เปิดขั้นตอนดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ กยศ. ทำอย่างไร มีขั้นตอนอะไรบ้าง
เปิดขั้นตอนดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ กยศ. ทั้งแบบอิเล็กทรอนิกส์ และแบบวอล์กอิน หลังเก็บเงินเพิ่ม 3,000 บาท ทำอย่างไร มีขั้นตอนอะไรบ้าง
9 เม.ย. 68 จากกรณีที่ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) มีการปรับโครงสร้างหนี้ โดยเก็บเงินเพิ่มในเดือนเมษายน 2568 จำนวน 3,000 บาท พร้อมเปิดให้ลูกหนี้ดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อลดจำนวนการผ่อนชำระต่อเดือน ขยายเวลาการผ่อน ลดเบี้ยปรับให้ 100% และปลดผู้ค้ำประกันให้ โดยจะแจ้งจำนวนเงินการหักเงินเดือนตามยอดผ่อนชำระใหม่ ในเดือนถัดจากเดือนที่ผู้กู้ยืมได้ปรับโครงสร้างหนี้แล้วนั้น
สำหรับลูกหนี้ที่ต้องการดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ สามารถทำตามขั้นตอน ดังนี้

คู่มือระบบทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ แบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Contract) กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา
ตั้งค่า Google Chrome เป็นเบราว์เซอร์เริ่มต้น
Android
- ไปที่การตั้งค่า (Settings) ของโทรศัพท์
- เลื่อนลงและเลือก แอป (Apps) หรือ แอปพลิเคชันเริ่มต้น (Default Apps)
- เลือก เบราว์เซอร์เริ่มต้น (Default Browser App)
- เลือก Google Chrome
iOS
- เปิด การตั้งค่า (Settings)
- เลื่อนลงมาจนเจอ แอป (Apps) แล้วกดเข้าไป
- ค้นหา Google Chrome และกดเข้าไป
- เลือก แอปเบราว์เซอร์เริ่มต้น (Default Browser App)
- กดเลือก Google Chrome

ขั้นตอนการทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้แบบอิเล็กทรอนิกส์ มีขั้นตอนดังต่อไปนี้
- เลือกกดปุ่มทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ แบบอิเล็กทรอนิกส์
- กรอกเลขประจำตัวประชาชน เพื่อตรวจสอบสิทธิ์ทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้
- กรอกวันเดือนปีเกิด (ปี พ.ศ.) หาก วัน/เดือน/ปีเกิด ที่ผู้กู้ยืมระบุเข้ามา ไม่ตรงกับในฐานข้อมูลในระบบ ระบบจะแสดงแจ้งเพื่อให้ผู้กู้ยืมระบุวัน/เดือน/ปีเกิด ที่ถูกต้องเพื่อดำเนินการในกระบวนการแก้ไขข้อมูลโดยเจ้าหน้าที่กองทุนฯ ต่อไป โดยหากแก้ไขข้อมูลเสร็จสิ้นแล้ว จึงจะสามารถดำเนินการขั้นตอนถัดไปได้
- แสดงวิธียืนยันข้อมูลส่วนบุคคลด้วยการสแกน QR Code ด้วยแอปพลิเคชัน ThaID ผู้ใช้งานกดปุ่ม “ถัดไป” เพื่อสแกน QR Code
- ระบุเบอร์โทรศัพท์มือถือ และอีเมล และเลือกเลขบัญชีเงินกู้ยืมที่จะทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้
- อ่านและทำเครื่องหมายติ๊กถูก ที่เงื่อนไขข้อกำหนดการเก็บรวบรวมข้อมูล จากนั้นกดปุ่ม “บันทึกรายละเอียดสัญญาปรับโครงสร้างหนี้”
- ระบบจะสร้างรายละเอียดข้อมูลผู้กู้ยืม ข้อมูลรายละเอียดบัญชีและยอดหนี้ที่ต้องผ่อนจ่ายต่อเดือนให้ผู้กู้ยืมตรวจสอบความถูกต้อง จากนั้นจึงกดปุ่ม “รายละเอียดสัญญา”
- จากนั้นทำเครื่องหมายติ๊กถูก เพื่อรับรองข้อมูลรายละเอียดความถูกต้อง และกดปุ่ม “ยืนยัน”
- สแกน QR Code ผ่านแอปพลิเคชัน ThaID ยืนยันตัวตน (ลงลายมือชื่อแบบอิเล็กทรอนิกส์)
- จะมีแจ้งเตือนให้ตรวจสอบว่าอีเมลที่ระบุมาถูกต้องหรือไม่ หากตกลง ระบบจะส่งลิงค์ยืนยันการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ให้ผู้กู้ผ่านทางอีเมลดังกล่าว
- ระบบจะส่งลิงก์ยืนยันการทำรายการไปที่อีเมลที่ผู้กู้ยืมได้ให้ไว้ในหน้าลงทะเบียน และให้ยืนยันการทำรายการเพื่อลงนามการทำสัญญา ผู้กู้จะเห็นข้อความที่ส่งโดยระบบในกล่องข้อความอีเมลของผู้กู้ ให้กด ยืนยันการทำรายการ ภายใน 5 นาที
- เสร็จสิ้นกระบวนการทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้แบบอิเล็กทรอนิกส์หากผู้กู้ยืมยังมีบัญชีเงินกู้อื่นๆ ที่มากกว่า 1 บัญชี ระบบแจ้งให้ท่านทราบดังรูปตัวอย่าง
- กดที่ปุ่ม “ตรวจสอบสัญญา” เพื่อตรวจสอบสัญญาปรับโครงสร้างหนี้พร้อมดาวนโหลดเอกสารสัญญา
ทั้งนี้ หากไม่สามารถทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ได้ ระบบจะแสดงข้อความให้ทราบตามเหตุผลต่าง ๆ ตามแต่กรณี เช่น กรณีผู้กู้ได้รับเงินคืนเรียบร้อยแล้ว, กรณีผู้กู้เป็นลูกหนี้ที่ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดหรือเป็นบุคคลล้มละลาย, กรณีผู้กู้ได้ทำการจ่ายหนี้ปิดบัญชีแล้ว, กรณีผู้กู้มีสิทธิ์ได้รับเงินคืน, กรณีผู้กู้อยู่ระหว่างพิจารณาคดีในชั้นศาล, ผู้กู้ที่เคยทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ไปแล้ว, และกรณีที่ผู้กู้ยังไม่ถึงกำหนดชำระหนี้ เป็นต้น
การทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้แบบบวอล์กอิน
ผู้กู้ยืมสามารถลงทะเบียนทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ ณ สำนักงานกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (อาคารเอไอเอ แคปปิตอล เซ็นเตอร์ และอาคารรุ่งโรจน์ ธนกุล) เปิดให้บริการในวันและเวลาราชการ (วันจันทร์ - วันศุกร์ เวลา 08.30-16.30 น.) หยุดวันเสาร์ - วันอาทิตย์ วันหยุดนักขัตฤกษ์ และวันหยุดตามประกาศรัฐบาล โดยมีเอกสารที่ต้องเตรียมไป คือ
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้กู้ยืมเงิน จำนวน 1 ฉบับ (ลงลายมือชื่อรับรองสำเนาถูกต้อง)
- สำเนาใบเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล (ถ้ามี)