ไทยกับกลุ่ม BRICS ชี้ชัดประโยชน์ทางตรง-ทางอ้อม แต่ทรัมป์อาจไม่ปลื้ม
ไทยกับกลุ่ม BRICS ชี้ชัดประโยชน์ทางตรง-ทางอ้อม จับตาอาจถูกสหรัฐเพิ่มมาตรการทางการค้า แม้เป็นเพียงแค่พาร์ทเนอร์
หลังไทยเข้าร่วมเป็นพาร์ทเนอร์กลุ่ม BRICS กว่า 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไปหลายคนมักเข้าใจผิดว่า ไทยได้เป็นประเทศสมาชิก BRICS แล้ว แต่ในความเป็นจริง ไทย เป็นแค่ประเทศในกลุ่มหุ้นส่วนเท่านั้น PPTV Wealth สอบถาม รองศาสตราจารย์ สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติม กับทีมข่าว ว่าหลังจากวันที่ 1 ม.ค.68 กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ขนาดใหญ่ หรือ กลุ่ม BRICS ได้รับไทยเข้าเป็นประเทศหุ้นส่วนของกลุ่ม อย่างเป็นทางการ

ทำให้ในปัจจุบันมีประเทศสมาชิกรวม 9 ประเทศ ได้แก่ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน แอฟริกาใต้ เอธิโอเปีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อียิปต์ และอิหร่าน และประเทศหุ้นส่วน หรือที่เรียกว่า ประเทศพาร์ทเนอร์รวม 13 ประเทศ โดยในอาเซียนมีเพียง 4 ประเทศที่เป็นกลุ่มพาร์ทเนอร์ ได้แก่ ไทย เวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ซึ่งหลายคนมักเข้าใจว่าผิดไทยได้เป็นสมาชิกในกลุ่ม BRICS แล้ว แต่ความจริงเป็นเพียงแค่ประเทศพาร์ทเนอร์เท่านั้น
บทบาทสำคัญของกลุ่ม BRICS
บทบาทสำคัญของ BRICS ณ ขณะนี้ คือพยายามที่จะเป็นองค์กร รวบรวมกลุ่มของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่มีศักยภาพสูง หรือ ประเทศ Global South ซึ่งปัจจุบันบทบาทยังไม่ชัดเจน แต่เป้าหมายของการตั้งกลุ่ม BRICS นั้น คือ เพื่อร่วมกัน ส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมในระดับโลก เพื่อสร้างความสมดุลในการกระจายอำนาจทางเศรษฐกิจจากกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหาจุดยืนร่วมกัน เพื่อถ่วงดุลแรงกดดันจากสหรัฐอเมริกา กับ ตะวันตก นอกจากนี้กลุ่ม BRICS ยังมีแนวคิดเกี่ยวกับการสร้างสกุลเงินใหม่เพื่อลดการพึ่งพาสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐและยูโร ที่มีสาเหตุหลัก มาจากความท้าทายทางการเงินระดับโลกและนโยบายต่างประเทศที่เข้มงวดของสหรัฐฯ ซึ่งถือว่าสิ่งนี้เป็นบทบาทสำคัญของกลุ่ม BRICS แต่ในความเป็นจริง ขณะนี้เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น ที่ต้องติดตามกันต่อ
ในความเป็นจริงต้องดูว่า เป้าหมายของ กลุ่ม BRICS จะทำได้มากน้อยเพียงใด เพราะแต่ล่ะประเทศยังต้องพึ่งพาอเมริกาอยู่ เช่น บราซิล และอินเดีย ยังต้องทำการค้ากับอเมริกาอยู่ และเป็นเรื่องยากหากจะต่อต้าน เพราะยังมีข้อจำกัดที่เยอะพอสมควร
แล้ว “ไทย” ได้รับสิทธิ์ อะไรบ้าง จากการเป็นพาร์ทเนอร์ กลุ่ม BRICS ?
