นายกฯ แถลงการณ์ ท่าทีของประเทศไทยกับนโยบายการค้าของสหรัฐอเมริกา
นายกฯ แพทองธาร ออกแถลงการณ์ ท่าทีของประเทศไทยกับนโยบายการค้าของสหรัฐอเมริกา เพิ่มนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ทั้ง พลังงาน อากาศยาน สินค้าเกษตร
วันที่ 9 เมษายน 2568 การประกาศทำสงครามการค้าของโดนัลด์ ทรัมป์ จะมีผลกับประเทศไทย โดยไทยถูกมาตรการตอบโต้ทางภาษี (Reciprocal Tariffs) ร้อยละ 36 ซึ่งถือว่าสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ ขณะที่หลายประเทศต่างมีท่าทีต่อมาตรการดังกล่าวแตกต่างกัน ในส่วนของไทย นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ออกแถลงการณ์ ต่อท่าทีของประเทศไทยกับนโยบายการค้าของสหรัฐอเมริกา โดยสรุปว่า วันนี้ประเทศไทย กำลังเผชิญกับมาตรการในการขึ้นภาษีสินค้าของไทยที่ส่งไปขายในสหรัฐอเมริกา

ในอัตราร้อยละ 36 อีกทั้งหลายประเทศก็ได้ตกอยู่ใสถานการณ์เดียวกันกับประเทศไทยและก็ต่างเตรียมมาตรการรับมือ ซึ่งเราเชื่อว่าทั่วโลกกำลังจะเห็นการตอบโต้กันอย่างหนักหน่วงผ่านเครื่องมือทางภาษี และหลายประเทศก็ตัดสินใจไปเจรจาพูดคุยกับรัฐบาลสหรัฐฯ แต่จนถึงวันนี้ยังไม่มีใครได้ข้อสรุปของการเจรจาแต่อย่างใด ในส่วนของประเทศไทยมาตรการนี้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการส่งออกสินค้าของเราโดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ อาหารแปรรูป และสินค้าเกษตร
รัฐบาลได้ตั้งคณะทำงานในเรื่องนี้ขึ้นมา ตั้งแต่เมื่อวันที่ 6 มกราคมปีนี้ และมีการหารือกับภาคเอกชนรวมทั้งตัวแทนของสหรัฐฯถึงข้อเสนออย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ มาโดยตลอด และในสัปดาห์หน้านี้ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะเดินทางไปหารือ กับหลายภาคส่วนในสหรัฐฯ ทั้งภาครัฐ เอกชนและผู้ที่มีส่วนได้เสีย จากการเปลี่ยนแปลงการค้าที่สำคัญ ของรัฐบาลสหรัฐฯในครั้งนี้ สำหรับสิ่งที่เราจะสื่อสารกับรัฐบาลสหรัฐฯก็คือ ประเทศไทยไม่ใช่แค่ผู้ส่งออกเท่านั้น แต่เราคือพันธมิตรและหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่สหรัฐฯเชื่อถือได้ในระยะยาว
โดยขณะนี้ รัฐบาลได้สรุปข้อเสนอเชิงนโยบายต่างๆ เช่น การเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ในด้านพลังงาน อากาศยาน และ สินค้าเกษตร โดยประเทศไทยมีแผนที่จะสร้างความร่วมมือกับภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และกลุ่มอื่นๆ ที่มีส่วนได้เสียสำคัญในระบอบประชาธิปไตยของสหรัฐฯ ซึ่งมีรายละเอียดในนโยบายอีกมาก
นอกจากนี้ประเทศไทย จะมีการเจรจา เรื่องการส่งเสริมการลงทุนของไทยในสหรัฐฯและลดเงื่อนไขการนำเข้าที่เป็นอุปสรรครวมไปถึงการปราบปราม การสวมสิทธิถิ่นกำเนิดสินค้าที่ใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่านไปยังสหรัฐฯ
นายกฯ แพทองธาร ยังกล่าวด้วยว่า ดิฉันขอให้คำมั่นว่า ทุกท่านไม่ได้โดดเดี่ยว ไม่ได้ต่อสู้เพียงลำพัง รัฐบาลจะมีมาตรการเยียวยาเร่งด่วนในระยะสั้น และระยะยาวเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการทั้ง SME และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ได้รับผลกระทบ โดยการเร่งขยายตลาดส่งออกใหม่ๆ อีกทั้งยังจะเป็นการกระจายความเสี่ยงของภาคธุรกิจไทย ที่เรามุ่งมั่นที่จะเจรจาการค้า ในการเปิดตลาดใหม่ๆ ในตะวันออกกลาง ยุโรป และ อินเดีย โดยจะเร่งเจรจาการค้า FTA ให้เร็วยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในวันอังคารที่ 8 เมษายนนี้ หลังจากประชุมสรุปกับคณะกรรมการและทุกหน่วยงานอีกครั้งหนึ่ง จะสรุปแนวทางเพื่อผลประโยชน์ของประเทศไทยเป็นสำคัญ
