กาง “Master Plan” กระตุ้นเศรษฐกิจให้ถึงเป้า 3.5% ตามสั่งนายกฯ
กาง “Master Plan” กระตุ้นเศรษฐกิจให้ถึงเป้า 3.5% ตามสั่งนายกฯ หลังขุนคลัง เรียกประชุม เสาหลักเศรษฐกิจทั้งหมด
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังการประชุม ร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เสร็จสิ้นว่า การประชุมในครั้งนี้เพื่อหาแนวทางในการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2568 ให้ GDP ของประเทศปีนี้ เติบโตได้ตามเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งไว้ให้ได้ที่ 3-3.5% โดยอาจต้องมีการจัดทำเป็น Master Plan ใหญ่ 2 แนวทาง คือ

1. ตั้งเป้าเพิ่มการบริโภคภายในประเทศ โดยมองว่าการแก้หนี้เป็นอีกส่วนในการเพิ่มการบริโภค ดังนั้นต้องมีการแก้หนี้ให้เร็วที่สุด
2. ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของไทยหลักๆ เช่น การท่องเที่ยว ที่ต้องดูว่ามีอะไรที่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง และจะมีการขับเคลื่อนอย่างไร เช่น ความสะดวกของนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยว เรื่องของวีซ่า เรื่องความปลอดภัย สถานที่ท่องเที่ยว รวมถึงการพัฒนาสนามบิน เป็นต้น
รวมถึงการส่งออก โดยไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ที่มีการพึ่งพาการส่งออก 65-70 % ต้องมาดูว่า สามารถทำอะไรได้บ้างในภาคเกษตรกรรม เพราะเป็นภาคสำคัญ ดังนั้นปัญหาที่มีอยู่ คือเรื่อง productivity ของสินค้าเกษตร ที่เราต้องมาดูว่าสินค้าประเภทไหน เป็นประเภทที่ควรส่งออก และควรที่จะผลิตเท่าไหร่เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ซึ่งส่วนนี้กระทรวงพาณิชย์ จะต้องรับผิดชอบดูแลการส่งออก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ต้องลงรายละเอียดในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในส่วนนี้ ของ เครื่องจักร น้ำ ปุ๋ย เป็นต้น แต่สำหรับในเชิงคุณภาพ เราก็จะเน้นสินค้าเกษตรรายตัวไป เช่น ข้าว มันสำปะหลัง ซึ่งจะค่อยๆปรับไปทีละเรื่อง ที่ละปัญหา เพื่อเป็นการแก้ไขให้เกษตรกรรมแข็งแรงและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของการลงทุน โดยนายพิชัย กล่าวว่า ไทยได้รับความสนใจจากนักลงทุน ก่อนที่กลุ่มประเทศ CLMV อย่างเช่น เวียดนาม จะได้รับความสนใจ ซึ่งที่เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ นั้น มาจาก FDI มาลงทุน ซึ่งไทยเองมีธุรกิจเด่นหลายอย่างที่นำเข้าส่งออกเยอะ แต่มีปัญหาอยู่เรื่องนึงที่ต้องเน้น เช่น อุสาหกรรมยานยนต์ ที่เห็นได้จาก การส่งออกรถยนต์ ในเดือนมกราคม 68 ที่ผ่านมา การส่งออกต่ำสุดในรอบ 33 เดือน ขณะที่การจำหน่ายในประเทศ ก็ลดอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน แต่ที่ผ่านมามีการลงทุนด้านนี้เข้ามาเยอะ ซึ่งเราก็ต้องมาดูว่าจะมีการร่วมมือทำงานและบูรณาการอย่างไรให้โครงสร้างรถยนต์อยู่ได้ สามารถใช้ประโยชน์ได้ต่อไป ขณะเดียวกันก็ต้องมีการปรับรถ EV ให้บาลานซ์กันให้ได้เร็วที่สุด

ขณะที่ นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมถึงมาตรการ ที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก ในการผลักดัน ให้จีดีพีของไทยในปี 68 โตได้ตามเป้า 3-3.5% ว่า ในส่วนของตนเอง จะแบ่งเป็น 3 เรื่อง คือ
1.การท่องเที่ยว โดยปี 2568 ไทยตั้งเป้าจำนวนนักท่องเที่ยวขั้นต่ำไว้ที่ 38 ล้านราย และเงินรายได้ไว้ที่ 1.65 ล้านล้านบาท ในส่วนนี้ต้องประสานกับ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ว่า จะทำอย่างไร ใช้วิธีไหน และดึงนักท่องเที่ยวจากประเทศไหน เพื่อทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้สูงกว่าเป้าขั้นต่ำที่ตั้งไว้ ซึ่งไทยต้องทำให้ได้สูงกว่านั้น โดย คาดว่าแนวทางที่เราจะเสนอกนะทรวงการท่องเที่ยวฯ คือการเน้นทำการตลาดการท่องเที่ยวไทย ดึงนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ และทำให้รายจ่ายนักท่องเที่ยวมากกว่า 42,000 ต่อทริปต่อคน
2.เรื่องการส่งออก โดยไทยต้องเพิ่มการส่งออก ของปี 2568 ให้ขยายตัวได้ถึง 3.5-4 % หรือ ต้องทำให้การส่งออกมีมูลค่ามากกว่า 26,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือน ซึ่งเรื่องนี้ต้องประสาน กับกระทรวงพาณิชย์ ว่าจะเพิ่มตลาดไหน หรือเพิ่มส่งการออกสินค้าอะไร ซึ่งหากการส่งออกของไทยเพิ่มขึ้น ก็จะส่งให้ภาคอุตสาหกรรม ของไทยฟื้นตัวขึ้นตามด้วยเช่นกัน
3.การลงทุน ที่ต้องเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณการลงทุนของรัฐให้เร็วขึ้น ให้ได้มากกว่าร้อยละ 85 ด้วยการกำหนดตัวชี้วัด ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปตามแผนที่ตั้งไว้ และในส่วนของภาคเอกชน โดยเฉพาะกลุ่ม FDI ที่ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนไปกว่า 800,000 ล้านบาท ในปี 2567 ต้องนำเงินมาลงทุนในปีนี้ให้ได้ร้อยละ 40-50 โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) มาช่วยขับเคลื่อน
อย่างไรก็ตาม แนวทางทั้งหมดนี้จะมีการนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี ว่าจะมีความเห็นด้วยหรืออย่างไร และหากเห็นด้วยจะมีการนำรายละเอียดทั้งหมดเข้าเสนอต่อคณะกรรมการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อให้มีความเห็นชอบต่อไป ซึ่งคาดว่าจะมีการประชุม ในช่วงเดือน มี.ค.นี้