"พิชัย" เตรียมยกทีมบินไปสหรัฐฯ ต่อรองภาษี เล็งนำเข้าข้าวโพดเพิ่ม
“พิชัย ชุณหวชิร” รมว.คลัง เตรียมยกทีมไทย บินไปสหรัฐฯ ปลาย เม.ย. แก้ปัญหา “ภาษีทรัมป์” กางแผนนำเข้าข้าวโพดเพิ่ม ยืนยันไม่กระทบเกษตรกร ขออย่ากังวล
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง พร้อม นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคเอกชน ประชุมแนวทางการดำเนินการของไทยต่อกรณีนโยบายการค้าของสหรัฐอเมริกา
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายพิชัยได้หยิบยกประเด็นเกี่ยวกับสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงขึ้นมาหารือ ซึ่งเป็นตลาดใหญ่มาก และไทยมีศักยภาพที่จะส่งออกได้มากกว่าแสนล้านบาท ปัจจุบัน ไทยส่งออกอยู่ที่ 21 ล้านตัน โดยเป็นพรีเมียมเกรดส่วนใหญ่ และเป็นที่นิยมทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม ข้าวโพดของไทย คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดเพียง 3% ของโลก โดยใช้วัตถุดิบภายในประเทศเป็นส่วนใหญ่ และยังมีส่วนต่างที่ต้องนำเข้าอยู่อีกเกือบ 8-9 ล้านตัน และเมื่อพิจารณาถึงสิ่งที่สหรัฐฯ ต้องการส่งออก และเป็นส่วนสำคัญที่ใช้ในการผลิต คือ ข้าวโพด ที่เป็นสินค้าที่สหรัฐฯ ส่งออกมากที่สุด และไทยต้องนำเข้าเพื่อใช้ในการผลิตในประเทศอีก 4 ล้านตัน หากไทยนำเข้าข้าวโพดจากสหรัฐฯ ไทยจะได้ประโยชน์จากการที่สหรัฐฯ สามารถผลิตได้มากและต้นทุนต่ำ ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนเฉลี่ยอาหารสัตว์ไทยราคาถูกลงด้วย เมื่อต้นทุนถูกลง จะส่งผลต่อ supply chain ทั้งระบบ คือ ผู้ปลูก ผู้นำเข้า ผู้ซื้อ ผู้ผลิตอาหารสัตว์ ผู้ขายอาหารสัตว์ ผู้ส่งให้กับผู้เลี้ยง และทำให้เกษตรการขายได้มากขึ้น สามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้มากขึ้น เพิ่มส่วนแบ่งตลาดโลกได้มากขึ้น โดยเกษตรกรในประเทศไม่ต้องกังวล เนื่องจากจะรับซื้อภายในประเทศตามฤดูกาล และในช่วงที่ขาดแคลนผลผลิต จึงจะมีการนำเข้าจากสหรัฐฯ ดังนั้น เกษตรกรในประเทศจะไม่กระทบจากการนำเข้า
นอกจากนี้ จะมีการทบทวนเรื่องการเก็บภาษีจากสหรัฐฯ ให้เท่าเทียมกับประเทศอื่น ในสินค้าชนิดเดียวกัน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น โดยภาคเอกชนที่เข้าร่วมการประชุมและผู้นำเข้าสินค้าหมวดนี้ พิจารณาแล้วว่าสามารถนำเข้าได้เลยและเป็นผลดีต่อประเทศ ซึ่งกำลังพิจารณาปริมาณการนำเข้าให้เหมาะสมต่อไป

ที่ประชุมยังมีการพิจารณาถึงประเด็นที่สหรัฐฯ ให้ความสนใจ คือ การจัดการอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่อัตราภาษี (Non-tariff barriers) โดยมีการหารือถึงแนวทางที่ทำให้สหรัฐฯ มั่นใจว่า สินค้าที่ส่งออกจากไทยเป็นสินค้าที่ผลิตในไทยตามเงื่อนไขและลักษณะที่เป็นสากล ไม่มีการสวมสิทธิ์ หรือนำเข้ามาจากประเทศที่สามและนำมาส่งออกต่อไปยังสหรัฐฯ โดยรัฐบาลจะเพิ่มมาตรการเข้มงวดตรวจสอบมาตรฐานที่รัดกุมมากขึ้น ด้วยการเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสในการปรับปรุงมาตรฐานเรื่องถิ่นกำเนิดสินค้าของไทยให้ชัดเจน และลดอุปสรรคทางการค้าอื่น ๆ สำหรับทุกประเทศ ไม่เฉพาะแต่สหรัฐฯ เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นกับสินค้าที่ส่งออกมาจากไทย
นอกจากนี้ ยังมีการพิจารณาถึงการนำเข้าของสินค้าอื่นที่ไม่ใช่เกษตรกรรม แต่จำเป็นต้องนำเข้า เพราะประเทศไทยผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ หรือ สินค้าที่ไทยไม่สามารถผลิตได้ ซึ่งจะมีการพิจารณาอย่างรอบคอบในการประชุมครั้งต่อไป อาทิ ก๊าซธรรมชาติ ปิโตรเคมี เป็นต้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ไทยจำเป็นต้องนำเข้า ถือเป็นโอกาสทางการค้ากับสหรัฐฯ ด้วย ทั้งยังมีสินค้าที่ไทยกำลังจะซื้อจากสหรัฐฯ ในอนาคตอยู่แล้ว แต่อยู่ระหว่างรอการผลิตจากสหรัฐฯ เช่น เครื่องบินโดยสารขนาดกลาง ซึ่งอยู่ในแผนการจัดหาของบริษัทการบินไทย ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งจะมีส่วนสำคัญที่จะช่วยลดการได้ดุลการค้าจากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องแจ้งให้สหรัฐฯ ทราบ ต่อไป
นายพิชัย ยอมรับว่า การเจรจากับสหรัฐครั้งนี้ มีแนวโน้มสำเร็จ และไม่สำเร็จ ต้องขึ้นอยู่กับคู่เจรจาสหรัฐด้วย อย่างไรก็ตาม มีรายละเอียด และเตรียมแผนสำรองทั้งหมดแล้ว
เมื่อถามว่า การเจรจากับสหรัฐต้องการพบกับหน่วยงานใด นายพิชัย บอกว่า ครั้งแรกก็อยากพบผู้แทนการค้าสหรัฐ หรือ คนใกล้ชิดเลย แต่ก็ขึ้นอยู่กับสหรัฐ ซึ่งครั้งแรกที่เจรจาอาจจะเกริ่นทิศทางให้ทราบ แต่หลังจากนั้นอาจจะต้องไปคุยรายละเอียดกับ ทีละขั้นตอน คาดว่าจะเป็นสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (USTR )
สำหรับการการเจรจาสหรัฐ ครั้งนี้ จะเดินทางไปด้วยตนเอง พร้อมด้วยนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ คาดว่า จะเดินทางประมาณกลางเดือนเมษายนนี้ หรือ หลังวันที่ 19 - 21 เมษยน เป็นต้นไป
นายพิชัย ยังตอบถึงข้อกังวลของเกษตรกรที่คัดค้านการนำเข้าหมูจากสหรัฐนั้น ยืนยันว่า ได้ตัดสินใจแล้วว่าขณะนี้ จะยังไม่นำเข้าหมูในตอนนี้