ศุภวุฒิ ชี้ เจรจาภาษี “ทรัมป์” ต้องรู้เขารู้เรา รีบคุยเท่ากับให้ของฟรีสหรัฐฯ
ที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี ชี้ เจรจาภาษี “ทรัมป์” ต้องรู้เขารู้เรา หากรีบเกินไปเท่ากับให้ของฟรี โดยไม่ได้อะไรตอบแทน ย้ำ ต้องไปสร้างพันธมิตรกับเกษตรกรสหรัฐฯเพราะเป็นฐานเสียงของพรรคริพับลิกัน และ ทรัมป์
วันนี้ 7 เม.ย. 2568 นายศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่ปรึกษาคณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐฯ กล่าวในการ "เจาะลึกทั่วไทยอินไซด์ไทยแลนด์" ว่า ขณะนี้ไม่มีประเทศใดที่เจรจากับสหรัฐเมริกา หลังประกาศขึ้นภาษีสำเร็จสักประเทศ ไม่ว่า อินเดีย ญี่ปุ่น เป็นต้น ในส่วนของประเทศไทยก็คิดว่าการเจรจาก่อนจะเป็นทางที่ดีเช่นกัน ดังนั้น น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของไทยให้เหมือนก่อนที่โดนัลด์ ทรัมป์ จะขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี

ทั้งนี้ ทิศทางนโยบายการขึ้นภาษีของสหรัฐ นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ ประธานคณะที่ปรึกษานโยบายนายกรัฐมนตรี ประเมินว่า ทรัมป์ มีความตั้งใจจะเปลี่ยนโลก เปลี่ยนสถานะของอเมริกาให้ไม่เหมือนเดิม สะท้อนจากการประกาศนโยบายภาษีศุลกากร เมื่อวันที่ 2 เม.ย.ที่ผ่านมา ที่จะเก็บภาษีศุลกากรจากทุกประเทศในโลกทั้ง 180 ประเทศ
ดังนั้น เวลาเราจะสู้ศึก ต้องรู้เขา รู้เรา ดังนั้น เขาคือสหรัฐที่ตั้งใจจะเปลี่ยนโลกเปลี่ยนประเทศ เปลี่ยนอเมริกา อย่างประเทศอังกฤษ เป็นพันธมิตรมายาวนาน นายทรัมป์ก็ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 ระหว่างการเยือนอังกฤษแล้วก็ตาม แต่อังกฤษเกินดุลการค้ากับสหรัฐสูง ก็โดนเก็บภาษี 10% เช่นกัน
นายศุภวุฒิ กล่าวอีกว่า ประเด็นคือ ถ้ารีบไปเจรจาตามที่หลายฝ่ายแนะนำ ก็เท่ากับให้ของฟรีกับสหรัฐฯ หมด โดยไม่ได้อะไรตอบแทนเลย เพราะฉะนั้น เราควรเก็บกระสุนไว้ก่อน ขณะเดียวกันก่อนหน้าก็ไม่มีใครรู้ได้เลยว่า สรุปแล้วนายทรัมป์จะออกนโยบายแบบไหน จะไปเจรจาก่อนหน้ากับ กระทรวงการคลังสหรัฐ กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐ หรือสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (USTR) ก่อนก็ไม่มีใครตอบคำถามได้
นายศุภวุฒิ กล่าวว่า ดังนั้น ไทยเราจะเปลืองตัวไปทำไม กลับมาคิดว่าจะรับมืออย่างไรดีกว่า โดยจากการวิเคราะห์ของรัฐบาล สรุปสาเหตุที่สหรัฐขึ้นภาษีว่า 1.การขาดดุลการค้า ทำให้สหรัฐเสียเปรียบ 2.เงินที่ได้มาจากการขึ้นภาษี นายทรัมป์จะนำไปโปะการขาดดุลงบประมาณของสหรัฐ ที่เกิดจากนโยบายการขยายอายุการลดภาษีให้คนรวยในสหรัฐ และ 3.คือต้องการให้เกิดการกลับไปตั้งโรงงานและผลิตสินค้าที่อเมริกา นายทรัมป์คิดที่จะปิดประเทศตัวเองจากโลกภายนอก และอยู่ด้วยตัวเอง ในแนวคิด ผลิตเองใช้เองรวยเอง
ฉะนั้นแนวทางการเจรจาของไทย โดยนายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐอเมริกา ระบุว่า ศักยภาพของไทยคือความสามรถในการแปรรูปอาหารและส่งออกไปทั่วโลก ซึ่งอเมริกาเป็นหนึ่งในฐานการผลิตสินค้าเกษตรที่ดีมาก เช่น ถั่วเหลือง ข้าวสาลี ข้าโพด ทำให้ไทยนำเข้าสินค้าเกษตรจากอเมริกาเพิ่ม และแปรรูปให้เป็นอาหารขายทั่วโลก เพราะเกษตรกรเป็นฐานเสียงสำคัญ ของพรรคริพับลิกัน ของสหรัฐ และของทรัมป์
