โพลชี้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจล่าสุดของรัฐบาล "ก่อหนี้สาธารณะ"
สวนดุสิต โพล เปิดผลสำรวจ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจล่าสุดของรัฐบาล "ก่อหนี้สาธารณะ" อยากให้รัฐบาลช่วยเหลือเรื่องลดค่าครองชีพ ควบคุมราคาสินค้ามากที่สุด
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งที่มีนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และได้เห็นชอบแผนขับเคลื่อนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีทั้งระยะสั้น และระยะยาว โดยมีเป้าหมายเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย การแก้ปัญหาหนี้สิน และกระตุ้นลงทุน แต่ล่าสุด ผลสำรวจความคิดเห็นจากสวนดุสิตโพล พบว่า ประชาชนกังวลว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล อาจก่อให้เกิดภาระหนี้สาธารณะ และอยากให้รัฐบาลช่วยเหลือเรื่องลดค่าครองชีพ ควบคุมราคาสินค้ามากที่สุด

สวนดุสิตโพล สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ เรื่อง “รัฐบาลแพทองธาร กับดุสิตโพล” ระหว่างวันที่ 19-22 พ.ย.ที่ผ่านมาพบว่า ร้อยละ 54.80 กังวลว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลแพทองธารอาจก่อให้เกิดภาระหนี้สาธารณะ
ซึ่งจากมาตรการต่าง ๆ ก็พึงพอใจมาตรการส่งเสริมการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้เกิดขึ้นถ้วนหน้ามากที่สุด ร้อยละ 55.78
และเชื่อมั่นต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ร้อยละ 53.87 โดยคิดว่านโยบายแจกเงิน 10,000 บาท เฟส 2 อาจจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้บ้าง ร้อยละ 43.44 แต่ยังไม่เห็นแนวโน้มว่าเศรษฐกิจไทยจะดีขึ้น ร้อยละ 45.31 ดังนั้นจึงอยากให้รัฐบาลช่วยเหลือเรื่องลดค่าครองชีพ ควบคุมราคาสินค้ามากที่สุด ร้อยละ 60.98
นางสาวพรพรรณ บัวทอง ประธานสวนดุสิตโพล ระบุว่า จากผลสำรวจสะท้อนความเห็นที่แตกต่างกันในสังคมต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แม้จะเชื่อมั่นแต่ก็ยังไม่แน่ใจในนโยบายเฉพาะหน้าและมีความกังวลต่อความมั่นคงทางการเงินของประเทศ ด้านมุมมองต่อสัญญาณฟื้นตัวของเศรษฐกิจก็ยังไม่เห็นแนวโน้มว่าจะดีขึ้นในอนาคตอันใกล้ เรียกว่า “ชอบเงินหมื่นแต่ไม่รู้เศรษฐกิจจะฟื้นเมื่อไหร่” จึงต้องการให้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างเรื่องปากท้องโดยเร่งด่วน
ด้าน ดร.งามประวัณ เอ้สมนึก อาจารย์ประจำหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต โรงเรียนกฎหมายและการเมือง อธิบายว่า เมื่อพิจารณาจากผลโพล แม้ว่าประชาชนมีความเชื่อมั่นในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลแพทองธารในภาพรวม แต่ประชาชนยังมีความกังวลเรื่องปัญหาค่าครองชีพและการควบคุมราคาสินค้าในปัจจุบันและต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหานี้อย่างเร่งด่วนมากที่สุด การที่รัฐบาลได้ดำเนินการแจกเงิน 10,000 บาท เฟส 1 ไปแล้วนั้น
แต่บรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยก็ยังไม่กลับมาคึกคักมากนัก ทำให้ประชาชนคิดว่านโยบายแจกเงิน 10,000 บาท เฟส 2 อาจจะพอช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้บ้างเท่านั้น และยังไม่เห็นแนวโน้มว่าเศรษฐกิจไทยจะดีขึ้น รวมทั้งประชาชนยังมีความกังวลว่าแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลอาจเป็นการเพิ่มหนี้สาธารณะด้วย
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่งมีความเห็นชอบ 5 แผนขับเคลื่อนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น และระยะยาว โดยมุ่งหวังให้มีการเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย แก้ปัญหาหนี้สิน และกระตุ้นการลงทุน ซึ่งจะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ตรงจุดตรงประเด็นหรือไม่เพียงใดคงต้องรอดูกันต่อไป