สัญญาณอันตราย? โรงงานไทยที่กำลังปิด กระทบจ้างงานกว่า 42,000 ตำแหน่ง
ตั้งแต่ต้นปี 2023 มาจนถึงไตรมาสแรกของปี 2024 มีโรงงานปิดตัว ลงไปแล้วกว่า 1,700 แห่ง กระทบการจ้างงานกว่า 42,000 ตำแหน่ง
KKP Research มีข้อมูลน่าสนใจ เมื่อภาคอุตสาหกรรมไทยในปัจจุบันอยู่ในภาวะที่อ่อนแอซึ่งสะท้อนจากทั้งดัชนีการผลิตที่หดตัวลงติดต่อกันเกินกว่า 1 ปียอดปิดโรงงานที่เพิ่มขึ้น และหนี้เสียในภาคการผลิตที่กำลังเร่งตัว แม้ว่ายอดเปิดโรงงานจะยังเยอะกว่ายอดปิดโรงงานในภาพรวม แต่สถานการณ์มีความแตกต่างกันในแต่ละภาคการผลิตโดยกลุ่มการผลิตเครื่องหนัง การผลิตยาง อุตสาหกรรมการเกษตร อุตสาหกรรมไม้ และการผลิตเครื่องจักร เป็นกลุ่มที่มีการเพิ่มขึ้นของการปิดตัวโรงงานมากที่สุด
สำหรับข้อมูลการปิดโรงงานในภาคอุตสาหกรรมที่เร่งตัวขึ้นชัดเจนตั้งแต่ครึ่งปีหลังปี 2023 ซึ่งหากดูข้อมูลย้อนหลังพบว่า ปี 2021 เฉลี่ยการปิดโรงงานของไทยอยู่ที่ 57 โรงงานต่อเดือน และปี 2022 พุ่งขึ้น 83 โรงงานต่อเดือน
แต่เมื่อดูตัวเลขครึ่งปีหลัง 2023 การปิดโรงงานพุ่งถึง 159 โรงงานต่อเดือน และเมื่อนับรวมตั้งแต่ปี 2023 มาจนถึงไตรมาสแรกของปี 2024 มีโรงงานปิดตัวลงไปแล้วกว่า 1,700 แห่ง กระทบการจ้างงาน 42,000 ตำแหน่ง
โรงงานเก่าปิด โรงงานใหม่ก็ลดลง
ไม่เพียงแค่การปิดโรงงานแต่ตัวเลขการเปิดโรงงานใหม่ที่ลดลงกว่าในอดีตยังย้ำให้เห็นถึงสถานการณ์ในภาคอุตสาหกรรมไทยที่ไม่ดีนักเพราะการเปิดโรงงานใหม่มีทิศทางที่ชะลอตัวลงเช่นกัน เฉลี่ยจาก 150 โรงงานต่อเดือน ลดลงเหลือเปิดโรงงานใหม่ 50 โรงงานต่อเดือน
การผลิตอุตสาหกรรมหดตัวกดดันโรงงานปิดตัว
โดยอุตสาหกรรมที่มีการปิดตัวโรงงานเร่งขึ้นในช่วงที่ผ่านมาเป็นกลุ่มเดียวกันกับอุตสาหกรรมที่ดัชนีการผลิตมีการหดตัวลง ซึ่งสะท้อนว่าการพิจารณาภาคการผลิตในภาพรวมอาจไม่สะท้อนสถานการณ์ของบางกลุ่มธุรกิจที่อยู่ในสถานการณ์ย่ำแย่กว่าค่าเฉลี่ย โดยอุตสาหกรรมที่มีทิศทางน่ากังวลเนื่องจากมีการหดตัวของการผลิตและโรงงานปิดตัวเพิ่มขึ้นมาก คือ
- กลุ่มการผลิตเครื่องหนัง
- การผลิตยาง
- อุตสาหกรรมการเกษตร
- อุตสาหกรรมไม้
- การผลิตเครื่องจักร
โรงงานขนาดใหญ่ปิดตัว โรงงานขนาดเล็กเปิดแทน
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในอีกด้าน คือ ขนาดและพื้นที่ของโรงงานการปิดตัวของโรงงานอุตสาหกรรมในช่วงที่ผ่านมาพบว่ากระจุกตัวอยู่ในกลุ่มโรงงานขนาดใหญ่เป็นหลัก ในขณะที่โรงงานเปิดใหม่ส่วนใหญ่เป็นโรงงานขนาดเล็กสะท้อนว่า ปัญหาการผลิตที่ชะลอตัวลงในช่วงที่ผ่านมาไม่ได้เกิดจากปัจจัยเฉพาะของกิจการเองเนื่องจากโรงงานขนาดเล็กมีแนวโน้มที่จะเปราะบางกว่าโรงงานขนาดใหญ่
จากสถานะทางการเงินที่มีแนวโน้มอ่อนแอกว่าบริษัทใหญ่ การปิดตัวที่เกิดขึ้นจากโรงงานขนาดใหญ่เป็นหลักเป็นภาพสะท้อนว่าปัญหาการปิดตัวโรงงานเกิดจากปัจจัยเชิงโครงสร้างในภาพใหญ่ที่กระทบกับอุตสาหกรรมทั้งอุตสาหกรรม
