“จุลพันธ์” เผยกำลังหารือ กลุ่มไม่มีสมาร์ตโฟน ลงทะเบียนรับเงิน 10,000 บาท
“จุลพันธ์” เผย กลุ่มที่ไม่มีสมาร์ตโฟน ก็จะมีกระบวนการเปิดลงทะเบียน รับเงิน 10,000 บาท คาด จะเริ่มดำเนินการได้หลังจากนี้ไม่เกิน 1 เดือน
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผย การโอนเงิน 10,000 บาท สำหรับเฟส 3 กลุ่มที่ลงทะเบียนแล้ว คาดว่า จะได้รับเงินภายในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ซึ่งจะเป็นการโอนเงินรูปแบบดิจิทัล โดยจะมีการทดสอบระบบดิจิทัลวอลเล็ตช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ ขณะที่วันนี้ (22 ม.ค.68) เป็นวันแรกที่เปิดให้ผู้ที่ได้รับสิทธิ์ตรวจสอบคุณสมบัติรับเงิน 10,000 บาทเฟส 2 ผ่านแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป

ซึ่งในเบื้องต้น คาดว่า มีผู้ได้รับสิทธิ์ 3,020,000 คน วงเงินราว 30,000 ล้านบาท และยืนยันว่า จะได้รับเงินภายในเช้าของวันที่ 27 มกราคมนี้
ส่วนผู้ผ่านคุณสมบัติ แต่ยังไม่ได้ได้รับเงิน จะต้องเข้าไปตรวจสอบการผูกบัญชีพร้อมเพย์กับเลขบัตรประจำตัวประชาชน รัฐบาลจะทำการโอนเงินซ้ำอีก 3 ครั้ง โดยครั้งที่ 1 จะโอนภายในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ครั้งที่ 2 วันที่ 25 มีนาคม และครั้งที่ 3 วันที่ 23 เมษายน
ขณะที่ ผู้ที่ไม่ผ่านคุณสมบัติ คงต้องยอมรับว่า ไม่สามารถจะแก้ไขคุณสมบัติในเรื่องของรายได้และเงินฝากได้ แต่สามารถอุทธรณ์ เพื่อตรวจสอบคุณสมบัติให้ชัดเจนได้ผ่านสายด่วน 1111 ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่คอยรับเรื่อง
สำหรับกลุ่มที่ไม่มีสมาร์ทโฟน ก็จะมีกระบวนการเปิดลงทะเบียน คาดว่า จะเริ่มดำเนินการได้หลังจากนี้ไม่เกิน 1 เดือน โดยต้องผ่านมติของที่ประชุมคณะกรรมการกระตุ้นเศรษฐกิจก่อน
เชื่อว่า นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ออกมา ทั้งการจ่ายเงิน 10,000 เฟส 2 / มาตรการ Easy E-Receipt 2.0 ที่เปิดให้ซื้อสินค้าแล้วนำมาลดหย่อนภาษีได้ ไม่เกิน 50,000 บาท ซึ่งคาดว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงตรุษจีนให้คึกคัก
โดยคาดว่า มาตรการ Easy E-Receipt 2.0 จะทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนกระตุ้นเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 70,000 ล้านบาท และจากข้อมูลเบื้องต้น พบว่า มีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการจำนวนมากหลังจากเนิ่มโครงการเมื่อวันที่ 16 ม.ค.ที่ผ่านมา และมีร้านค้าเข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้น 15 - 20% ประมาณ 12,000 ร้านค้าเข้าร่วม ซึ่งมากกว่าการจัดโครงการฯ ในปีที่ผ่านมา
รวมถึงการโอนเงินช่วยเหลือเกษตรกรไร่ละ 1000 บาท ไม่เกิน 10 ไร่ หรือไม่เกินคนละ 10,000 บาท ซึ่งได้ทำการจ่ายเงินหมดแล้วเมื่อปลายปีที่ผ่านมา แต่ก็จะมีผลมากระตุ้นการบริโภคในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปีนี้ด้วย ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจไตรมาส 1 ของปี 2568 จะเติบโตได้ดีมาก และเป็นแรงส่งต่อเศรษฐกิจทั้งปีให้เติบโตได้มากกว่า 3% ตามที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้
นอกจากนี้ นายจุลพันธ์ุ กล่าวต่อว่า แม้ว่าเศรษฐกิจทั้งปีจะโต 3% แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตา โดยเฉพาะนโยบายเศรษฐกิจของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดยเฉพาะเรื่องมาตรการกีดกันทางการค้า เนื่องจาก สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศใหญ่ทำให้นโยบายที่ออกมาจะกระทบกับทุกประเทศ โดยในส่วนของกระทรวงการคลัง ทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้มีการประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นไว้แล้ว แต่อยู่ระหว่างรอหารือระดับรัฐมนตรี รวมถึงหารือร่วมกับกระทรวงต่างๆด้วย
แม้จะมีในเรื่องมาตรการกีดกันทางการค้าและสงครามการค้าเกิดขึ้น แต่ก็อาจจะเป็นโอกาสของประเทศไทยได้เช่นเดียวกัน ที่จะมีการส่งออกสินค้าได้เพิ่มขึ้น ทดแทนประเทศที่ถูกขึ้นภาษี เช่น จีน หรือ เม็กซิโก
ซึ่งในส่วนของรัฐบาลไทยเอง ก็จะมีการตั้งทีมเพื่อหารือกับสหรัฐฯ เพื่อเจรจาทางการค้าให้ไทยได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ดังนั้น ขณะนี้ยังไม่จำเป็นที่จะต้องออกมาตรการพิเศษ แต่ยืนยัน ว่าจะจับตากับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ ไทยยังต้องระวังในเรื่องของปัญหาสินค้าจากจีน ที่ไม่สามารถส่งออกไปสหรัฐฯ จะทะลักเข้ามาแข่งขันกับผู้ประกอบการไทยได้ โดยไทยจะต้องใช้มาตรการในเรื่องของมาตรฐานการตรวจสอบสินค้านำเข้าให้เข้มงวดมากขึ้น เพื่อช่วยลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อผู้ประกอบการ SME ไทย เป็นการใช้กลไกที่มีอยู่ตามกฏหมาย และไม่ได้ผิดข้อตกลงระหว่างประเทศ