งานเข้า บ.รถไฟฟ้าชื่อดัง! ผู้ใช้รวมตัวร้องสภาผู้บริโภค เหตุไม่ได้ป้ายขาว – อะไหล่ขาด – ศูนย์ปิด
งานเข้า! บ.รถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์ดัง ผู้ใช้รวมตัวร้องเรียนต่อ สภาผู้บริโภค ยื่นหนังสือร้องเรียน-เร่งตรวจสอบ อาจเข้าข่ายหลอกลวง หวั่น! เทขายและปิดบริษัทหนี
วันนี้ (9 มิ.ย. 68) กลุ่มตัวแทนผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์ดัง กว่า 20 ราย ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อสภาองค์กรของผู้บริโภค เพื่อยื่นหนังสือขอร้องเรียนเกี่ยวกับบริการหลังการขายของบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์หนึ่ง หลังจากพบว่า การให้บริการหลังการขายของบริษัทไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค และมีการโฆษณาที่เกินจริง
โดยนายจักรชัย เงาศรี หนึ่งในตัวแทนผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์ดังกล่าวที่ประสบปัญหา กล่าวว่า ตนเองเป็นผู้รวบรวมผู้เสียหายเข้ามายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ สภาองค์กรของผู้บริโภค

เนื่องจากมีลูกค้าของบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าดังกล่าวกว่า 800 ราย พบปัญหาเกี่ยวกับการให้บริการหลังการขาย ในด้านการให้บริการของอะไหล่ การจดทะเบียนรถยนต์ คุณภาพของตัวรถยนต์และส่วนควบ รวมไปถึงอุปกรณ์เสริมจำเป็นที่ควรได้รับจากการโฆษณาการขาย เช่น มีการโฆษณาจากบริษัท ว่าจะแถมเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแต่กลับไม่แถม เป็นต้น
ทำให้กลุ่มผู้ใช้งานได้รับผลกระทบจากการให้บริการของบริษัทเป็นระยะเวลานานหลายเดือน ซึ่งบางรายต้องได้รับผลกระทบนานเกือบ 1 ปี โดยไม่มีกรอบระยะเวลากำหนดของการให้บริการที่แน่นอน อีกทั้งศูนย์บริการของรถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์ดังกล่าวได้ทยอยปิดตัวลงทำให้เกิดความเสียหายต่อผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมาก
ซึ่งที่ผ่านมากลุ่มผู้ใช้รถที่ประสบปัญหาได้มีการร้องเรียนมาโดยตลอด แต่ไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาจากทางบริษัทแต่อย่างใด และยังไม่สามารถให้คำตอบที่ชัดเจนได้เกี่ยวกับระยะเวลาในการแก้ไขปัญหา ทำให้ตัวแทนกลุ่มผู้ใช้บริการเกิดความไม่มั่นใจว่าทางบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าจะรับผิดชอบต่อปัญหาที่เกิดขึ้นได้หรือไม่ จึงได้ดำเนินการร้องเรียนมายังสภาองค์กรของผู้บริโภค เพื่อให้ช่วยผลักดันการแก้ไขปัญหารวมไปถึงหาแนวทางการช่วยเหลือกลุ่มผู้ใช้งานรถยนต์ไฟฟ้ายี่ห้อดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม และช่วยจัดเวทีกลางเพื่อเจรจาเรียกร้องข้อตกลง ระหว่างกลุ่มผู้ใช้งานที่ประสบปัญหาและบริษัทรถยนต์ยนต์ไฟฟ้า
สำหรับข้อเรียกร้อง ของกลุ่มผู้ใช้รถที่ได้ยื่นหนังสือต่อสภาองค์กรของผู้ เพื่อให้บริษัทรถยนต์ไฟฟ้าแก้ไขปัญหา ได้แก่
-อยากให้เร่งแก้ไขปัญหาการบริการหลังการขาย การรออะไหล่อย่างไม่มีกำหนด ทั้งในส่วนของ Body Part และระบบขับเคลื่อนของตัวรถให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือนนับจากนี้
-เร่งแก้ไขปัญหาการจดทะเบียนป้ายขาวของตัวรถให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน
-เร่งรัดในส่วนการบริการเสริมที่ได้สัญญาไว้ เช่นติดตั้งเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (Wall Charger EV) ตามที่สัญญาไว้กับลูกค้าภายในเดือนมิถุนายน
-กำหนดมาตราการเยียวยาผู้เสียหายที่ได้รับผลกระทบจากการรออะไหล่ และในส่วนที่ไม่ได้รับการจด ทะเบียนตัวรถ
