เงินเฟ้อไทย ส.ค. 67 สูงขึ้น ต่ำเป็นอันดับ 2 อาเซียน
พาณิชย์ เผยเงินเฟ้อไทย ส.ค. 67 สูงขึ้น 0.35% ต่ำเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน จากฝนตกหนักและอุทกภัย ส่งผลให้ราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสูงขึ้น
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผอ.สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ส.ค. 67 สูงขึ้น 0.35% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมีปัจจัยสำคัญจากฝนตกหนักและสถานการณ์อุทกภัยในบางพื้นที่เพาะปลูก กระทบผลผลิตมีปริมาณลดลง ทำให้ราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสูงขึ้น โดยเฉพาะผักสดและผลไม้สด รวมถึงข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว และอาหารสำเร็จรูป อาทิ อาหารตามสั่ง ราคาปรับสูงขึ้นเช่นกัน
ขณะที่สินค้ากลุ่มพลังงาน (แก๊สโซฮอล์ ค่ากระแสไฟฟ้า) ราคาปรับลดลง สำหรับสินค้าและบริการอื่น ๆ กระทบเงินเฟ้อไม่มากนัก
อัตราเงินเฟ้อของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ พบว่ายังอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ โดยอยู่อันดับ 10 จาก 128 เขตเศรษฐกิจที่ประกาศตัวเลข และต่ำเป็นอันดับ 2 ในอาเซียนจาก 8 ประเทศที่ประกาศตัวเลข (กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ สปป.ลาว).....นายพูนพงษ์ กล่าว
น้ำท่วม 67 กทม. เฝ้าระวัง เร่งอุดจุดฟันหลอริมแม่น้ำเจ้าพระยา
ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท จ่ายเงินก้อนแรกทันต้น ก.ย.67
เปิดโผ 30 ชื่อลุ้น "บัลลงดอร์" 2024 ไร้ เมสซี่-โรนัลโด้
การเคลื่อนไหวของราคาสินค้าและบริการ
หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 1.83% จากกลุ่มอาหารสด อาทิ ผักสด ผลไม้สด ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว นมสด และไข่ไก่ กลุ่มอาหารสำเร็จรูป อาหารตามสั่ง กลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และกลุ่มเครื่องประกอบอาหาร เช่น น้ำตาลทราย กะทิสำเร็จรูป
หมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลง 0.68% จากการลดลงของราคาสินค้าสำคัญ โดยเฉพาะกลุ่มพลังงาน (แก๊สโซฮอล์ ค่ากระแสไฟฟ้า) กลุ่มที่เกี่ยวกับการทำความสะอาด และกลุ่มเสื้อผ้า อย่างไรก็ตามยังมีสินค้าสำคัญหลายรายการที่ราคาสูงขึ้น อาทิ น้ำมันดีเซล น้ำมันเบนซิน ค่าเช่าบ้าน ค่ารถรับส่งนักเรียน ค่าแต่งผมบุรุษและสตรี และเครื่องถวายพระ เป็นต้น
เงินเฟ้อพื้นฐาน
(เงินเฟ้อทั่วไป เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก) สูงขึ้น 0.62% เร่งตัวขึ้นเล็กน้อยจากเดือน ก.ค. 67 ที่สูงขึ้น 0.52%
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ก.ย. 67
มีแนวโน้มปรับสูงขึ้นจากเดือน ส.ค. 67 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ ราคาน้ำมันดีเซลภายในประเทศที่กำหนดเพดานไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน และผลกระทบจากอุทกภัยทำให้ราคาผักสดและผลไม้สดปรับสูงขึ้น เนื่องจากแหล่งเพาะปลูกในบางพื้นที่ได้รับความเสียหาย แต่คาดว่าจะเป็นผลกระทบระยะสั้น รวมถึงสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจจะส่งผลกระทบให้เกิดความไม่แน่นอนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สำคัญ รวมถึงต้นทุนค่าขนส่งทางเรือปรับตัวเพิ่มขึ้น
กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 67 อยู่ระหว่าง 0.0 - 1.0% (ค่ากลาง 0.5%) ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน.....นายพูนพงษ์ กล่าว
ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทยเดือน ส.ค. 67 อยู่ที่ 108.79 สูงขึ้น 0.07% เมื่อเทียบกับเดือน ก.ค. 67 จากหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ปรับสูงขึ้น ทั้งราคาผักสด ผลไม้สด ข้าวสารเจ้า และเนื้อสุกร อย่างไรก็ตามยังมีสินค้าที่ราคาปรับลดลง อาทิ ไก่ย่าง น้ำมันพืช นมสด และนมถั่วเหลือง ส่งผลให้ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเฉลี่ย 8 เดือน (ม.ค.-ส.ค. 67) สูงขึ้น 0.15% เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 66
ส่วนนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ซึ่งก่อนหน้านี้สำนักงบประมาณยืนยันว่าหากรัฐบาลใหม่แถลงนโยบายเสร็จพร้อมแจกเงินทันทีในเดือน ก.ย. 67 สำหรับกลุ่มเปราะบาง นายพูนพงษ์มองว่าไม่มีผลกระทบกับเงินเฟ้อ แต่เป็นการเพิ่มกำลังซื้อมากกว่าไม่ได้ส่งผลต่อต้นทุนราคาสินค้า…..นายพูนพงษ์ กล่าว