IMF แนะ แบงก์ชาติ "ลดดอกเบี้ย" เพื่อสนับสนุนเงินเฟ้อ-หนี้ครัวเรือน
IMF แนะ แบงก์ชาติ "ลดดอกเบี้ย" เพื่อสนับสนุนเงินเฟ้อ-หนี้ครัวเรือน มองเศรษฐกิจไทยปีนี้โต 2.9%
คณะกรรมการบริหารของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยผลการประชุมหารือกับประเทศไทยประจำปี 2567 โดยมองว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยกำลังฟื้นตัวอย่างช้าๆ แต่ยังคงช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน โดยคาดว่าในปี 2025 GDP จะเพิ่มขึ้นเป็น 2.9% จากการสนับสนุนการขยายตัวของนโยบายการคลัง โครงการกระตุ้นกำลังซื้อ 10,000 บาท ซึ่งจะมีผล 0.1% ของ GDP
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ในช่วงครึ่งล่างของกรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ 1–3%

นอกจากนี้ยังมีการลงทุนภาครัฐ การท่องเที่ยว การบริโภคภาคเอกชนที่ได้อานิสงส์จากมาตรการแจกเงินของรัฐ
ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องจับตาคือช่วงกลางสัปดาห์จะมีการประชุม คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) นัดแรกของปีนี้ ว่าทิศทางของอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะเป็นไปในทิศทางใด โดย IMF แนะนำว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยเพิ่มเติม จากปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อยู่ที่ 2.25% ต่อปี อาจช่วยสนับสนุนเงินเฟ้อและเพิ่มความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้ ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการแก้หนี้หลักของปีนี้ เนื่องจากหนี้ครัวเรือนไทยพุ่งสูงแตะระดับ 4.86 แสนล้านดอลลาร์ จากราว 4 แสนล้านดอลลาร์ในช่วงต้นปี 2562
อย่างไรก็ตาม IMF มองว่า เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงด้านลบจากความตึงเครียดทางการค้าโลก ความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และภาระหนี้ของภาคเอกชนในประเทศ
ขณะที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย โดย ดร.ลลิตา เธียรประสิทธิ์ ผู้บริหารงานวิจัย เผยแพร่บทวิเคราะห์ถึงคาดการณ์ผลประชุม ของ กนง. วันที่ 26 ก.พ. 68 นี้ มองว่า กนง. “มีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.25% ต่อเนื่อง” โดย กนง. มีแนวโน้มรอดูสถานการณ์เศรษฐกิจไทยภายใต้ความไม่แน่นอนที่มีอยู่สูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสี่ยงจากนโยบายปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ
และก่อนหน้านี้ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึง ผลการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ครั้งที่ 1/2568 และได้โพสต์ผ่าน X ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยพิจารณาลดดอกเบี้ยเพื่อลดให้ภาระประชาชน อีกด้วย