คลังคง GDP ไทยปี 67 โต 2.7% ปีหน้าลุ้นโตเพิ่ม 3%
กระทรวงการคลัง ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 67 ขยายตัว 2.7% “ท่องเที่ยว-ส่งออก” พระเอกหลัก ขณะที่ปี 68 คาดขยายตัวเร่งขึ้น 3% จากปัจจัยบวก 4 ด้าน
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงผลประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 67 ว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้คาดว่าจะขยายตัวที่ 2.7% "คงเดิมจากประมาณการครั้งก่อน" และนับเป็นการขยายตัวต่อเนื่องจากปี 66 ที่ขยายตัว 1.9% ต่อปี นำโดยการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและส่งออก ซึ่งจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เข้าไทยปี 67 คาดว่าจะมี 36 ล้านคน ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง คาดว่าจะขยายตัวได้ที่ 4.6% เพิ่มขึ้นจากประมาณการครั้งก่อน
แม้เผชิญแรงกดดันต่อเศรษฐกิจจากสถานการณ์อุทกภัย แต่ผลจากมาตรการต่าง ๆ ของรัฐได้ชดเชยและสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนมากขึ้น.....นายพรชัย กล่าว
113 แคปชัน "เทศกาลฮาโลวีน 2024" ประโยคเด็ด ไม่น่ากลัว แต่น่ากอด
เช็กที่นี่! ปรับอัตราเงินเดือนผู้อำนวยการ ครู บุคลากรการศึกษา โรงเรียนเอกชน
ผลประกบคู่คาราบาว คัพ รอบ 8 ทีม แมนยู ชน สเปอร์ส ลิเวอร์พูล ไม่หนัก
สำหรับมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ คาดว่าขยายตัว 2.9% เนื่องจากมีสัญญาณฟื้นตัวดีกว่าคาดในไตรมาสที่ 2-3 จากโอกาสผู้ประกอบการไทยแทนที่สินค้าจีนที่ถูกปรับขึ้นภาษีจากสหรัฐฯ นอกจากนี้การบริโภคภาครัฐคาดว่าขยายตัว 2.1% และการลงทุนภาครัฐขยายตัวที่ 0.8%
อย่างไรก็ตามการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าหดตัวที่ -1.9% เป็นผลมาจากยอดขายรถยนต์สันดาปลดลง ต้องจับตาการปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยอย่างใกล้ชิด.....นายพรชัย กล่าว
ด้านเสถียรภาพภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 0.4% ลดลงจากประมาณการครั้งก่อน เนื่องจากราคาพลังงานในตลาดโลกปรับลดลง สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 67 มีแนวโน้มเกินดุล 10.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 1.9% ของ GDP
ในปี 2568 กระทรวงการคลังคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเร่งขึ้นที่ 3% ต่อปี จากปัจจัยบวก 4 ด้านหลัก คือ การบริโภคภาคเอกชน การส่งออกสินค้า การท่องเที่ยว และการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน โดยปีหน้ากระทรวงการคลังจะมีบทบาทสำคัญในการดำเนินนโยบายการคลังเชิงบูรณาการ มุ่งเน้น 3 เสาหลัก ได้แก่
รักษาวินัยและเสถียรภาพทางการคลัง ผ่านการบริหารจัดการรายได้และรายจ่ายภาครัฐอย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่กับการรักษาระดับหนี้สาธารณะให้อยู่ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลัง
ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน ผ่านมาตรการทางการคลังและภาษีที่เอื้อต่อการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชิงยุทธศาสตร์
ยกระดับการพัฒนาทุนมนุษย์และความเข้มแข็งทางการเงินของภาคครัวเรือน โดยเร่งผลักดันโครงการเสริมสร้างความรู้ทางการเงิน และการพัฒนาระบบการให้คำปรึกษาทางการเงินเพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการหนี้สินภาคครัวเรือนอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
ปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย
- ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลกในภูมิภาคต่าง ๆ ที่เริ่มรุนแรงมากขึ้น อาจเป็นข้อจำกัดและกระทบการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไป
- ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และทิศทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่
- การฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย
- ปัญหาหนี้ครัวเรือนและภาคธุรกิจที่จะบั่นทอนการใช้จ่ายในระยะต่อไป
- ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากปัญหาน้ำท่วมในหลายจังหวัด