การที่ไทยได้เข้าเป็นพาร์ทเนอร์ของกลุ่ม BRICS นั้น ไม่ได้แปลว่าไทยเป็นสมาชิก แต่จะได้รับสิทธิ์เข้าร่วมการประชุม แต่ไม่ใช่ทุกการประชุม หรือพูดง่ายๆว่า จะได้ร่วมกิจกรรมของกลุ่ม BRICS แต่ไม่ใช่ทุกกิจกรรม ซึ่งจะมีข้อยกเว้น เพราะฉะนั้น ไทยมีโอกาสเข้าร่วมประชุมในหลายๆเรื่องแต่ไม่ใช่ทุกเรื่อง ซึ่งยังอยู่ในข้อจำกัด
ประโยชน์ที่ไทยจะได้หลังการได้เข้าเป็น ประเทศพาร์ทเนอร์ของกลุ่ม BRICS
ถึงแม้ไทยยังไม่ได้เป็นประเทศสมาชิกในกลุ่ม BRICS แต่ รองศาสตราจารย์ สมชาย ได้เล่าว่า ไทยจะยังคงได้ประโยชน์อยู่บ้าง แต่ในทางอ้อมเท่านั้น เพราะส่วนตัวมีความคิดเห็นว่าประโยชน์ทางตรงตามเป้าหมายที่กลุ่ม BRICS ตั้งไว้ ดูแล้วยังไม่ชัดเจนและอาจเป็นไปได้ยาก ด้วยข้อจำกัดหลายๆอย่าง ทั้งการพึ่งพาสหรัฐในบางประเทศ และยังมีบางประเทศในกลุ่ม BRICS ที่ยังมีข้อขัดแย้งกันอยู่ และสำหรับประโยชน์ที่ไทยจะได้รับ ณ ขณะนี้ คงเป็นเพียงแค่
1. ประโยชน์จากการใช้กลไก BRICS BANK
2.การขยายฐานข้อมูลเพิ่มเติม ในประเทศที่ไทยอาจจะยังเข้าไม่ถึงข้อมูล อย่างเช่น บราซิล โดยไทยจะได้ประโยชน์จากการแลกเปลี่ยนข้อมูล ระหว่างการร่วมประชุมในแต่ล่ะครั้ง ตามที่ได้รับสิทธิ์ให้เข้าร่วม
3.ได้ประโยชน์จากข้อมูลข่าวสาร ที่อาจช่วยส่งเสริมการค้า การลงทุน แต่ยังคงเป็นเพียงแค่ทางอ้อม
4.ถ้าหากมีแรงกดดันจากทางด้านตะวันตก เราอาจได้แรงสนับสนุนจากกลุ่ม BRICS แต่ไม่ใช่จากทุกประเทศ
ซึ่งผลประโยชน์ทางตรงตามเป้าหมายของกลุ่ม BRICS ที่ตั้งไว้ดูแล้วจะยังเป็นไปได้ยาก แต่ถ้าถามถึงผลประโยชน์ก็ยังมี แต่มีแบบจำกัด ซึ่งไทยจะได้ประโยชน์มากน้องเพียงใด ขึ้นอยู่กับพัฒนาการในอนาคตของกลุ่ม BRICS จะไปในทิศทางไหน แต่บทบาทของกลุ่ม BRICS ขณะนี้ยังมีข้อจำกัดอยู่มากในเวทีโลก แต่ต้องยอมรับว่าแนวโน้ม ของประเทศกลุ่มสมาชิก มีโอกาสขยายเพิ่มขึ้นได้จริง
“ความขัดแย้งกับสหรัฐอเมริกา” ความเสี่ยงและความท้าทาย ที่ไทยต้องระวัง
ความเสี่ยงและความท้าทาย ที่ไทยต้องระวัง คือ “ความขัดแย้งกับสหรัฐอเมริกา” ที่อาจคิดว่าไทยอยู่ฝ่ายตรงข้าม ซึ่งอาจทำให้สหรัฐ เพิ่มนโยบายทางการค้ากับไทยได้ ดังนั้น ความท้าท้าย คือ ไทยเอง ต้องเตรียมรับมือหลังจากนี้ ว่าจะทำอย่างไรให้อเมริกา ยอมรับว่าเราไม่ได้เลือกข้างไหน ซึ่งขึ้นอยู่กับภาครัฐว่า จะมีแนวนโยบายหรือมาตรการต่างประเทศอย่างไร ที่จะทำให้ไทยเป็นที่ยอมรับ และให้สหรัฐเข้าใจว่า ไทยเข้ากลุ่ม BRICS เพราะไม่ได้ต่อต้านอเมริกาแต่เข้ามาเพื่อ ผลประโยชน์ของไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่เราจะต้องพยายามหาทางออกให้เกิดดุลยภาพ และรับมือกับผลเสียที่จะเกิดขึ้น ที่อาจกระทบต่อไทยให้ได้ในอนาคต รองศาสตราจารย์ สมชาย กล่าวทิ้งท้าย