สงครามอิสราเอล-อิหร่านพ่นพิษ น้ำมันจะแพงไปถึงไหน?
สงครามตะวันออกกลางยังไม่จบ น้ำมันโลกจะพุ่งไปถึง 150 เหรียญเหมือนในอดีตหรือไม่
ราคาน้ำมันผันผวน ดีเซลไทยทะลุ 30 บาท ส่วนเบนซินแพงติดอันดับ 5 อาเซียน รัฐยังอุดหนุนไหวไหมเมื่อเงินกองทุนติดลบเป็นแสนล้าน ขณะที่สงครามตะวันออกกลางยังไม่จบ น้ำมันโลกจะพุ่งไปถึง 150 เหรียญเหมือนในอดีตหรือไม่ แล้วน้ำมันไทยจะเป็นยังไง
จากสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางช่วงที่ผ่านมา ดันราคาน้ำมันโลกปรับตัวสูงขึ้น แตะระดับสูงสุดในรอบ 4 เดือน นอกจากนี้ยังพบว่าราคาน้ำมันเบนซินไทยแพงติดอันดับ 5 ในกลุ่มอาเซียน
สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยข้อมูลราคาขายปลีกน้ำมันประเทศไทยและต่างประเทศ ณ วันที่ 25 มีนาคม ที่ผ่านมา พบว่า ราคาน้ำมันเบนซิน ประเทศสิงคโปร์แพงสุดในกลุ่มอาเซียน อยู่ที่ระดับ 78 บาทต่อลิตร ขณะที่ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 5 ของกลุ่มอาเซียน ที่ระดับ 38.65 บาทต่อลิตร
ส่วนราคาน้ำมันดีเซล ประเทศสิงคโปร์ แพงสุดในกลุ่มอาเซียนเช่นกัน อยู่ที่ 72.87 บาทต่อลิตร ขณะที่ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 8 ที่ 29.94 บาทต่อลิตร
อย่างไรก็ตาม ราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปในแต่ละประเทศจะแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับโครงสร้าง มาตรการด้านภาษี และนโยบายการชดเชยราคาน้ำมันของประเทศนั้น
นอกจากนี้ สนพ. ยังบอกว่ายังต้องจับตาอีกหลายปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมัน ไม่ว่าจะเป็น อุปสงค์น้ำมันดิบของจีน รวมทั้งสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ยังคงน่ากังวล
ด้าน ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินสถานการณ์ ณ วันนี้ คาดว่าสงครามตะวันออกกลางระหว่างอิสราเอล – อิหร่าน ไม่น่าจะบานปลายหรือขยายวงกว้างจนนำไปสู่สงครามขนาดใหญ่ แต่อาจยืดเยื้อกระทบต้นทุนขนส่งและต้นทุนพลังงานแพงขึ้น ในช่วงที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกดีดตัวขึ้นมาแล้ว อยู่ที่กว่า 80 เหรียญต่อบาร์เรล คาดว่าราคาน้ำมันน่าจะยังคงทรงตัวในระดับสูง แต่ไม่พุ่งสูงขึ้นไปมากกว่านี้ เนื่องจากสถานการณ์ตอนนี้ดูเหมือนว่าอิสราเอลและอิหร่าน ไม่ได้มีเป้าหมายที่จะขยายการทำสงครามให้มีการขนาดใหญ่ขึ้น
แต่ถ้าสงครามลุกลามบานปลาย และเกิดการใช้วิธีปิดเส้นทางเดินเรือ ความน่ากังวลอยู่ที่จุดยุทธศาสตร์ 2 จุดในตะวันออกกลาง คือ บริเวณทะเลแดงซึ่งเป็นเส้นทางเดินเรือของระบบการค้าโลก และบริเวณช่องแคบฮอร์มุซ ซึ่งใช้ขนส่งน้ำมันไปทั่วโลก
