หนี้เสียพุ่ง! ยึดรถแตะ 30,000 คัน/เดือน อุตฯรถยนต์ห่วงฉุดยอดผลิตปีนี้
หลังเครดิตบูโร รายงานข้อมูลไตรมาส 3 ปี 66 พบหนี้เสียรถยนต์ สูงกว่า 2 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.9% รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท. ห่วงหากหนี้เสียรถยนต์เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ค่าครองชีพแพง และค่าไฟฟ้าเตรียมปรับขึ้น คาดว่าจะกระทบต่อยอดการผลิตรถยนต์แน่นอน ส่วนยอดการยึดรถยนต์เพิ่มขึ้น เป็น 30,000 คันต่อเดือน
หนี้เสียรถยนต์พุ่ง 20% เครดิตบูโรห่วงแนวโน้มเพิ่มขึ้น ท่ามกลางเศรษฐกิจโตต่ำ
ลิสซิ่งเข้มงวดก่อนปล่อยสินเชื่อรถ หลังหนี้เสียพุ่ง
เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 2566 นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า หนี้เสียรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น มีผลกระทบต่อยอดขายรถกระบะในประเทศลดลง สาเหตุจากไฟแนนซ์ไม่ปล่อยกู้ และผู้กู้ติดเครดิตบูโร รวมถึงไฟแนนซ์ให้วางเงินดาวน์สูงขึ้นเป็น 30-40% ทำให้ผู้ซื้อไม่มีกำลังซื้อรถ
โดยยอดขายรถยนต์กระบะช่วง 10 เดือนของปีนี้ ลดลงถึง 85,000 คัน เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน กระทบยอดการผลิตรถยนต์กระบะถึง 91,000 คัน
หากเป็นเช่นนี้จนถึงสิ้นปี 66 คาดว่าจะกระทบต่อยอดการผลิตรถยนต์กระบะถึง 1 แสนคัน
ขณะที่ข้อมูลการซื้อรถยนต์ส่วนใหญ่ พบว่าประชาชนเลือกซื้อด้วยวิธีกู้ ไม่ซื้อเงินสดมากถึง 80-90% ซึ่งปี 65 มีการยึดรถอยู่ที่ 20,000 คันต่อเดือน ส่วนปีนี้มีการยึดรถเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 25,000-30,000 คันต่อเดือน อีกทั้งมีการปรับเป้าการขายรถยนต์ในปีนี้ถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกตั้งเป้ายอดขายที่ 9 แสนคัน ปรับเหลือ 8.5 แสนคัน และครั้งที่ 2 ปรับลดเหลือ 8 แสนคัน ซึ่งยังไม่แน่ใจว่าจนถึงสิ้นปีจะมีการปรับลดเป้ายอดขายอีกหรือไม่ เพราะขณะนี้ยังพบการปฏิเสธให้สินเชื่อรถยนต์สูง
อย่างไรก็ตาม ดังนั้นหากหนี้เสียรถยนต์ยังเพิ่มสูงขึ้น รัฐบาล ธนาคาร และ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ต้องร่วมกันหามาตรการสนับสนุน เพื่อช่วยแก้ไขปัญหา โดยเน้นเพิ่มรายได้เพื่อเสริมสภาพคล่อง และเพิ่มความสามารถในการชำระหนี้ รวมถึงเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ และการลงทุนในประเทศ
“ตอนนี้อัตราดอกเบี้ยก็อยู่ในช่วงขาขึ้นด้วย เพราะฉะนั้นรายได้ที่เขาหามาได้ก็จะต้องไปชำระเรื่องดอกเบี้ยที่เขายังมีหนี้ค้างอยู่ เมื่อก่อนก็ยังมียอดหนี้อยู่ไม่เท่าไหร่ อัตราดอกเบี้ยตอนนั้นก็ หมายถึงดอกเบี้ยนโยบาย 0.25 เดี๋ยวนี้ขึ้นมาเป็น 2.5 แล้ว ภาระดอกเบี้ยตรงนี้ก็จะบั่นทอนความสามารถในการที่จะชำระหนี้เดิมของเขา รวมทั้งเรื่องในอนาคตหนี้ในปัจจุบันที่เขากู้อีก” นายสุรพงษ์ กล่าว
นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ประชาชนมีภาระค่าใช้จ่ายสูงขึ้น จากผลกระทบของสถานการณ์ราคาสินค้ามีราคาแพงขึ้น รวมถึงค่าไฟฟ้าก็เตรียมปรับขึ้น จึงถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เงินเหลือไปชำระหนี้น้อยลง ซึ่งรัฐบาลควรหาแนวทางช่วยลดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้และหาช่องทางการเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน