เจาะโครงการสร้าง ตึก สตง. 2 พันล้าน ก่อนกิจการร่วมค้าไอทีดี-ซีอาร์อีซี คว้าชัย
เจาะลึกการประมูลสร้างตึก สตง. กิจการร่วมค้า "อิตาเลียนไทย - ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10" เสนอราคาต่ำสุด 2,136 ล้านบาท มีชัยเหนือคู่แข่ง 6 ราย
กรณีอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ ย่านจตุจักร วงเงิน 2,136 ล้านบาท พังถล่มหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2568 นำมาซึ่งการสูญเสียชีวิตชีวิต และมีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก กำลังถูกตั้งคำถาม และถูกตรวจสอบในหลายมิติ
ปัจจุบันอยู่ระหว่างการตรวจสอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดย นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนหาข้อเท็จจริง หาสาเหตุ และหาผู้รับผิดชอบ พร้อมให้รายงานผลภายใน 7 วัน

ขณะที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ยืนยันกระบวนการดำเนินโครงการก่อสร้างอาคาร สตง. แห่งใหม่ เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ยึดหลักความสุจริต คุ้มค่า โปร่งใส ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และตรวจสอบได้ ตามที่เสนอข่าวไปก่อนหน้านี้
PPTV Online ตรวจสอบกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ก่อสร้างอาคารที่ทำการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ พร้อมสิ่งก่อสร้างประกอบ กำหนดด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) กำหนดวงเงินงบประมาณไว้ที่ 2,560,000,000 บาท กำหนดราคากลางเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2563 เป็นเงิน 2,522,153,000 บาท
ลักษณะงานโดยสังเขป เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ประเภทอาคารสูงและอาคารขนาดใหญ่พิเศษที่มีพื้นที่ของสำนักงาน ที่จอดรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ศุนย์อบรมและหอประชุม
โดยได้ประกาศเชิญชวนเมื่อ ก.ค. 2563 มีผู้ขอรับเอกสาร 17 ราย
- บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด
- บริษัท กิจการร่วมค้า ยูเวิร์คนีโอแอนด์มาร์ชเทน จำกัด
- บริษัท พี.เอ็น.เอส.ไซน์ จำกัด
- บริษัท อาคาร 33 จำกัด
- บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน)
- บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน)
- บริษัท เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน)
- บริษัท รวมนครก่อสร้าง(ประเทศไทย) จำกัด
- บริษัท คริสเตียนีและนีลเส็น (ไทย) จำกัด (มหาชน)
- บริษัท เจ ดับบลิว เอส คอนสตรัคชั่น จำกัด
- บริษัท เบ็ญจมาศ จำกัด
- บริษัท เอ็นแอล ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด (มหาชน)
- บริษัท วรนิทัศน์ จำกัด
- บริษัท คอนสตรัคชั่น ไลนส์ จำกัด
- บริษัท แมกซ์เอนส์ จำกัด
- บริษัท ฑีฆาก่อสร้าง จำกัด (มหาชน)
- กิจการร่วมค้าไอทีดี-ซีอาร์อีซี หรือ กิจการร่วมค้าระหว่าง บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด

จากเอกชน 17 รายที่ขอรับเอกสาร มีผู้ยื่นเสนอราคา หรือ ยื่นซอง เพียง 7 ราย
- บริษัท เอ็นแอล ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด (มหาชน)
- บริษัท คริสเตียนีและนีลเส็น (ไทย) จำกัด (มหาชน)
- บริษัท อาคาร 33 จำกัด
- กิจการร่วมค้า วรเรียล
- บริษัท เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน)
- กิจการร่วมค้า ยูเวิร์คนีโอแอนด์มาร์ชเทน จำกัด
- กิจการร่วมค้าไอทีดี-ซีอาร์อีซี

ขณะที่ขั้นตอนการเสนอราคา กิจการร่วมค้าไอทีดี-ซีอาร์อีซี ชนะการประมูลด้วยการเสนอราคา 2,136,000,000 บาท ซึ่งเป็นผู้เสนอราคาต่ำที่สุดจากผู้เสนอราคาทั้งหมด 7 ราย
- บริษัท อาคาร 33 จำกัด เสนอ 2,194,463,000 บาท
- กิจการร่วมค้า ยูเวิร์คนีโอแอนด์มาร์ชเทน จำกัด เสนอ 2,357,777,777 บาท
- บริษัท คริสเตียนีและนีลเส็น (ไทย) จำกัด (มหาชน) เสนอ 2,163,800,000 บาท
- บริษัท เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน)เสนอ 2,392,000,000 บาท
- บริษัท เอ็นแอล ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เสนอ 2,368,000,000 บาท
- กิจการร่วมค้า วรเรียล เสนอ 2,320,888,000 บาท
เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2568 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เผยแพร่เอกสารยืนยันว่าการดำเนินโครงการมีการเบิกจ่ายงบประมาณไปแล้ว 22 งวด เป็นจำนวนเงิน 966.80 ล้านบาท ทั้งนี้ การดำเนินโครงการก่อสร้างดังกล่าว สตง.ยึดหลักความสุจริต คุ้มค่า โปร่งใส ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และตรวจสอบได้
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันการตรวจสอบปัญหาอาคาร สตง. ยังไม่มีการสรุปผลการตรวจสอบเป็นทางการ ว่าปัญหาเกิดขึ้นจากสาเหตุใด มีสาเหตุมาจากแผ่นดินไหวหรือความผิดพลาดในการดำเนินการจากบริษัทที่เกี่ยวข้อง
ดังนั้นบริษัทเอกชนและผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด จึงยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่