สัญญาณร้ายเศรษฐกิจไทย! "ตั้งรัฐบาลช้า-ของแพง" กำลังซื้อหด
สัญญาณร้ายเศรษฐกิจไทยมาแล้ว กำลังซื้อเริ่มหดหาย จากค่าครองชีพสูงและภาครัฐไร้มาตรการกระตุ้น จากปัญหาสุญญากาศทางการเมือง ไร้รัฐบาลมีอำนาจเต็ม
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีก (Retailer Sentiment Index: RSI) ในเดือนก.ค.ที่ผ่านมา ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 มาอยู่ที่ระดับ 43 โดยเป็นการลดลงในเกือบทุกประเภทร้านค้า นำโดยร้านสะดวกซื้อที่ความเชื่อมั่นปรับลดลงอย่างมาก
ทั้งนี้ ได้ทำการสำรวจข้อมูลระหว่างวันที่ 17-25 ก.ค. หลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค. เป็นเวลา 2 เดือน
การปรับลดลงของดัชนี RSI มาจากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่อ่อนแอ โดยเฉพาะครัวเรือนฐานราก เนื่องจากค่าครองชีพที่ยังอยู่ในระดับสูงและไม่มีมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายจากภาครัฐ
ขณะที่ธุรกิจค้าปลีกยังเผชิญกับภาวะต้นทุนสูงอย่างต่อเนื่อง แต่การปรับขึ้นราคาสินค้าทำได้จำกัด และยังต้องเผชิญกับการแข่งขันราคาที่รุนแรง ทำให้ยอดขายและรายได้ธุรกิจลดลง ซึ่งกดดันให้ความเชื่อมั่นในปัจจุบัน และอีก 3 เดือนข้างหน้าปรับลดลงด้วย
แม้ว่าความเชื่อมั่นยอดขายสาขาเดิม(SSG) ค่าใช้ต่อครั้ง (Spending per bill) และความถี่ในการใช้บริการจะปรับเพิ่มขึ้นเล้กน้อย แต่ยังคงต่ำกว่าระดับ 50 แสดงถึงกำลังซื้อที่ฟื้นตัวยังไม่ชัดเจน ส่งผลให้ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น
หากพิจารณาตามภูมิภาคพบว่าความเชื่อมั่นต่อยอดขายสาขาเดิมปรับดีขึ้นในภาคเหนือและภาคใต้จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น ขณะพที่ภาคกลางและตะวันออกเฉียงเหนือความเชื่อมั่นปรับแย่ลงจากเดือนก่อน และอยู่ต่ำกว่า 50 สะท้อนการฟื้นตัวที่ยังไม่ทั่วถึง
ด้านสภาพคล่องธุรกิจในภาพรวมมีแนรวโน้มลดลง สะท้อนจากสัดส่วนของธุรกิจที่มีสภาพคล่องต่ำกว่า 6 เดือนเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ดี 66% ของธุรกิจยังมีวสภาพคล่องมากกว่า 6 เดือนขึ้นไป
ผลกระทบของอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น พบว่า 68% ของธุรกิจได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นดอกเบี้ย โดยส่วนใหญ่มีภาระหนี้เพิ่มขึ้น แต่ยังสามารถชำระเงินกู้ได้ตามปกติ