เอกชน กังวล ! สหรัฐฯ ประกาศเก็บภาษีนำเข้าเหล็ก-อลูมิเนียม
เอกชน กังวล สหรัฐฯ ประกาศเก็บภาษีนำเข้าเหล็ก-อลูมิเนียม แนะ รัฐ ฯ รับมือ เร่ง บูรณาการข้อมูลการค้าทุกมิติไทย-สหรัฐฯ
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า สหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับขึ้นภาษีนำเข้าเพิ่มเติม โดยได้ประกาศเก็บภาษีนำเข้าเหล็กและอลูมิเนียม และเตรียมขึ้นภาษีนำเข้าจากสินค้ากลุ่มรถยนต์ เซมิคอนดักเตอร์ และยา รวมทั้งมีแผนเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ กับประเทศต่างๆ ในวงกว้างสำหรับสินค้าที่สหรัฐฯ เสียเปรียบจากการถูกเก็บภาษีนำเข้าในอัตราสูง ซึ่งอาจทำให้สินค้าไทยมีต้นทุนภาษีเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 6-8%

ทั้งนี้ สงครามการค้าได้กดดันเศรษฐกิจสหรัฐฯ จากการบริโภคและภาคบริการที่ชะลอลง ส่วนภาคอุตสาหกรรมยุโรปและญี่ปุ่นต่างหดตัวต่อเนื่อง
ที่ประชุม กกร. มีความกังวลต่อการดำเนินนโยบายจัดเก็บภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ที่อาจส่งผลกระทบต่อภาพรวมการส่งออกของไทย โดยล่าสุดสหรัฐฯ มีการประกาศปรับขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอลูมิเนียมจาก 10% เป็น 25% และยกเลิกข้อยกเว้นรายประเทศ ข้อตกลงตามโควตา รวมทั้งยกเลิกการยกเว้นภาษีแบบรายสินค้า โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2568 ทำให้ผู้ประกอบการไทยที่มีการส่งออกเหล็กและอลูมิเนียมไปยังสหรัฐฯ จะต้องแบกรับภาระภาษีนำเข้าที่เพิ่มขึ้น
ดังนั้น กกร. จึงเสนอขอให้ภาครัฐเร่งมีการบูรณาการข้อมูลการค้าในทุกมิติระหว่างไทยและสหรัฐฯ เช่น ดุลการค้า ดุลภาคบริการและดิจิทัล ดุลภาคขนส่ง ดุลภาคการศึกษา เป็นต้น เพื่อนำมาวิเคราะห์กำหนดท่าทีร่วมกับภาคเอกชน ในการเจรจาการค้าระหว่าง 2 ประเทศ รวมทั้งกำหนดยุทธศาสตร์ในการรับมือนโยบายปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ และผลกระทบจากสงครามการค้า เพื่อบรรเทาผลกระทบของผู้ประกอบการและสร้างโอกาสทางการค้าใหม่ๆ ลดการพึ่งพาตลาดเดิม
ส่วนกรณีที่นักเศรษฐศาสตร์ คาดการณ์ว่า ช่วงเดือนเมษายนนี้เป็นต้นไป ไทยจะเจอกำแพงภาษีจากสหรัฐฯ นั้น นายเกรียงไกร ย้ำว่า ภาครัฐ ต้องเร่งบูรณาการเก็บข้อมูลตัวเลขการค้าทุกมิติ ซึ่งขณะนี้ สหรัฐฯ ดูเพียงข้อมูลเฉพาะการนำเข้า-ส่งออกสินค้า ซึ่งอาจไม่ใช่ตัวเลขจริงทั้งหมด ซึ่งล่าสุดภาคเอกชนได้ส่งรายละเอียดเรื่องนี้ให้กับภาครัฐไปแล้ว
เรื่องของทรัพย์สินทางปัญญา และภาคบริการ เรื่องแฟรนไชส์ที่เราต้องจ่าย ร้านอาหารทั้งหลาย Netflix ค่าการใช้พวกโปรแกรมคอมพิวเตอร์ต่างๆ ใช้คลาวด์ ใช้อะไรที่เราต้องจ่ายมหาศาลเหล่านี้ รวมทั้งการศึกษา เรื่องโลจิสติกส์ ทุกอย่าง พวกเราใช้สายการบิน ใช้เครื่องบินของเค้าต่างๆ เหล่านี้ ต้องเอามาคิดรวมหมด แล้วก็จะกลายเป็นดุลการค้าที่แท้จริง ถ้าหากตรงนั้นดีไม่ดี เราอาจจะเป็นประเทศที่ขาดดุลการค้ากับสหรัฐฯ ก็ได้