ส่วนการจะขอลดภาษีได้หรือไม่นั้น ทรัมป์ได้เคยตอบสื่อมวลชนในวันที่แถลงขึ้นภาษีว่า ประเทศนั้นๆต้องมีข้อเสนอที่มหัศจรรย์ ให้สหรัฐฯ จึงจะพิจารณาลดภาษี คำถามต่อมาคิด ประเทศไทยจะมีข้อเสนอที่มหัศจรรย์อะไรให้สหรัฐได้ ให้ข้อเสนอไปก็อาจโดนฝ่ายค้านถล่มว่า การแอบทำข้อตกลงลับ ซึ่งไทยเราเดินสายกลาง ไม่ได้วิ่งไปหาและไม่ได้ตอบโต้ แต่กำลังหาทางออกว่าไทยจะอยู่กับในยุคของนายทรัมป์ได้อย่างไร
นายศุภวุฒิ กล่าวว่า ขั้นต่อไปคือดูท่าทีของ ทรัมป์ต่อไป เนื่องจากการประกาศขึ้นภาษีเมื่อวันที่ 2 เม.ย. และการตอบโต้ของชาติต่างๆ ก็ทำให้ดัชนีหุ้นดาวโจนส์ร่วงกว่า 2,200 จุด และยังอยู่ในทิศทางขาลง และการที่อาจจะทำให้สินค้าในสหรัฐแพง แต่ทางนายทรัมป์ก็ยังบอกว่าไม่เป็นไร ขณะที่ ทางรัฐบาลไทยก็นำข้อเสนอจากสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (USTR) ที่มีรายละเอียดว่าไทยมีภาษีศุลกากรใดเหลื่อมล้ำสหรัฐบ้าง มาทบทวน และปรับให้เทียมเคียงกับสหรัฐมากขึ้น
ส่วนจังหวะการไปเจรจาเมื่อไหร่นั้น ตามปกติอเมริกามีสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (USTR) เป็นผู้เจรจาการค้าเป็นหลัก โดยต้องหารือกันในระดับเจ้าหน้าที่เพื่อคุยกันในรายละเอียดให้จบก่อน ซึ่งที่ผ่านมาไทยก็มีกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ทำให้ที่เจรจา เพราะฉะนั้น รัฐบาลจึงให้กระทรวงพาณิชย์ดูแล ซึ่งหากการเจรจามีเรื่องใดติดขัดค่อยมีการเจรจาในระดับรัฐมนตรีต่อไป
ส่วนที่มีหลายฝ่ายเสนอว่าให้เจรจากับทรัมป์ เลยนั้น คำถามคือไทยเรามีข้อเสนอที่มหัศจรรย์อะไรให้ทรัมป์ก่อน เพราะถ้าเตรียมตัวไม่ดี ไม่เช่นนั้นอาจจะเป็นแบบกรณีประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกีของยูเครน ปะทะคารมดุเดือดกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และโดนทรัมป์ตำหนิต่อหน้าสื่อ
เมื่อถามว่า นายกฯได้มอบหมายนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกะทรวงการคลัง ไปเจรจากับสหรัฐนั้น นายศุภวุฒิ กล่าวว่า นายพิชัยไปเจรจา แต่ไปพบปะหารือกับหลายภาคส่วน และ พบปะเกษตรกรสหรัฐฯด้วย ซึ่งส่วนนี้เป็นยุทธศาสตร์ในการสร้างพันธมิตร กับเกษตรกรในอเมริกา เป็นการแสดงเชิงสัญลักษณ์ สำหรับการต่อยอดไปยังการเจรจานำเข้าสินค้าเกษตรเพื่อผลิตและแปรรูปเป็นอาหารส่งออกขายทั่วโลก อาทิ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่ไทยยังปลูกได้ต่ำกว่าความต้องการ
สำหรับนโยบายช่วยเหลือในระยะสั้น จากการขึ้นภาษีของสหรัฐนั้น จะมีการนำเงินกองทุนส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ คาดว่ามีอยู่ราว 3 พันล้านบาทในการช่วยเหลือด้านการเงินให้กับผู้ประกอบการด้านส่งออกของไทย ที่ได้รับผลกระทบ และส่งเสริมเพื่อหาตลาดใหม่ รวมทั้งการสกัดการแอบอ้าง ใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า (certificate of origin) เพื่อลดการเกินดุลด้วย