รวมถึงยังมีปัญหาหนี้เสียในภาคอุตสาหกรรมซึ่งเร่งคัวขึ้นอย่างชัดเจนและสะท้อนปัญหาที่รุนแรงในภาคอุตสาหกรรมไทย นำไปสู่ความจำเป็นที่ต้องปิดโรงงานและกระทบต่อการชำระหนี้
อย่างไรก็ตาม KKP Research แบ่งหมวดสินค้าในภาคการผลิตไทยเป็น 3 กลุ่ม คือ
- การผลิตที่ยังเคลื่อนไหวตามวัฏจักรปกติเป็นกลุ่มสินค้าที่ยังมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ ประมาณ 47% ของมูลค่าการผลิตทั้งหมด
- การผลิตที่ปรับตัวลดลงตามสินค้าคงคลังที่สูง อาจกลับมาปรับตัวดีขึ้นบ้างเมื่อสินค้าคงคลังเริ่มปรับตัวลดลง
- การผลิตที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง เช่น การผลิต การผลิต Hard Disk Drive ที่ถูกทดแทนด้วย Solid State Drive ซึ่งส้งผลกระทบให้การผลิต HDDหดตัวต่อเนื่องมานาน หรือการผลิตเหล็กที่ถูกทดแทนด้วยการแข่งขันจากสินค้าจีน โดย KKP ประเมินว่า สินค้ากลุ่มนี้คิดเป็นกว่า 35% ของมูลค่าเพิ่มในภาคการผลิตทั้งหมด
นอกจากนี้ KKP Research กลับมีความกังวลเพิ่มขึ้นอย่างมากต่อสถานการณ์อุตสาหกรรมไทยในระยะยาว คือ
1. การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในบางกลุ่มสินค้าหลัก เช่น การเปลี่ยนจากรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในเป็นรถยนต์ EV โดยในช่วงที่ผ่านมามีการส่งออกรถยนต์ EV ราคาถูกจากจีนมายังไทยและส่งผลกระทบอย่างมากต่อทั้งยอดขายและราคารถยนต์ ICE ในไทยหรือการเปลี่ยนจากการใช้ HDD เป็น SSD ซึ่งจะรุนแรงมากขึ้นต่อเนื่องในอนาคต โดยเฉพาะเมื่อราคา EV และ SSD มีแนวโน้มปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ทำให้เข้ามาทดแทนเทคโนโลยีเก่าได้เร็วและกว้างขึ้น
2. การแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากสินค้าจีน โดยในปัจจุบันไทยขาดดุลการค้ากับจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และไม่เพียงแต่เฉพาะสินค้าในกลุ่มยานยนต์ที่เข้ามายังไทย แต่ไทยมีการนำเข้าจากจีนในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในหลายกลุ่มสินค้า เมื่อเทียบกับการนำเข้าทั้งหมดรวมถึงสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีต้นทุนต่ำกว่าสินค้าที่ผลิตในไทย
3. มาตรการกีดกันการค้าระหว่างประเทศที่มีแนวโน้มทวีความเข้มข้น ขึ้นโดยเฉพาะในช่วงหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดี สหรัฐฯ ซึ่งในกรณีที่ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งมีแนวโน้มที่จะมีมาตรการกีดกันทางการค้าจากจีนและโลกเพิ่มเติม ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงทำให้การค้าโลกในภาพรวมชะลอตัวลงและมีโอกาสที่สินค้าจากจีนจะทะลักมายัง ASEAN รวมถึงไทยเพิ่มขึ้นเพื่อเป็นการระบายสินค้าของจีนไปยังตลาดส่งออกอื่น
ไฟไหม้วอด! ร้านค้า 118 ห้อง ศูนย์รวมสัตว์เลี้ยงตลาดจตุจักร สัตว์ตายเกลื่อน!
WWDC 2024 เปิดตัว "iOS 18" พร้อม Siri โฉมใหม่พลัง AI
บุกจับญาติ “ชาดา” คาโรงแรมกลางกรุง มั่วสุมเสพยา ยึดอาวุธปืน-กระสุน