สงครามการค้า ฉุด! ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ปรับตัวลดลง ต่อเนื่อง 3 เดือน
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เม.ย.68 ปรับตัวลดลง ! ต่อเนื่อง 3 เดือน มาอยู่ที่ระดับ 55.4 หลังผู้บริโภคกังวลสงครามการค้า จับตา ! 4 ปัจจัยเสี่ยง กระทบเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้า
รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (CCI) ประจำเดือนเมษายน ปี 2568 ปรับตัวลดลงเป็นระดับ 55.4 จากระดับ 56.7 ในเดือน มี.ค.68 ซึ่งดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงทุกรายการต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และอยู่ในระดับที่ต่ำสุดในรอบ 7 เดือน

เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าจากนโยบาย Trump 2.0 ส่งผลให้ตลาดหลักทรัพย์ของไทยและทั่วโลกปรับตัวลดลง แม้ว่ารัฐบาลจะออกมาตราการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในช่วงไตรสมาสแรกของปีนี้ แต่ผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวได้ช้า
พร้อมตั้งข้อสังเกต ปัจจัยหลักที่ทำให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับลดลง มาจาก 1. ปัญหาสงครามการค้า 2. ราคาพืชผลทางการเกษตรปรับลดลง เช่น ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา และอ้อย 3. ความไม่แน่นอนทางการเมืองไทย
สิ่งที่เห็น คือ สงครามการค้าที่สหรัฐฯ เริ่มตั้งแต่ประเทศเม็กซิโก แคนาดา และประเทศต่างๆ เป็นสาเหตุสำคัญที่ตั้งประเด็นว่า ความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ตกลงมา มาจากสงครามการค้า โดยความเชื่อมั่นฯ ปรับลดลงมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ระดับ 49.3 53.0 และ 63.9 ตามลำดับ ปรับตัวลดลงทุกรายการ เพราะมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในประเทศ และค่าครองชีพที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ตลอดจนปัญหาเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะชะลอตัวลงจากสงครามการค้าที่กำลังเกิดขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยและการจ้างงานมีโอกาสฟื้นตัวได้ช้าในอนาคต ซึ่งจะทำให้รายได้ในอนาคตของผู้บริโภคมีความไม่แน่นอนสูง
ขณะที่ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบัน ปรับตัวลดลงจากระดับ 40.8 เป็น 39.8 ขณะที่ ดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตปรับตัวลดลงจากระดับ 64.4 มาอยู่ที่ระดับ 62.9
โดยมองว่า ความเชื่อมั่นในอนาคตที่เรามอง ไม่ได้มองในช่วงที่ขาขึ้นเร็ว เพราะสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ยังไม่เห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม จากเดิมที่เคยจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจกลุ่มวัยรุ่นอายุ 16 - 20 ปี เบื้องต้นถูกยกเลิก และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ คิดว่ารัฐบาลจะหยิบเม็ดเงิน 200,000 -500,000 ล้านบาท มากระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง แต่มีเงื่อนไขว่ารัฐบาลจะดำรงอยู่หรือไม่ หากมีการยุบสภาเกิดขึ้น ก็จะทำให้สถานการณ์งบประมาณแผ่นดินจะดีเลย์ไป อย่างน้อย 3-6 เดือน และเป็นสถานการณ์ที่น่ากังวล
นอกจากนี้ ดัชนีความคิดเห็นสถานการณ์ทางการเมือง พบว่า ปรับตัวลดลง มาอยู่ที่ระดับ 57.2 จากระดับ 60.8 ในเดือนมีนาคม 68
หลังจากเห็นข่าวการปรับ ครม. มีศึกของสีน้ำเงินและสีแดง และมีสถานการณ์ของชั้น 14 ขึ้นมา จึงทำให้สถานการณ์ความเชื่อมั่นทางการเมืองของไทยอยู่ในระดับต่ำในรอบ 7 เดือน
ส่วนการเจรจาการค้าระหว่างไทย-สหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลรักษาการ หรือ รัฐบาลตัวจริง เชื่อว่า จะมีผลในการเจรจาการค้า จึงคิดว่าทางการเมืองน่าจะหาทางออกที่ไม่ได้ทำให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม มองว่า ปัญหาทางการเมือง เป็นปัจจัยเสี่ยง
ทั้งนี้ การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมยังคงเคลื่อนไหวคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 100 แสดงให้เห็นว่า ผู้บริโภคยังคงเห็นว่า สถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังคงฟื้นตัวช้า และค่าครองชีพสูง ตลอดจนปัญหาสงครามการค้าที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นยังคงมีโอกาสบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตได้อย่างต่อเนื่องในระยะอันใกล้นี้
รศ.ดร.ธนวรรธน์ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้การเจรจาการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ มีแนวโน้มที่ดี และมีการปรับลดภาษีลง และสหรัฐฯ จะเป็นพันธมิตรกับนานาชาติมากขึ้น ดังนั้น จึงทำให้สถานการณ์ดูคลี่คลายลง
อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นที่ต้องจับตามอง คือ 1. รัฐบาลยังไม่ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมาให้เห็น 2. สถานการณ์ทางการเมืองที่ยังมีความเสี่ยง 3. ราคาพืชผลทางการเกษตรปรับลดลง 4. ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ยังไม่ได้รับการแก้ไข
ภาพของเศรษฐกิจที่ซึม ยังไม่ได้ถูกเยียวยาแก้ไขอย่างชัดเจน แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงแล้ว 2 ครั้ง ก็ต้องมาดูว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้นหรือไม่ แบงก์ จะปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้นหรือไม่ เพราะฉะนั้น ภาคกำลังซื้อ ก็น่าจะนิ่งๆ แบบนี้และความเชื่อมั่นฯ ยังเป็นทิศทางขาลงต่อเนื่อง
ดังนั้น มองว่า เศรษฐกิจไทยในปี 68 จะยังขยายตัวอยู่ในกรอบ 1.8 - 2.2% ค่ากลางอยู่ที่ 2% แต่จะมีการปรับประมาณการตัวเลขอีกครั้งในเดือนหน้า (มิ.ย 68) พร้อมอยากให้รัฐบาลเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงครึ่งปีหลังโดยเร็ว เพื่อทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงปลายปีนี้
นอกจากนี้ หอการค้าไทย ยังสนับสนุนการที่รัฐบาลไม่นำนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตมาใช้ และหันไปใช้นโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจแทน ผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และทำให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่