โดยในแต่ละวันมีการขนส่งน้ำมันปริมาณมหาศาลผ่านช่องแคบนี้ ถึงวันละ 20 ล้านบาร์เรล หรือ 20% ของการใช้น้ำมันทั่วโลก หากมีการใช้จุดยุทธศาสตร์นี้เพื่ออำนาจต่อรองในสงครามด้วยการปิดเส้นทางการเดินทาง แน่นนอนว่าจะส่งผลต่อเศรษฐกิจการค้าโลกอย่างรุนแรง และอาจได้เห็นราคาน้ำมันพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยกรณีเลวร้ายสุด เราอาจจะเห็นราคาน้ำมันที่มันสูงกว่าตอนสงครามอ่าวเปอร์เซีย อาจจะพุ่งมากกว่า 150 เหรียญต่อบาร์เรล
ถ้าปิดช่องแคบฮอร์มุซ อันนี้ราคาน้ำมันขึ้นไปเนื้อจินตนาการได้เพราะมันคือการตัดอุปทานจำนวนมากของโลกไปเลย แต่ว่ามันคงไม่เกิด อันนี้มันเป็นจินตนาการเฉย ๆ แต่เราต้องจินตนาการไว้เพราะว่าถ้ามันเกิดขึ้นมามันกระทบเพราะประเทศไทยยังไงก็เป็นประเทศนำเข้าพลังงาน เลวร้ายที่สุดก็ต้องจินตนาการถึงสิ่งที่แย่ที่สุด สิ่งที่แย่ที่สุดเราอาจจะเห็นราคาน้ำมันที่มันสูงกว่าตอนอ่าวเปอร์เซีย อาจจะมากกว่า 150 เหรียญต่อบาร์เรล แต่ก็หวังว่าจะไม่เกิดอย่างนั้น ถูกไหมครับ ดร.อนุสรณ์กล่าว
ถ้าเป็นแบบนั้นแน่นอนว่าราคาน้ำมันในประเทศไทยก็จะต้องเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย แม้ว่าจะมีกองทุนน้ำมันช่วยอุดหนุนราคาขายปลีกในประเทศ แต่ตอนนี้กองทุนน้ำมันติดลบกว่าแสนล้านบาท หากเอาเงินมาช่วยอุดหนุนไปเรื่อยๆ ก็จะยิ่งขาดทุนมากขึ้นเรื่อยๆ เกิดภาระทางการคลังจำนวนมาก ดร.อนุสรณ์ จึงมองว่า วิธีที่ดีที่สุด คือ ต้องลดการแทรกแซงการอุดหนุนราคา ปล่อยให้ราคาพลังงานสะท้อนความเป็นจริง
ความเห็นของผมยังต้องอุดหนุนอยู่เพราะว่าถ้าไม่อุดหนุนเลยมันจะเกิดปัญหาเรื่องเงินเฟ้อและค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วเพียงแต่ว่าการอุดหนุนหรือการชดเชยต้องลดเพดานลงมา อย่างเช่น เราบอกว่าดีเซลไม่เกิน 30 บาท เราอาจจะต้องขยับขึ้นไป 32 34 35 บาท ถ้าสมมติราคาน้ำมันในตลาดโลกมันขึ้นมาก ๆ ดร.อนุสรณ์กล่าว
ราคาน้ำมันดีเซล ณ วันที่ 24 เม.ย. 2567 อยู่ที่ 30.94 บาทต่อลิตร ยังพอรับได้ แต่หากขึ้นไปมากกว่านี้ อาจจะรับไม่ไหว ทางเลขาธิการสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย บอกว่า ราคาน้ำมันดีเซล ที่ขยับขึ้น ทุก 1 บาทต่อลิตร ทำให้ต้นทุนการขนส่ง เพิ่มขึ้น 3% หากแพงกว่านี้ผู้ประกอบการขนหลายต้องขอขึ้นค่าขนส่งเช่นกัน เพราะถ้าราคาดีเซลพุ่งขึ้นไปที่ 34-35 บาทต่อลิตร บางรายต้องหยุดวิ่ง เพราะอยู่ไม่ได้
ผู้ประกอบการขนส่ง ยังฝากไปถึงรัฐบาลด้วยว่าเร่งปรับโครงสร้างราคาพลังงาน กระตุ้นเศรษฐกิจประเทศให้ดีขึ้น ทำให้ประชาชนมีรายได้สอดคล้องกับค่าครองชีพรวมถึงค่าน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น
ยังคงต้องติดตามกันต่อไปว่าสุดท้ายแล้วทางออกในการแก้ปัญหาราคาพลังงานของประเทศไทยจะเป็นอย่างไร ความหวังที่หลายฝ่ายอยากจะเห็นการรื้อโครงสร้างพลังงานเพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนตามที่รัฐบาลบอกไว้จะเกิดขึ้นได้เมื่อไหร่