ข้อกังวลว่าสินค้าจีนจะทะลักเข้าไทย
นอกจากนี้ กรณีที่สหรัฐฯ ตั้งกำแพงภาษีสินค้าจากจีน โดยมีข้อกังวลว่าสินค้าจีนจะทะลักเข้าไทยนั้น ภาคเอกชน อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและมีความรับผิดชอบ หามาตรการตรวจสอบควบคุม และป้องกันไม่ให้สินค้าจีนทะลักเข้าไทย บูรณาการข้อมูลร่วมกัน เพื่อดูว่ามีสินค้าใดเข้ามาในประเทศมากเกินปกติ และ มาตรการเกี่ยวกับการป้องกันการอุดหนุน ซึ่งทุกๆ มาตรการต้องทำควบคู่กันไป
ขณะที่ เศรษฐกิจไทย ส่งสัญญาณอ่อนแรงลง สะท้อนผ่านจีดีพีไตรมาส 4/2567 ที่ขยายตัวเพียง 3.2% ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ราว 4.0% ส่งผลให้ทั้งปี 2567 จีดีพีขยายตัวเพียง 2.5% ต่ำกว่าระดับศักยภาพ โดยสาเหตุหลักมาจากการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่หดตัว สวนทางกับการส่งออกที่ยังขยายตัวดี เป็นเพราะปัญหาเชิงโครงสร้างและการแข่งขันรุนแรงจากสินค้าต่างประเทศในหลายอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เช่น รถยนต์ เคมีภัณฑ์ ยางและพลาสติก อิเล็กทรอนิกส์ วัสดุก่อสร้าง เป็นต้น
เศรษฐกิจไทยปี 2568 เผชิญความเสี่ยงสูง คงเป้าขยายตัว 2.4 - 2.9%
โดยเศรษฐกิจไทยปี 2568 เผชิญความเสี่ยงสูง สำนักวิจัยในต่างประเทศปรับลดประมาณการจีดีพีไทยลงเหลือ 2.6% จากเดิมอยู่ที่ 2.7% ท่ามกลางความเสี่ยงจากนโยบายการค้า และแรงกดดันต่อภาคการผลิตที่จะยังมีต่อเนื่อง ส่วนอุปสงค์ภายในประเทศยังเปราะบาง สอดคล้องกับมุมมองของธนาคารแห่งประเทศไทยที่นำไปสู่การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25%
เราคาดหวังให้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก เพื่อช่วยเหลือลดภาระผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอี โดยอยากให้ช่วยพิจารณาให้เร็วที่สุดดีที่สุด แต่ก็ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการที่ดูแล ก็คงต้องดูหลายอย่างประกอบกัน
ทั้งนี้ มาตรการเพิ่มเติมเพื่อลดผลกระทบและประคองการเติบโตทั้งในระยะสั้นและระยะยาวมีความจำเป็น โดยเฉพาะการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าโลก การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ การลดต้นทุนผู้ประกอบการ และการยกระดับภาคการผลิตให้แข่งขันได้ในระยะยาว
ส่วนกรอบประมาณการเศรษฐกิจปี 2568 ของ กกร. ยังคงเป็นกรอบเดิม โดย GDP จะขยายตัวอยู่ที่ 2.4 - 2.9% ขณะที่ ภาคการส่งออก จะขยายตัวที่ 1.5 - 2.5% และ เงินเฟ้อ จะอยู่ช่วงระหว่าง 0.8 - 1.2%
ที่ประชุม กกร. ยังเห็นด้วยกับการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ขยายระยะเวลาลงทะเบียนให้กับลูกหนี้รายย่อยและ SMEs ที่เปราะบางเข้าร่วมโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ถึงวันที่ 30 เมษายน 2568 เพื่อเพิ่มโอกาสให้ลูกหนี้ได้รับการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและ SMEs ขนาดเล็กมากขึ้น
