เอกชน ชี้ รัฐแก้ไม่ถูกจุด เตรียมลดภาษีให้นายจ้าง หลังขึ้นค่าแรง 400 บาท
ส.อ.ท. เผย มาตรการช่วยเหลือลดภาษีให้กับนายจ้าง หลังปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศพร้อมกัน 400 บาท วันที่ 1 ตุลาคมนี้ เป็นการช่วยเหลือที่ไม่ตรงประเด็น ย้ำจุดยืน ไม่ควรขึ้นพร้อมกันทั่วประเทศ
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงกรณีที่ภาครัฐเตรียมลดภาษีนายจ้าง หากมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศในวันที่ 1 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป ว่า ส.อ.ท. และ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ยังคงยืนยันจุดเดิมโดยมองว่า
สถานการณ์ขณะนี้ค่าครองชีพและสินค้าต่างๆแพงขึ้น แต่ในส่วนของผู้ประกอบการยังคงอ่อนแอ เพราะได้รับผลกระทบจาก สถานการณ์โควิด-19 , ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ , และการย้ายฐานการผลิต
ที่สำคัญยังมีสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศเข้ามาในไทยเพิ่มขึ้น ทั้งถูกและไม่ถูกกฎหมาย ดังนั้น การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทเท่ากันทั้งประเทศ มองว่า ยังไม่เหมาะสมที่จะปรับขึ้น
จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลขอให้ทบทวน เรื่องการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำพร้อมกัน แต่กรณีหากจะปรับขึ้นจริงๆ มองว่า ทำได้ แต่ขอให้พิจารณาเป็นรายจังหวัดและพิจารณาเป็นรายอาชีพที่มีความจำเป็นต้องปรับขึ้น
ส่วนกรณีที่หากมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำแล้ว รัฐบาลจะมีนโยบายช่วยเหลือเตรียมลดภาษีต่างๆ ให้นายจ้างนั้น มองว่า เป็นอีกเรื่องหนึ่งซึ่งต้องขอขอบคุณรัฐบาล แต่ส่วนตัวคิดว่า เป็นการช่วยเหลือที่ยังไม่ตรงประเด็น เพราะขณะนี้ผู้ประกอบการ SME ยังขาดทุนและไม่มีกำไร สิ่งสำคัญที่สุด คือ ต้องช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ SME มีความสามารถทางการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น โดยขณะนี้ 46 กลุ่มอุตสาหกรรม พบว่า มี 20 กว่ากลุ่มที่ได้รับผลกระทบ ยอดขายไม่ดี
ปัจจุบัน ส.อ.ท. มีสมาชิกทั่วประเทศกว่า 16,000 บริษัท กว่า 80% เป็น SMEs ซึ่งช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เจอปัญหาจากสถานการณ์โควิด-19 ปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ และการย้ายฐานการผลิต งานนี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการ SME เข้าถึงแหล่งเงินทุน / ตลาด / เทคโนโลยีสมัยใหม่ และได้รับความรู้ด้านการเงินการลงทุน รวมถึงบริการต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจ
ด้านนายอภิชิต ประสพรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธานสถาบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอุตสาหกรรมการผลิต (SIM) กล่าวในงานกิจกรรมเปิดกล่องของขวัญเพื่อ SME ปี 2567 ระบุว่า จากผลสำรวจพบว่า SME มีปัญหาการเข้าไม่ถึงบริการจากภาครัฐ เนื่องจากแต่ละหน่วยงานตั้งอยู่คนละที่และมีความยุ่งยากในการเดินทางไปรับบริการ รวมถึงการติดต่อทางออนไลน์ อาจให้ข้อมูลไม่ครบถ้วนและบางหน่วยงานไม่มีบริการในพื้นที่ภูมิภาค
ดังนั้น จึงมีการจัดกิจกรรมนี้ขึ้นเป็นปีที่ 2 ซึ่งปีที่ผ่านมา มีการจัดงานไปแล้ว 20 จังหวัดและในปีนี้จะจัดอีก 20 จังหวัด โดยเน้นจังหวัดที่ยังขาดโอกาสในการรับบริการต่างๆ เช่น จันทบุรี ตราด อำนาจเจริญ สกลนคร สุรินทร์ บุรีรัมย์ แพร่ น่าน พิษณุโลก ตาก และเพชรบูรณ์ ต้้งเป้าให้บริการ SME ถึง 1,000 บริษัท
ส.อ.ท. จะเดินหน้ายกระดับให้เป็น smart sme ให้ได้ โดยมี 4 นโยบายหลัก คือ ทำให้กลุ่ม SME ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเสริมสร้างความแข็งเเกร่งให้กับธุรกิจ / ต้องมีนวัตกรรม / หาตลาดหรือช่องทางการขายไปยังต่างประเทศ / จะต้องหา Supply Chain ของอุตสาหกรรมใหม่ๆ เช่น EV และปีนี้จะเพิ่มเรื่องโก กรีน เพื่อดูแลรักษาโลกและใส่ใจในสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
วิเคราะห์บอล ! ยูโร 2024 รอบรองชนะเลิศ สเปน พบ ฝรั่งเศส 9 ก.ค.67
ปูดมีคนเรียกเงิน “บิ๊กโจ๊ก” 10 ล้านแลกกับการแฉ "บิ๊กต่อ"
พยากรณ์อากาศล่วงหน้า เตือนฝนถล่ม 10-17 ก.ค. มรสุมแรงขึ้น!