่ 3 ก.ค.2566
ปัจจุบันประชาชนร้อยละ 38.2 เดินทางโดยรถไฟฟ้า บีทีเอส (BTS) เอ็มอาร์ที (MRT) แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ แต่จะใช้บริการเป็นบางวัน ส่วนที่ใช้ทุกวันอยู่ที่ร้อยละ 36.2 และ 25.6 ระบุว่า นานๆ ใช้ที
ขณะเดียวกัน ผู้ใช้รถไฟฟ้าส่วนใหญ่ (ร้อยละ 66.2) ขึ้นขบวนเดียว หรือ ต่อเดียวถึง ขณะที่ร้อยละ 33.8 ต้องเปลี่ยนขบวนเชื่อมต่อไปรถไฟฟ้าสายสีอื่น
มาดูที่ค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าโดยสาร ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ใช้บริการอยากให้ "ลดลง" โดยร้อยละ 46.2 มีค่าใช้จ่ายในการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าเฉลี่ยวันละ 51-100 บาท รองลงมาร้อยละ 35.4 น้อยกว่า 50 บาท และร้อยละ 14.2 มีค่าใช้จ่ายสูงถึง 101-150 บาท
เพราะฉะนั้นแล้ว สิ่งที่ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 61.0 รู้สึกว่าเป็นปัญหาหรือลำบากในการใช้บริการรถไฟฟ้า คือ ค่าตั๋วโดยสารแพง และอยากให้ปรับค่าโดยสารให้ถูกลงกว่านี้
ส่วนปัญหาอื่นๆ ที่ผู้ใช้บริการมองว่าลำบากในการเดินทางด้วยรถไฟฟ้า คือ จุดเชื่อมต่อของ เอ็มอาร์ที (MRT) บีทีเอส (BTS) เดินไกล และยุ่งยากที่ต้องพกบัตรโดยสารทีละหลายใบ ทั้ง เอ็มอาร์ที (MRT) / แรบบิท และ EMV
ขณะเดียวกัน ผู้ใช้บริการอยากฝากถึงผู้ที่เกี่ยวข้องกับการใช้บริการรถไฟฟ้า คือ อยากให้มีบัตรเดียวใช้บริการได้กับรถไฟฟ้าทุกสายเหมือนต่างประเทศ (ร้อยละ 48.5) และอยากให้เร่งสร้างรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ ให้เสร็จตามแผนอย่างรวดเร็ว (ร้อยละ 47.6)
อย่างไรก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 88.3 พึงพอใจมากถึงมากที่สุด ส่วนที่พึงพอใจน้อยถึงน้อยที่สุด ร้อยละ 11.7