ส่งออก ม.ค. 68 โต 13.6% มูลค่ากว่า 8.62 แสนล้านบาท ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7
ส่งออก ม.ค. 68 โต 13.6% มูลค่ากว่า 8.62 แสนล้านบาท ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ปัจจัยหนุนเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าเติบโต-ความต้องการนำเข้าสินค้าเพิ่ม หลังกังวลความเสี่ยงนโยบายกีดกันทางการค้า
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) และโฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในเดือนมกราคม 2568 มีมูลค่า 25,277 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ประมาณ 862,367 ล้านบาท ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ที่ 13.6% หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวที่ 11.4% โดยได้รับแรงหนุนจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง

อัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวกลับสู่กรอบเป้าหมาย และการขยายตัวของกิจกรรมภาคการผลิต นอกจากนี้ การส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าสำคัญอย่างสหรัฐฯ และจีนขยายตัวในระดับสูง ส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าทุนและวัตถุดิบของไทย ท่ามกลางความไม่แน่นอนจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ที่อาจสร้างแรงกดดันต่อการค้าโลก
โดยมูลค่าการค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ การส่งออก มีมูลค่า 25,277.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 13.6% /การนำเข้า มีมูลค่า 27,157.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 7.9% ดุลการค้า ขาดดุล 1,880.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 0.1% (YoY) ขยายตัวต่อเนื่อง 7 เดือน โดยสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 3.0% ในขณะที่สินค้าเกษตร หดตัว 2.2% โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่
- ยางพารา ขยายตัว 45.5%
- ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป ขยายตัว 12.3%
- อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ขยายตัว 11.8%
- อาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัว 13.0%
- ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่น ๆ ขยายตัว 19.5%
- ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ขยายตัว 13.4%
ขณะที่ สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น ข้าว หดตัว 32.4% หดตัวต่อเนื่อง 3 เดือน ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง หดตัว 11.0% ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง หดตัว 7.9% เครื่องดื่ม หดตัว 16.0% ผักกระป๋อง และแปรรูป หดตัว 13.3%
มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว 17.0% (YoY) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ขยายตัว 45.0% / อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัว 148.8% ขณะที่ สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หดตัว 16.5% / เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ หดตัว 18.6% / เครื่องโทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หดตัว 16.8%
ตลาดส่งออกสำคัญ ตลาดหลัก ขยายตัว 11.2% โดยขยายตัวทุกตลาด ได้แก่ สหรัฐฯ 22.4% จีน 13.2% ญี่ปุ่น 1.9% สหภาพยุโรป (27) 13.8% อาเซียน (5) 4.8 % และ CLMV 5.2% (2) ตลาดรอง ขยายตัว 10.3% โดยขยายตัวในตลาดเอเชียใต้ 111.5% แอฟริกา 13.9% ลาตินอเมริกา 21.6% และสหราชอาณาจักร 9.8% แต่หดตัวในตลาดทวีปออสเตรเลีย 26.9% ตะวันออกกลาง 2.1% และรัสเซียและกลุ่ม CIS 5.7% (3) ตลาดอื่น ๆ ขยายตัว 472.8%
โดยตลาดสหรัฐฯ ขยายตัว 22.4% ขยายตัวต่อเนื่อง 16 เดือน สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และอัญมณีและเครื่องประดับ สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์
ส่วนตลาดจีน ขยายตัว 13.2% ขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือน สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น ผลิตภัณฑ์ยาง ยางพารา และเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง แผงวงจรไฟฟ้า และไม้และผลิตภัณฑ์ไม้
กระทรวงพาณิชย์
ส่งออก ม.ค. 68 โต 13.6% มูลค่ากว่า 8.62 แสนล้านบาท ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7

แนวโน้มการส่งออก ปี 2568 ขยายตัว 2-3%
เชื่อว่าเป็นบวกต่อเนื่อง โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกจะอยู่ที่ประมาณเฉลี่ย 25,000-26,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งยอมรับว่า มีความเป็นห่วงสินค้าเกษตรโดยเฉพาะข้าวกับมันสำปะหลัง รวมถึงสินค้าอุตสาหกรรมรถยนต์ เช่น รถยนต์สันดาป ส่วนนโยบายกีดกันทางการค้า และการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐ จะส่งผลกระทบอย่างไรต่อการส่งออกไทยนั้น ยังคงต้องติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่า ช่วงเดือน เม.ย. ปีนี้ จะเห็นความชัดเจน
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ คาดการณ์ว่า จะมีอัตราการขยายตัวที่ 2-3% โดยมีปัจจัยสนับสนุน เช่น แนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะเติบโตตามการขยายตัวของภาคการผลิต / สถานการณ์ความขัดแย้งในยูเครนและตะวันออกกลางที่เริ่มคลี่คลาย / ดัชนีราคาอาหารโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นซึ่งสะท้อนความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารที่เพิ่มขึ้น รวมถึงโอกาสการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการทดแทนสินค้านำเข้าจากจีน
ปัจจัยท้าทายที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยท้าทายที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เช่น สถานการณ์การค้าโลกที่ยังคงตึงเครียด ความเสี่ยงของการเกิดวิกฤตเงินเฟ้อรอบใหม่ในสหรัฐฯ ดังนั้น ไทย จำเป็นต้องรักษาสมดุลทางการค้า กระจายความเสี่ยงด้านตลาด และกำหนดมาตรการที่เหมาะสมเพื่อบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น พร้อมทั้งแสวงหาโอกาสเพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดจากสถานการณ์ที่ท้าทาย
ด้านนายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า ถือว่า เป็นตัวเลขส่งออกที่ดี ซึ่งยังคงต้องติดตามสถานการณ์กีดกันทางการค้าอย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงแต่จับตาไทยเกินดุลการค้าสหรัฐฯ เท่านั้น แต่ควรจับตาไทยขาดดุลการค้าจีนด้วย

