“เจ้าสัวธนินท์” เตือน “ทรัมป์” สหรัฐฯ แพ้เกมยาว อาจหลุดตำแหน่งผู้นำโลก
ประธานอาวุโสซีพีเผยกับสื่อญี่ปุ่น นโยบายประธานาธิบดีทรัมป์อาจทำให้สหรัฐฯ ชนะแค่ระยะสั้น แต่สูญเสียในระยะยาว จนอาจทำให้สหรัฐฯ เสียตำแหน่งผู้นำโลก
นายธนินท์ เจียรวนนท์ อายุ 86 ปี ประธานอาวุโส บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (ซีพี) กลุ่มบริษัทอาหาร-การเกษตรรายใหญ่ของไทย ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวนิกเกอิของญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 9 พ.ค. ที่โตเกียว
โดยเจ้าสัวธนินท์ได้เตือนประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ว่า มาตรการภาษีศุลกากรสูงลิบที่ทรัมป์กำหนดต่อหลายประเทศ อาจทำให้สหรัฐฯ สูญเสียตำแหน่งผู้นำโลก หากประเทศต่าง ๆ ร่วมมือกันถอนการลงทุนในพันธบัตรสหรัฐ เพื่อตอบโต้มาตรการดังกล่าว

เจ้าสัวธนินท์กล่าวว่า สงครามการค้าส่งผลกระทบต่อกลุ่มบริษัทซีพีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพราะใช้กลยุทธ์ผลิตและขายในประเทศ โดยมีการนำเข้าเพียงเครื่องจักรการผลิตประมาณ 80% จากญี่ปุ่น
เจ้าสัวธนินท์กล่าวว่า ทรัมป์ได้นำนโยบาย “อเมริกาต้องมาก่อน” มาใช้โดยไม่สนใจความเป็นพันธมิตรระหว่างประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อกรอบการทำงานระหว่างประเทศในการส่งเสริมการค้าเสรีที่มีสหรัฐฯ เป็นผู้นำ
“เขามีทัศนคติที่ไม่รอบคอบและรุนแรงในการขึ้นภาษีนำเข้า สำหรับเขาแล้ว นี่จะเป็นชัยชนะแค่ในระยะสั้น ในระยะยาว สหรัฐฯ จะต้องสูญเสีย” นายธนินท์กล่าว
แม้ว่าหนี้ของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ จะอยู่ที่มากกว่า 36 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1,200 ล้านล้านบาท) แต่เจ้าสัวธนินท์กล่าวว่า สหรัฐฯ ควรเป็นผู้นำเศรษฐกิจโลกต่อไป เนื่องจากพันธบัตรของสหรัฐฯ ยังคงเป็นเครื่องมือการลงทุนที่ “น่าเชื่อถือที่สุด”
เขากล่าวว่า “หากทรัมป์พลิกกลับเศรษฐกิจโลก สหรัฐฯ จะเจริญรุ่งเรืองได้อย่างไร และใครจะลงทุนในหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ” และเตือนว่า สหรัฐฯ เสี่ยงที่จะสูญเสียความเป็นผู้นำ เนื่องจากประเทศอื่น ๆ อาจรวมกลุ่มเศรษฐกิจเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตน
ญี่ปุ่นถือเป็นหนึ่งในผู้ถือพันธบัตรสหรัฐฯ รายใหญ่ที่สุด ซึ่งนายธนินท์แนะนำว่า ญี่ปุ่นอาจใช้เป็น “ทางเลือกสุดท้าย” ในการเจรจากับสหรัฐฯ “ญี่ปุ่นสามารถบอกกับสหรัฐฯ ได้ว่า หากเศรษฐกิจของประเทศได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า ก็จะไม่สามารถซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ได้อีกต่อไป และอาจต้องลดการถือครองพันธบัตร”
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการคาดเดาของตลาด แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของญี่ปุ่นได้ชี้แจงเมื่อไม่นานนี้ว่า ไม่มีเจตนาที่จะใช้พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ถือครองอยู่ในการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ
ขณะที่ประเทศไทยเองเผชิญกับภาษีศุลกากรตอบโต้ของทรัมป์ที่อัตรา 36% แต่กลุ่มซีพีได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อย โดยรายได้ของเจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) ในปี 2024 ถึงมาจากการดำเนินงานในต่างประเทศถึง 63% โดยมีเวียดนามและจีนเป็นตลาดหลัก “ผลิตภัณฑ์ของเราหลัก ๆ เป็นอาหาร และเราขายในประเทศที่เราผลิตสินค้า”
แม้ว่าสงครามการค้าของทรัมป์จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก แต่ก็เป็นโอกาสสำหรับประเทศต่าง ๆ เช่น ญี่ปุ่น ในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจในภูมิภาค
เจ้าสัวธนินท์กล่าวว่า ญี่ปุ่นควรมอง 10 ประเทศในอาเซียนเป็น “ตลาด” โดยสนับสนุนให้บริษัทญี่ปุ่นสนับสนุนธุรกิจขนาดเล็กในภูมิภาค ซึ่งยังคงมีการเติบโตทางเศรษฐกิจและประชากร
เจ้าสัวบอกว่า แม้ญี่ปุ่นจะมีความสามารถทางเทคโนโลยี แต่มีข้อเสียคือ “เป็นประเทศอนุรักษ์นิยมที่ไม่เต็มใจที่จะขยายตัวไปทั่วโลก ญี่ปุ่นตัดสินใจช้าเกินไป ไม่เต็มใจที่จะเสี่ยง และลังเลที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง การลงทุนใหม่ใดๆ ก็ตามย่อมมีความเสี่ยง”
ในทางกลับกัน เจ้าสัวธนินท์กล่าวว่า เขาสนับสนุนสตาร์ทอัปที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรในญี่ปุ่นและกำลังสำรวจความร่วมมือที่เป็นไปได้
เรียบเรียงจาก Nikkei Asia