-ศูนย์บริการ/ตัวแทนจำหน่ายหลายรายได้ปิดตัวลงโดยเฉพาะในต่างจังหวัดทำให้ผู้บริโภคได้รับความ เดือดร้อนในเรื่องของการเข้ารับบริการ บริษัทจะต้องดำเนินการหา Partner เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับ ผู้บริโภคในจังหวัดนั้น ๆ ทดแทน
-ขอให้บริษัททำสัญญารับประกันการเคลมอะไหล่ทุกชิ้นภายในระยะเวลาไม่เกิน 1 เดือน
-หากบริษัทไม่สามารถดำเนินกิจการต่อในประเทศไทยได้ ถือว่าผิดสัญญาการรับประกัน บริษัท จะต้องรับคืนรถยนต์ไฟฟ้ายี่ห้อดังกล่าวทุกคันจากผู้บริโภคพร้อมทั้งชดเชยค่าเสียหายให้แก่ผู้บริโภคในทุกกรณี อันเนื่องมาจากเหตุรับคืนรถ
-ขอให้สภาองค์ของผู้บริโภค ตรวจสอบทางบริษัทรถยนต์ไฟฟ้ายี่ห้อดังกล่าวว่ามีเจตนาปิดบังอำพราง ข้อมูลซึ้งอาจทำให้ผู้บริโภคเข้าใจยังดำเนินกิจการอยู่หรือไม่ หากพบว่าข่ายเป็นการนำข้อมูลอันเป็นเท็จให้แก่ ประชาชนได้รับรู้ได้ทั่วไป และอาจเข้าข่ายหลอกลวงหรือไม่

ด้านนายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสำนักงานฯ รักษาการแทนเลขาธิการ สำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า แนวทางที่ทางสภาผู้บริโภค จะเร่งดำเนินการได้ในขณะนี้นั้น ในขั้นแรก ภายในสัปดาห์นี้จะมีการเชิญบริษัทผู้ประกอบธุรกิจของรถยนต์ไฟฟ้าดังกล่าว เข้ามาประชุมร่วมกันเพื่อกำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาช่วยเหลือผู้บริโภค ซึ่งทางสภาผู้บริดภค ก็อยากรับฟังแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจนของบริษัทรถยนต์ยนต์ไฟฟ้าแห่งดังกล่าวเช่นเดียวกัน ว่าจะมีทิศทางอย่างไร ใน 2 ปัญหาที่เกี่ยวข้อง คือ
เรื่องของบริการหลังการขาย การดูแลเรื่องอะไหล่ว่าจะมีความชัดเจนอย่างไร รวมไปถึงเรื่องของการรับป้ายทะเบียนรถที่มีการเข้าซื้อรถยนต์ล่าช้า แต่ว่าไม่ได้รับป้ายทะเบียนขาวเกิดจากสาเหตุอะไร
ส่วนที่สองถ้าหากทางสภาผู้บริโภค พบว่าไม่มีการตอบรับจากบริษัทที่เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน ในส่วนของสภาผู้บริโภค ก็จะนำเรื่องเสนอต่ออนุกรรมการพิจารณาคดีของสภาของผู้บริโภค เพื่อดำเนินการในการฟ้องคดีต่อไป รวมไปถึงจะมีการส่งหนังสือไปยังบริษัทแม่ที่ประเทศจีนอีกด้วย เพื่อขอให้มีการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจนเพื่อให้เกิดความรับผิดชอบและความเป็นธรรมต่อผู้บริโภคในไทยให้มากขึ้น ซึ่งเป็นแนวทางหลักๆในการดำเนินการภายในสัปดาห์นี้
นายอิฐบูรณ์ กล่าวว่า สำหรับปัญหาดังกล่าว อยากให้ทางกระทรวงหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาด้วย เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงพลังงาน เพื่อเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดหามาตรการหรือการออกข้อกฎหมายที่เข้มงวดขึ้น กับผู้ประกอบการต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนหรือประกอบธุรกิจในประเทศไทย เพื่อเป็นการลดความเสียหายให้กับประชาชนคนไทยในอนาคตและไม่ให้ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นซ้ำอีก
อย่างไรก็ตาม นายอิฐบูรณ์ ระบุว่า ขณะนี้ มีผู้ร้องเรียนที่ส่งเรื่องเข้ามาร้องเรียนในระบบของสภาผู้บริโภคเพียง 69 ราย แต่จากการให้ข้อมูลของกลุ่มผู้ใช้ที่ประสบปัญหาได้แจ้งมาว่ามีผู้เสียหายมากกว่า 800 ราย ดังนั้นในตัวแทนของสภาองค์กรของผู้บริโภคอยากขอให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายในกรณีดังกล่าว แจ้งเรื่องเข้ามาร้องเรียนได้ทางเว็บไซต์ของสภาองค์กรของผู้บริโภคหรือสายด่วน 1502 เพื่อประโยชน์ของตัวผู้บริโภคเองและ และเพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุด ต่อไป