ตลาดที่อยู่อาศัยยังเจอแรงกดดัน ขณะที่คนยังต้องการบ้าน
ตลาดที่อยู่อาศัยยังเจอแรงกดดัน ขณะที่คนยังต้องการบ้าน ช่วงราคา 2.01 - 3.00 ล้านบาท
ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ในไตรมาส 2 ปี 2567 มีค่าดัชนีเท่ากับระดับ 39.6 ซึ่ง เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2567 (QoQ) ที่มีค่าดัชนีเท่ากับระดับ 39.2 โดยเป็นระดับความเชื่อมั่นที่ต่ำกว่าค่ากลางที่ระดับ 50.0
ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยยังคงมีความเชื่อมั่นในระดับเกณฑ์ต่ำ
แม้ว่าในช่วงเดือนต้นเดือนเมษายน 2567 รัฐบาลได้ออกมาตรการ มาเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยออกมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนฯ และ ค่าจดจำนอง เหลือประเภทละ 0.01% ให้กับผู้ซื้อที่อยู่อาศัยในราคาไม่เกิน 7.00 ล้านบาท เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระให้กับคนที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยในวันโอนกรรมสิทธิ์ และยังมีมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำจากธนาคารของรัฐ
แต่อย่างไรก็ตาม ตลาดที่อยู่อาศัยยังคงได้รับแรงกดดันจากปัจจัยลบหลายด้าน เช่น
1.การยกเลิกการผ่อนคลายมาตรการ LTV ของธนาคารแห่งประเทศไทย
2.ภาวะหนี้ครัวเรือนที่ยังคงมีอัตราส่วนที่สูงกว่า 90% ของ GDP ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สถาบันการเงินต้องเพิ่มความเข้มงวดในการพิจารณาปล่อยสินเชื่อ ทำให้พบการปฏิเสธสินเชื่อของสถาบันการเงินในสัดส่วนที่สูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้น้อย-ปานกลาง
3.ภาวะดอกเบี้ยนโยบายยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงที่ 2.50% ส่งผลต่อความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยให้ลดลงโดยตรง
4.การที่เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้า ซึ่งปัจจัยลบเหล่านี้ได้ส่งผลให้รายได้ของผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยมีอัตราการขยายตัวน้อยกว่าค่าครองชีพที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ความสามารถในการซื้อและการผ่อนชำระลดลง ซึ่งได้กระทบต่อยอดขายที่อยู่อาศัยโดยตรง
โดยผู้ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่ 32.1% ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง รองลงมา คือ ต้องการซื้อเพื่อลงทุนเก็งกำไร/ให้เช่า 17.8% และอันดับสาม ซื้อเพื่อเป็นทรัพย์สิน 15.0% โดยวัตถุประสงค์ที่ซื้อเพื่อลงทุนและเป็นทรัพย์สิน มีสัดส่วนรวมกันถึง 32.8% ลดลงจากไตรมาส 1 ปี 2567 ที่มีสัดส่วน 33.3% สะท้อนว่าผู้ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยยังคงให้ความสำคัญกับการลงทุน การสะสมความมั่งคั่ง และการสร้างความมั่นคงให้กับชีวิต
แต่มีข้อสังเกตว่า การที่ดัชนีความเชื่อมั่นในการซื้อที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ไตรมาส 2 ปี 2567 ที่ยังอยู่ในระดับต่ำ เหตุผลส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากการที่ผู้ต้องการซื้อเพื่อลงทุนและเป็นทรัพย์สินยังกังวลต่อปัจจัยลบจากมาตรการ LTV และความเข้มงวดของสถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อที่ยังไม่เอื้อต่อการซื้อเพื่อลงทุน และเป็นแรงกดดันต่อภาพรวมความเชื่อมั่นในการซื้อที่อยู่อาศัยอีกด้วย
"เทพบิว" ภูริพล เข้าชิงชนะเลิศ วิ่ง 100 เมตร กรีฑาเยาวชนโลก
“พีพีทีวี” พร้อมยิงสด! พาราลิมปิกเกมส์ ปารีส 2024
มรสุมกำลังแรงขึ้น-ร่องมรสุมเลื่อนต่ำลง จับตาหย่อมความกดอากาศต่ำ!
สำหรับ ประเภทที่อยู่อาศัย ส่วนใหญ่ต้องการซื้อบ้านเดี่ยว 39.3% และต้องการซื้อในระดับราคา 3.01 - 5.00 ล้านบาทมากที่สุด รองลงมาคือ คอนโดมิเนียมร้อยละ 36.0 โดยต้องการซื้อในระดับราคา 2.01 - 3.00 ล้านบาทมากที่สุดสำหรับทาวน์เฮ้าส์มีความต้องการซื้อ 19.4% และส่วนใหญ่ต้องการซื้อในระดับราคา 2.01 - 3.00 ล้านบาทมากที่สุด
ส่วนบ้านแฝดมีความต้องการซื้อ 5.0% และส่วนใหญ่ต้องการซื้อในระดับราคา 3.01 - 5.00 ล้านบาทมากที่สุด
อาคารพาณิชย์มีความต้องการซื้อ 0.3% และต้องการซื้อในระดับราคา 2.01 – 3.00 ล้านบาทมากที่สุด
หากพิจารณาเทียบกับอายุของผู้ตอบพบว่า กลุ่มผู้มีอายุอยู่ระหว่าง 18-44 ปี มีความสนใจซื้อบ้านเดี่ยวมากที่สุด ในขณะที่กลุ่มผู้ที่มีอายุระหว่าง 45-54 ปี และ 55 ปีขึ้นไป มีความสนใจซื้อคอนโดมิเนียมมากที่สุด ซึ่งอาจเกิดจากความต้องการซื้อเพื่อลงทุนและเก็งกำไรเนื่องจากเป็นกลุ่มที่มักจะมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองแล้ว
ส่วนทำเลยังคงเป็นกรุงเทพฯ และ ปริมณฑล อย่าง นนทบุรี สมุทรปราการ นครปฐม เป็นต้น โดยยังอยู่ในช่วงราคา 2.01 – 3.00 ล้านบาทและรองลงมาได้แก่ระดับราคา 3.01 – 5.00 ล้านบาท